ดอก
 
ผลดิบ
    ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Dellenia  indica  L.
    ชื่อวงศ์ :  DELLENIACEAE
    ชื่อสามัญ: -
   

ชื่อไทย :มะตาด

    ชื่ออื่น : ส้านป้าว    ส้มปรุ   ส้านกวาง   ส้านท่า   แอปเปิ้ลมอญ 
แส้น
   

นิเวศวิทยา     ถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย     พม่า     คาบสมุทรมลายู  ไทย  ลาว  และอินโดจีน ประเทศไทยพบได้ทั่วไปในป่าดิบชื้น  ป่าพรุ  และริมแม่น้ำลำธาร


   
   
  การขยายพันธุ์       เมล็ด   กิ่งตอน    
     
 

ลักษณะทั่วไป     เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่  สูง  10 - 20 เมตร  ไม่ผลัดใบ  เรือนยอดทรงพุ่มกลมหรือรูปไข่   ทรงพุ่มทึบ  ทนความแห้งแล้งและน้ำท่วมได้ดีมาก   ลำต้นมักไม่ตั้งตรง  คดงอ  การแตกกิ่งก้านของลำต้นจะไม่สูงจากพื้นดินมากนัก   การแตกกิ่งย่อยเกิดที่ส่วนปลายของกิ่งหลัก  ลำต้นมักปรากฏปุ่มปม  ซึ่งเกิดจากร่องรอยของกิ่งแก่ที่หลุดร่วงอยู่ทั่วไป 

   
     
 

เปลือก   สีทองแดงหรือน้ำตาลอมแดง   เปลือกหนา  เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเทา   และลอกหลุดล่อนออกเป็นแผ่นบางๆ

   
         
 

ใบ      ใบเดี่ยวเรียงสลับถี่ออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง  ใบรูปใบหอกหรือรูปไข่กลับ  กว้าง 8 - 12  เซนติเมตร   ยาว 25 - 30  เซนติเมตร  ใบหนาแผ่นใบเป็นคลื่นลอนตามเส้นแขนง ใบที่แยกขนานออกจากเส้นกลางใบไปขอบใบ  ขอบใบหยักและฟันเลื่อย  มีหนามเล็ก ๆ ปลายสุดของเส้นแขนงตรงขอบใบ  ปลายใบแหลมเป็นติ่งสั้น ๆ โคนใบเรียวสอบแคบและมน  ท้องใบปรากฏเส้นแขนงใบเป็นสันชัดเจนและมีขนประปราย  ก้านใบยาว 4 - 5 เซนติเมตร  เป็นร่อง  โคนก้านใบแบน  เป็นกาบห่อหุ้มกิ่ง

   
       
 

ดอก    ขาวนวล  มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ออกตามง่ามใบและกิ่งบริเวณใกล้ปลาย  กิ่งก้านดอกยาว 3 - 5 เซนติเมตร  มีขนสากมือ กลีบเลี้ยงเป็นแผ่นโค้งคล้ายช้อน 5  กลีบ สีเขียวเป็นแผ่นหนาและแข็ง  กลีบดอกสีขาวนวล  5   กลีบรูปไข่กลับบาง  กว้าง  15 - 18  เซนติเมตร  ร่วงง่ายเมื่อบาน มีเกสรเพศผู้สีเหลืองจำนวนมากล้อมรอบเกสรเพศเมีย  ซึ่งมียอดเกสรสีขาว  ยอดเกสรเพศเมียแยกออกเป็นแฉก  ดอกตูมในระยะแรกจะมีลักษณะคล้ายผลมะตาด  เมื่อขนาดเท่าผลมะนาวจะบานออก เมื่อดอกบานและได้รับการผสมแล้ว กลีบเลี้ยงจะเริ่มห่อหุ้มเข้ามาใหม่เป็นผลกลม เกาะอัดแน่นและเจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นผลมะตาด

 
       
 

ผล     เป็นผลเดี่ยวสด แบบมีเนื้อ   ลักษณะผลกลมอวบเป็นกาบที่เกิดจากกลีบเลี้ยงอัดกันแน่นและแข็ง  กว้าง 10 - 15 เซนติเมตร  ผลอ่อนสีเขียวอ่อน  เมื่อแก่สีเขียวอมเหลืองเข้ม  มีกลิ่นเฉพาะตัว  มีเมือกเหนียว  รสเปรี้ยวอมฝาด

 

 
       
 

 

เมล็ด    สีน้ำตาล  กว้าง   0.5 - 0.8  เซนติเมตร   มีเมือกห่อหุ้ม  เมื่อแก่จัดสีน้ำตาลเข้มจนเกือบดำ  ในหนึ่งผลจะมีเมล็ดจำนวนมาก

 

 
     
     
 

ประโยชน์                         
- รากใช้เป็นยาถอนพิษแมลงกัดต่อย 
- เปลือกและใบมีรสฝาดเป็นยาสมาน 
- ผลมีเมือกเหนียวเหมือนวุ้น   ช่วยเคลือบแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้  ช่วยในการขับถ่าย  และเป็นยาระบายอ่อน ๆ ผลมะตาดมีสาร “ฟินอลิก”  และ  “ฟลาโวนอยด์”  มีฤทธิ์ในการต่อต้านอนุมูลอิสระ  - เนื้อไม้นำมาทำเครื่องมือการเกษตร  เครื่องเรือน  ทำพานท้ายปืน  และทำฟืน              
             ในตำรายาโบราณกล่าวไว้ว่า  มะตาดช่วยต้านอาการลมชัก   ลดระดับน้ำตาลในเลือด  เป็นยาระบายแก้อาการปวดท้อง  แก้ไอ  ขับเสมหะ  และถอนพิษไข้   ปัจจุบันมีผู้คิดค้นดัดแปลง แปรรูป ผลมะตาดทำผลิตภัณฑ์สระผม             มะตาดเป็นผลไม้ที่ชาวมอญนิยมนำมาประกอบอาหารรับประทานประจำวันมาตั้งแต่โบราณ  โดยเฉพาะ แกงส้มมะตาด และอาหารอื่น ๆ  คนโบราณนิยมนำมาปลูกไว้ในสวนบริเวณบ้าน  เพื่อให้ร่มเงาและความร่มรื่น   แต่ควรปลูกในพื้นที่กลางแจ้งและมีเนื้อที่มากพอสมควร  ไม่ควรปลูกใกล้ชิดบริเวณบ้านเกินไป เพราะเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่กิ่งก้านสาขาแผ่ไปกว้างไกล

    

   
         
  บริเวณที่ปลูก     สวนมิตรสัมพันธ์    
     
 

 

   
 
 

เรียบเรียงและถ่ายภาพ โดย รศ.ชนะ วันหนุน