ดอก
 
ผล
    ชื่อวิทยาศาสตร์ :Garcinia  dulcis duleis  ( Roxb ) Kurz
    ชื่อวงศ์ :GUTTIFERAE
    ชื่อสามัญ: Garcinia
   

ชื่อไทย : มะพูด

    ชื่ออื่น :มะหูด   จำพูด  มะนู  ตะพูด  พะวา  ส้มปอง  ปะหูด
   

นิเวศวิทยา    ถิ่นกำเนิดเอเชียเขตร้อน   ในประเทศไทยพบได้ทั่วไปในป่าดิบชื้น  และพื้นที่ริมน้ำในป่าเบญจพรรณ   พบมากทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ


   
   
 

 

การขยายพันธุ์: ้เมล็ด  
 

ลักษณะทั่วไป      เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางสูง 7 - 10  เมตร  ไม่ผลัดใบ  เรือนยอดทรงกลมหรือรูปไข่  ทรงพุ่มแน่นทึบ  ลำต้นตรงมีร่องรอยแผลเป็น  เป็นปุ่มปมตะปุ่มตะป่ำ  ที่เกิดขึ้นจากกิ่งก้านหลุดร่วงอยู่ทั่วไป  กิ่งก้านจะแตกออกจากลำต้นค่อนข้างถี่  
 

เปลือก   สีน้ำตาลปนเขียว เรียบ แตกเป็นร่องตื้นๆ ตามความยาวของลำต้น ถ้าเปลือกเป็นแผลจะมีน้ำยางเหนียวสีเหลืองไหลซึมออกมา

 
ใบ    ใบเดี่ยวออกเรียงตรงกันข้าม  ใบรูปหอกหรือแกมขอบขนาน  โคนใบกว้างและค่อย ๆ สอบเรียวเล็กไปที่ปลายใบ   โคนใบตัดตรงค่อยเว้าเข้าหากก้านใบคล้ายรูปหัวใจ  เนื้อใบหนา  คล้ายแผ่นหนังสีเขียวเข้ม  หลังใบเกลี้ยงเป็นมัน  แผ่นใบมักจะบิดเป็นคลื่นเล็กน้อย     ขอบใบเรียบ  ก้านใบย่นขรุขระยาว 1.5 - 2  เซนติเมตร     มีขนบาง  ๆ  ปกคลุม  ใบกว้าง  6 - 9 เซนติเมตร  ยาว 25 - 30 เซนติเมตร
 
 
ดอก    ดอกสีขาวนวลอมเหลือง   ดอกเป็นดอกแยกเพศแต่อยู่ในต้นเดียวกันออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกตามซอกใบและกิ่งก้าน  กลีบเลี้ยงสีเขียวติดกัน  4  กลีบ  กลีบดอกสีขาวนวลหรือเหลืองอ่อน 4 กลีบ  เมื่อบานเต็มที่จะกว้าง 1 - 1.5  เซนติเมตร   บานเป็นรูปถ้วยหรือโถ
 
 

ผล   ผลมีลักษณะกลมหรือรูปไข่เป็นผลแบบมีเนื้อ ผลอ่อนสีเขียวเมื่อสุกสีเหลืองอมส้ม   ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง  5 - 6  เซนติเมตร  ผิวเรียบ  เนื้อในสีเหลืองรสเปรี้ยวอมหวาน

 
 

เมล็ด      เมล็ดรูปรีแข็งสีน้ำตาล  มี 2 - 4  เมล็ดใน  1  ผล

 
  ประโยชน์ : 
           
- รากแก้ไข้  แก้ร้อนใน  ถอนพิษผิดสำแดง  เปลือกมีรสฝาดใช้ชำระบาดแผล
           - ผลรับประทานเป็นผลไม้     น้ำคั้นจากผล  ซึ่งมีรสเปรี้ยวอมหวานแก้ไอ   ขับเสมหะ  แก้เจ็บคอและเลือดออกตามไรฟัน 
           - ผลดิบแกงส้มกับกุ้งสดจะให้รสเปรี้ยวแทนมะนาวได้  ปัจจุบันได้มีผู้นำมาไปแปรรูปเป็นน้ำผลไม้จำหน่าย 
           - ใบและเปลือกของต้นนิยมนำมาใช้ย้อมสีเส้นไหม   จะให้สีเหลืองคล้ายสีเหลืองดอกบวบ
 


 
  มะพูด : เป็นไม้ยืนต้นที่มีทรงพุ่มสวยให้ร่มเงาได้ดี  และผลของมะพูดก็นำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ได้  แม้แต่ชื่อมะพูดก็จัดเป็นไม้มงคล ของคนโบราณ ซึ่งเชื่อว่าเมื่อปลูกมะพูดไว้ในบริเวณบ้านจะช่วยส่งเสริมให้ลูกหลานเป็นคนช่างพูดช่างจาในสิ่งที่ดีงาม  จึงนิยมปลูกไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของบ้าน  
   
  บริเวณที่ปลูก       สวนมิตรสัมพันธ์  

 

 
 

เรียบเรียงและถ่ายภาพ โดย รศ.ชนะ วันหนุน