Photo Gallery กันเกรา
     
   
ดอก
 
ผลดิบ
    ชื่อวิทยาศาสตร์ :Fagraea   fragrans  Roxb.
    ชื่อวงศ์ : LOGANIACEAE - POTALIACEAE
    ชื่อสามัญ:Anan
   

ชื่อไทย : กันเกรา

    ชื่ออื่น :มันปลา   ทำเสา    ตำเสา    ตะมะซู  ตาเตรา
   

นิเวศวิทยา  
           ถิ่นกำเนิดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้    ในประเทศไทยพบ ได้ทั่วไป ตามป่าเบญจพรรณชื้นและตามพื้นที่ชื้นแฉะ  ที่ราบลุ่มใกล้น้ำ  แต่พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้

   
   
การขยายพันธุ์       เมล็ด  
 
ลักษณะทั่วไป     เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่  สูง 15 - 25  เมตร  ไม่ผลัดใบ  เรือนยอดรูปทรงกลมหรือรูปไข่หรือรูปสามเหลี่ยม   ทรงพุ่มแน่นทึบ  ใบดกทึบหนาสีเขียวเป็นมัน   เนื้อไม้ละเอียด  เสี้ยนตรง  เหนียว  แข็งมาก  ทนทาน  ทนปลวก  ตกแต่งง่ายชักเงาได้ดี   แต่เป็นไม้ต้นที่เจริญเติบโตค่อนข้างช้า
   
เปลือก สีน้ำตาลเข้มจนเกือบดำ  แตกเป็นร่องลึกไม่เป็นระเบียบ  ที่ผิวเปลือกมีตุ่มเม็ดเล็ก ๆ เป็นกระจุก  กระจายอยู่ทั่วไป
   
ใบ        ใบเดี่ยว  ออกตรงกันข้าม  และออกที่บริเวณปลายกิ่งก้าน  ใบรูป รีแกม ขอบขนานกว้าง  3 - 4  เซนติเมตร    ยาว 8 - 10  เซนติเมตร  ปลายใบเรียวแหลม   โคนใบมนแหลม  ขอบใบเรียบ  แผ่นใบสีเขียวเข้มเป็นมัน เรียบและหนา  
   

ดอก   สีขาวนวล  และเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเมื่อใกล้จะร่วง   กลิ่นหอมแรง  ออกเป็นช่อ  แบบช่อกระจุกหนาตามซอกใบใกล้ปลายกิ่งและปลายกิ่ง  กลีบเลี้ยง  และกลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวยหรือรูปแจกันทรงสูง  ปลายกลีบแยกออกเป็น 5 แฉก  เมื่อบานเต็มที่กว้าง 1.5 – 2.0 เซนติเมตร มีเกสรเพศผู้ 5 อัน

   

ผล    สดมีเนื้อ  ขนาดเล็กรูปร่างกลม 0.4 - 0.5  เซนติเมตร  ปลายผลมีติ่งแหลมสั้น ๆ ผลอ่อนสีเขียวอมน้ำตาลหรือส้ม  ผลแก่สีแดง  รสขม

   
เมล็ด     เมล็ดมีขนาดเล็กมาก  สีน้ำตาลเข้มหรือดำ  หนึ่งผลมีหลายเมล็ด
     
     
 

ประโยชน์      

            เนื้อไม้สีเหลืองอ่อน  เสี้ยนตรงเนื้อละเอียดและทนทาน  มีความทนทานตามธรรมชาติได้ถึง 
7 - 11  ปี   จึงนิยมนำไม้มาใช้ทำเสาเรือน  เสาสะพาน  กระดานพื้น  ประตู  หน้าต่าง  กระดูกงูเรือ   เสากระโดง   หมอนรางรถไฟ  ไม้ค้างพริกไทย    โลงจำปา    และเครื่องมือการเกษตรต่าง ๆ  เปลือกบำรุงโลหิต  แก้ผิวหนังพุพอง  แก่นเป็นยาอายุวัฒนะ  แก้ไข้จับสั่น   ริดสีดวงทวาร  บำรุงม้าม  และขับลม
             กันเกราเป็นไม้ต้น 1 ใน 9  ของไม้มงคลไทย   ที่มีความหมายถึงช่วยป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆ 
หรืออีกชื่อหนึ่งที่ทางภาคใต้  เรียกว่า  ทำเสา  หมายถึง ไม้ที่นำมาประกอบทำเป็นเสาเรือน ให้มี ความมั่นคงแข็งแรง   นิยมใช้ประกอบไม้มงคลอื่น ๆ เช่น  ราชพฤกษ์  ขนุน  ชัยพฤกษ์  ทองหลาง 
ไผ่สีสุก  ทรงบาดาล  ไม้สัก  ไม้พะยูง  ในการวางศิลาฤกษ์งานต่าง ๆ   เป็นไม้ต้นที่ให้ร่มเงาได้ดีมาก  รูปทรงสวยงามทนต่อสภาพความแห้งแล้งและน้ำท่วมขัง เวลาออกดอกมักจะออกตามปลายกิ่งก้าน
และเป็นช่อ  สีขาวนวล  คล้ายดอกอโสกมีกลิ่นหอมตลอดวัน เหมาะที่จะนำมาปลูก เป็นไม้ประดับ
ตามริมถนนหรือพื้นที่สวนสาธารณะต่าง ๆ


     

   
       
  บริเวณที่ปลูก     สวนมิตรสัมพันธ์    
     
 

กันเกรา เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดนครพนม

 

   
 
 

เรียบเรียงและถ่ายภาพ โดย รศ.ชนะ วันหนุน