แนวความคิดในการจัดการเรียนการสอนวิชาเกษตรในระดับประถมศึกษา

รศ.ชนะ วันหนุน

บทบาทและความสำคัญของวิชาเกษตรในโรงเรียน


นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นปีที่ได้เริ่มต้นจัดทำแผนการศึกษาของชาติ พบว่า ได้มีการบรรจุวิชาเกษตรไว้ในหลักสูตรการศึกษาแล้ว และต่อมาได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขอยู่ตลอดเวลา ตามสภาวะทางเศรษฐกิจสังคมและการเมืองแต่ละยุคสมัยที่ได้ให้ความสำคัญของวิชาเกษตรแตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสนใจและความคิดเห็นของผู้ที่มีบทบาทและอำนวจในการจัดวางแผนการศึกษาของชาติในสมัยนั้น ๆ เช่น ในสมัยเริ่มแรกของการจัดวางแผนการศึกษาในรัชกาลที่ 5 ในขณะนั้นเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเป็นบุคคลที่มีบทบาทและความสำคัญในการวางแผนการจัดการศึกษา ท่านได้ริเริ่มนำวิชาเกษตรมาบรรจุไว้ในหลักสูตร เนื่องจากท่านได้มองเห็นความสำคัญของอาชีพการเกษตร โดยเฉพาะท่านคิดว่าประเทศไทยมีสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศเหมาะสมแก่การเกษตร ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพการเกษตร สินค้าออกที่สำคัญก็คือสินค้าทางเกษตร และอาชีพการเกษตรในสมัยนั้นทำให้บ้านเมืองมีอาหารอุดมสมบูรณ์ ประชาชนอยู่ดีกินดีมีสุขภาพอนามัยสมบูรณ์ ทุกคนมีความสุข และมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ ทำให้อาชีพใหม่ ๆ เกิดขึ้น เช่น การธุรกิจค้าขายและอื่น ๆ ท่านคิดว่าถ้าหากไม่บรรจุวิชาเกษตรไว้ในหลักสูตรแล้ว อาจจะทำให้เยาวชนลืมความรู้เกี่ยวกับการเกษตร อาจจะเลิกประกอบอาชีพเกษตรกรรมเสียหมด โดยเฉพาะนักเรียนทางนายสามัญ จึงได้บรรจุวิชาการเกษตรสอดแทรกเข้าไปในหลักสูตร โดยให้นักเรียนและฝึกปฏิบัติอย่างง่าย ๆ ให้นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างน้อย นอกจากนั้นท่านยังได้ส่งเสริมให้ครูผู้สอนได้มีโอกาสศึกษาวิชาเกษตรอย่างจริงจัง และถูกต้องเพื่อนำมาสอนนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้เกิดโรงเรียนฝึกหัดครูเกษตรขึ้น

ต่อมาเมื่อหมดสมัยเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี บุคคลอื่นมีบทบาทขึ้นมาบริหารการศึกษาแทนมีการเปลี่ยนแปลงแผนการศึกษาของชาติ หลายครั้งหลายฉบับ ทำให้วิชาเกษตรได้รับการเปลี่ยนแปลงไปด้วยเป็นอย่างมาก ซึ่งมีทั้งการส่งเสริมการศึกษาทางเกษตร และไม่ส่งเสริมการศึกษาทางเกษตร ยกตัวอย่างแผนการศึกษาของชาติฉบับปัจจุบัน (พุทธศักราช 2520) ได้เน้นและให้ความสำคัญของวิชาเกษตรไว้ค่อนข้างมาก ซึ่งจะเห็นได้จากหลักสูตรในระดับต่าง ๆ ได้จัดวิชาเกษตรไว้ในกลุ่มวิชาการงานพื้นฐานอาชีพ มีการกำหนดรายวิชาจำนวนคาบหรือชั่วโมงที่ต้องเรียนและระเบียบข้อบังคับไว้ชัดเจน เช่น ในระดับมัธยมศึกษา นักเรียนทุกคนต้องเรียนสัปดาห์ละ 4 คาบ 2 หน่วยการเรียน เป็นต้น แต่เมื่อปี พ.ศ.2533 ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขหลักสูตรการศึกษา ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจสังคมและการเมือง ได้ประกาศใช้หลักสูตรใหม่ คือ หลักสูตรประถมศึกษา , มัธยมศึกษา พุทธศักราช 2524 ฉบับปรับปรุงพุทธศักราช 2533 ได้ลดจำนวนคาบวิชาเกษตรลงเหลือ 2 คาบต่อสัปดาห์และยกเลิกวิชาบังคับพื้นฐานอาชีพเกษตรในมัธยมศึกษาตอนปลาย เป็นต้น
สภาพเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สังคมเมืองเข้ามาแทนที่สังคมชนบท อาชีพอุตสาหกรรมเข้ามาแทนที่อาชีพการเกษตร การประกอบอาชีพเกษตรลดน้อยลง ประชากรหันมาประกอบอาชีพหรือรับจ้างงานอุตสาหกรรมในเมือง โรงงานอุตสาหกรรมมีมากขึ้น พื้นที่ทำการเกษตรลดน้อยลง สภาพสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมโทรม ทำให้การประกอบอาชีพการเกษตรมีอุปสรรคและปัญหามากขึ้นได้ผลผลิตที่ไม่แน่นอน ตลาดมีปัญหาทำให้มองเห็นความสำคัญและผลสำเร็จของการประกอบอาชีพการเกษตรลดน้อยลง ในทางตรงกันข้าม อาหารสำหรับการบริโภคมีราคาแพงขึ้น ความปลอดภัยน้อยลง เป็นต้น

Back
Home