เป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการศึกษาเกษตรในระดับประถมศึกษา
|
วัตถุประสงค์ของกลุ่มวิชาการงานและพื้นฐานอาชีพในระดับประถมศึกษา มีดังต่อไปนี้
1. เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์เบื้องต้นเกี่ยวกับการทำงานในชีวิตประจำวันและงานที่เป็นพื้นฐานในการประกอบอาชีพ
2. มีทักษะในการใช้มือ เครื่องมือ และทักษะในกระบวนการทำงาน ทำงานอย่างมีแบบแผน
สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ช่วยเหลือครอบครัวและผู้อื่นได้ตามควรแก่วัย
3. มีนิสัยที่ดีในการทำงานและรู้จักพึ่งตนเอง
4. มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีการปรับปรุงผลงานและกระบวนการทำงานให้ดีอยู่เสมอ
จากวัตถุประสงค์ดังกล่าว
จะพบว่าในปัจจุบันการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนต่าง ๆ ที่อยู่ไม่น้อยไม่สามารถสอนตามเนื้อหาที่กำหนดให้บรรลุวัตถุประสงค์นั้น
ๆ ได้ทั้งนี้อาจจะขึ้นอยู่กับปัญหาหลายประการ เช่น
1. โรงเรียนและผู้ปกครองไม่สนับสนุนให้นักเรียนได้เรียนวิชาเกษตรให้ครบตามหลักสูตรที่กำหนด
อาจเป็นเพราะ
- ผู้ปกครองมีเจตคติที่ไม่ค่อยจะดีนักต่ออาชีพการเกษตร เช่น คิดว่า วิชาเกษตรไม่ต้องเรียนก็สามารถปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ได้
งานเกษตรเป็นงานที่ต้องใช้แรงกายเป็นส่วนมาก เป็นงานหนักต้องขุดดินดายหญ้า สกปรก
เรียนแล้วต้องออกไปเป็นชาวไร่ชาวนา และที่สำคัญผู้ปกครองไม่ต้องการให้ลูกออกมาประกอบอาชีพเกษตรกรรม
- โรงเรียนไม่ได้ให้ความสำคัญต่อวิชาเกษตร บางโรงเรียนจัดให้นักเรียนไม่ครบตามจำนวนคาบที่กำหนด
บางโรงเรียนไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียน แต่นำเอาชั่วโมงของวิชาเกษตรไปสอนวิชาอื่น
ๆ แทน โดยเฉพาะวิชาที่จะเป็นหนทางนำไปสอบแข่งขันในการเรียนระดับที่สูงขึ้นต่อไป
เช่น ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ เป็นต้น
2. โรงเรียนขาดปัจจัยที่ส่งเสริมการเรียนการสอนวิชาเกษตร มีโรงเรียนระดับประถมศึกษาจำนวนมากที่มองเห็นความสำคัญของวิชาเกษตร
แต่ไม่สามารถดำเนินการสอนให้บรรลุจุดมุ่งหมายได้ เพราะขาดปัจจัยที่สนับสนุนการเรียนการสอน
เช่น พื้นที่ทำการฝึกภาคปฏิบัติ (โดยเฉพาะอย่ายิ่งโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลหรือเมืองใหญ่
ๆ ) อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็น ซึ่งทางโรงเรียนยังมองเห็นว่าปัจจัยเหล่านี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
3. ครูผู้สอนมีความรู้ ความเข้าใจและความชำนาญในวิชาการเกษตรไม่เพียงพอ จากการสำรวจพบว่า
โรงเรียนในระดับชั้นประถมจำนวนมาก ขาดครูที่มีความรู้และคุณวุฒิทางการเกษตรโดยตรงสอนนักเรียน
อาจจะเป็นเพราะไม่มีอัตราบรรจุหรือไม่มีครูที่มีวุฒิทางการศึกษาเกษตรมาสมัคร ทางโรงเรียนจึงแก้ปัญหาโดยการใช้ครูประจำชั้นหรือครูที่มีวุฒิการศึกษาอื่นทำหน้าที่สอนแทน
เช่น ครูที่มีวุฒิการศึกษาทางพลศึกษา สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ ศิลป ภาษาอังกฤษ หรือวิทยาศาสตร์
เป็นต้น ซึ่งครูเหล่านี้มิได้ศึกษาทางการเกษตรมาโดยตรง เมื่อต้องมาทำหน้าที่สอน
ทำให้เกิดความไม่มั่นใจในการสอน นอกจากนั้นความรู้ที่ครูสอนก็ไม่ได้ศึกษาอย่างลึกซึ้ง
ทำให้เด็กนักเรียนไม่ได้รู้จริง ครูเกิดความเบื่อหน่าย เมื่อครูเกิดความเบื่อหน่าย
ความกระตือรือร้นในการสอนก็ไม่เกิดขึ้น การเตรียมการสอนไม่ดี การเตรียมอุปกรณ์การสอนน้อยไป
บรรยากาศในการเรียนก็ไม่เกิด นักเรียนจึงไม่ประสบผลสำเร็จในการเรียน จนสุดท้ายอาจจะต้องทำให้นักเรียนเกิดมีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อวิชาเกษตร
เป็นต้น