เมื่อลูกวัยพรีทีนขอของ เพื่อต้องการบอกว่าเขาเติบโตแล้ว
หนูนาวัย 13 สาวน้อยคนโตของบ้าน กลับจากโรงเรียนเข้ามาหาแม่ด้วยหน้าตามีเลศนัย กอดคอแม่แล้วก็เอ่ยว่า
" คุณแม่ขา วันเกิดปีนี้ หนูนาขอมือถือนะคะ"
" มือถือ...เอาไปทำอะไรลูก ที่ออฟฟิศแม่เพิ่งเรียกคืนมาจากพนักงานที่ไม่ได้ใช้ มาเก็บ จะได้ช่วยประหยัดเงินบริษัท" ถามพร้อมใส่เหตุผลที่คิดว่าหนักแน่นที่สุด
" โธ่ คุณแม่ขา เพื่อนในกลุ่มเขามีกันทุกคนแล้วตั้งแต่ชั้นม.1 มีแต่หนูนานี่แหละ ที่เชยกว่าเพื่อน หนูนาอยากช่วยคุณแม่ประหยัดน่ะค่ะ แต่ปีนี้ถ้าไม่มี หนูนาคงแย่ เพราะอาจารย์ให้ทำรายงานเยอะมากเลย มีอะไรจะได้ติดต่อกับเพื่อนได้ง่ายไงคะ"
ทำรายงานเนี่ยนะ...ต้องมีมือถือ มันเกี่ยวกันตรงไหน คุณแม่คิดในในใจ
" ให้พ่อกับแม่ปรึกษากันก่อน"
เท่านั้นล่ะ หนูนาเลิกหวาน เหลือแต่เปรี้ยวจี๊ดผสมพริกขี้หนูทันที ทั้งงอน ทั้งบีบน้ำตา
" คุณแม่ก็อย่างนี้ทุกที ถ้าจะไม่ให้อะไรก็อ้างว่าต้องคุยกับคุณพ่อก่อน หนูนารู้ คุณพ่อกับคุณแม่คุยกันทีไร หนูนาไม่เคยได้สักที ฮือ...ฮือ...หนูโตแล้วนะคะ..."
เสียงเธอยังร่ายยาวอีกนาน แต่ที่สะดุดใจแม่มากที่สุดก็คือ ที่บอกว่า พ่อแม่คุยกันทีไร ไม่ได้สักที
เห็นจะจริงอย่างหนูนาว่า เวลาที่พ่อแม่บอกลูกว่า " ขอคุยกับคุณพ่อ(คุณแม่)ก่อน" ทีไร ลูกไม่ค่อยได้สิ่งที่ลูกขอสักที
มีรายงานการศึกษาของนักจิตวิทยา ดร.เอช. พอล กาเบรียล ว่า ยิ่งพ่อแม่คุยกันมากเท่าไร ในเรื่องที่ลูกขอ โอกาสที่จะมองเห็นในมุมของลูกก็จะน้อยลงเรื่อยๆ เพราะผู้ใหญ่จะมีมุมมองของผู้ใหญ่ ซึ่งยากจะเข้าใจได้ว่า...มือถือมันเกี่ยวอะไรกับรายงาน...หรือเหตุผลทำนองนี้ของเด็กๆ ดร.กาเบรียลบอกว่า ความหมายที่แท้ของการขอสิ่งต่างๆ ที่เคยเป็นสิ่งต้องห้าม หรือ " โตขึ้นค่อยได้" ของเด็กพรีทีน เช่น โทรศัพท์ส่วนตัว โทรทัศน์ในห้องส่วนตัว ซาวนด์อะเบาต์ จักรยาน ขอเดินทางกลับบ้านเอง ทั้งหลายแหล่นั้น ที่แท้แล้วคือ เด็กต้องการบอกว่าเขาเป็นผู้ใหญ่แล้ว เขาต้องการสัญลักษณ์อะไรบางอย่างที่บอกถึงความเป็นตัวของตัวเองของเขา ถ้าพ่อแม่ให้สิ่งที่ขอ หมายถึงพ่อแม่ยอมรับนับถือในตัวเขา ว่าเขาโตพอที่จะมีสิ่งเหล่านั้นได้แล้ว
เด็กพรีทีนทุกคนต้องการได้รับการยอมรับว่าเขาเป็นอีกคนหนึ่งที่แยกห่างจากพ่อแม่ และต่อรองกับพ่อแม่ ด้วยการตื๊อขออะไรสักอย่างในชีวิตประจำวัน คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรด่วนเอาประเด็นเรื่องความฟุ่มเฟือย การตามอย่างเพื่อน หรืออย่างอื่นมาพิจารณาด้านเดียว พ่อแม่จำเป็นต้องจับแก่นของสารที่ลูกส่งมาให้ ให้ถูกต้องเสียก่อน ถ้าด่วนเข้าใจว่านี่เป็นการตามเพื่อน ฟุ่มเฟือย หรือท้าทายอำนาจ อาจจะทำให้ช่องทางที่จะเข้าถึงสารของลูก วัยพรีทีนตีบตันลงได้ ความเข้าใจมันจะสวนทางกัน เหมือนเดินกันคนละเลน เราควรเข้าใจว่ามันเป็นแรงขับของเด็กวัยนี้ ที่ต้องการมีสิทธิ์อัตวินิจฉัย- สิทธิ์ที่จะพิจารณาตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเขาเอง
คราวนี้หนูนาต้องประหลาดใจ แทนที่คุณพ่อกับคุณแม่จะเข้าไปนั่งถกกัน แล้วจึงเอามติที่ประชุมมาประกาศกับหนูนา กลับเรียกหนูนาเข้าไปนั่งร่วมวง คุณพ่อเริ่มต้นว่า เกรดเทอมที่ผ่านมาของหนูนาดีขึ้น งานบ้านที่รับปากคือ กวาดบ้านถูบ้านก็ช่วยคุณแม่ทำได้ดีพอสมควร แล้วก็ทะเลาะกับหนูพุก น้องสาวคนเดียวน้อยลง "พ่อรู้สึกว่าลูกโตขึ้นมาก ความรับผิดชอบตัวเองดีใช้ได้"
แค่คำแรก หนูนาก็หน้าบาน แต่ยังไม่วางใจเท่าไร ไม่รู้จะมาไม้ไหน คุณแม่เสริมว่า "หนูนาขึ้นรถเมล์ไปกลับโรงเรียนเอง แม่ก็เป็นห่วงเหมือนกัน บางทีแม่ยังไม่เลิกงาน ก็ไม่รู้ว่าลูกถึงบ้านแล้วหรือยัง ก็อยากให้เพจลูกเอาไว้สื่อสารกับพ่อแม่บ้าง จะได้หายห่วง"
คราวนี้หนูนาค่อยยิ้มออกนิดๆ แต่หนูนาไม่ได้เพจมาเฉยๆ พ่อกับแม่ทำความตกลงกับหนูนาว่า ถ้าอยากได้สิทธิพิเศษคือการมีเพจ หนูนาจะต้องแลกกับความรับผิดชอบที่สูงขึ้น พ่อกับแม่ให้หนูนาคิดเอง ว่าจะเสนอเข้ามารับผิดชอบอะไร " หนูนาแวะซื้ออาหารและหุงข้าวให้ดีไหมคะ เพราะหนูนากลับบ้านก่อนคุณแม่อยู่แล้ว และถ้าคุณแม่อยากให้ซื้ออะไร ทำอะไรคุณแม่ก็เพจบอกหนูนาก่อนที่หนูนาจะออกจากโรงเรียน" หนูนารีบเสนอตัวเสียงใส
แหม...ช่างวางแผนได้เหมาะเจาะเสียนี่กระไร คุณแม่นึกค่อนอยู่ในใจแต่ก็ภูมิใจที่ลูกรู้จักพิจารณาและอาสา เทคนิคการต่อรอง โดยเข้าใจแก่นของสารที่ลูกวัยพรีทีน หรือแม้แต่ทีนเอจส่งให้ เป็นเรื่องสำคัญในการสานสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับวัยนี้ ถ้าไม่เข้าใจสาร และไม่มีวิธีต่อรองประนีประนอมกับลุกรู้ไหมว่าแตกโพละกันมามากต่อมากแล้ว
J เทคนิคการต่อรองกับลูกวัย 13 ขึ้นไป สนใจเอาใจใส่ ตั้งใจฟังในสิ่งที่ลูกขอ พยายามทำความเข้าใจว่าแก่นของการขอนั้นคืออะไร พูดอย่างตรงไปตรงมา บอกลูกตรงๆว่า ถ้าให้ลูกแล้ว พ่อแม่กลัวเกิดปัญหาอะไร อนุญาตให้ขับรถ-กลัวอุบัติเหตุ ให้โทรศัพท์ส่วนตัว-กลัวเอาแต่คุย ไม่ทำการบ้าน ให้เกม-กลัวไม่สนใจการเรียน ฯลฯ แล้วก็บอกว่า พ่อแม่ไม่อยากเป็นคนนั่งจับผิดลูก เพราะฉะนั้น ลูกจะต้องพยายามช่วยคิดว่า ลูกจะป้องกันปัญหาที่พ่อแม่กลัวนั้นได้อย่างไร ทางออกนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ คุยกันอย่างคนเป็นผู้ใหญ่คุยกัน การพูดคุยอย่างนี้มักนำมาซึ่งทางออกที่พอรับได้กันทั้งสองฝ่ายฟังข้อมูลไม่เอาความรู้สึกเป็นตัวตั้ง อาจลองขอคุยกับพ่อแม่คนอื่นที่ลูกเขามีสิ่งนั้นว่า มันจะก่อให้เกิดปัญหาต่อเนื่องอะไร เขาป้องกันอย่างไร แก้ไขอย่างไร ไม่ใช่เอาความรู้สึกกังวลของพ่อแม่เองเป็นตัวตั้งอย่างเดียว แล้วก็ปฏิเสธหมดทุกอย่าง ยื่นข้อเสนอที่ประนีประนอม โดยเน้นที่ว่า เมื่อเขาต้องการสิ่งที่บ่งบอกถึงความเติบโตขึ้น เป็นผู้ใหญ่ขึ้น โดยการขอสิ่งนั้น เขาก็จะต้องแสดงความรับผิดชอบในสิ่งอื่นๆให้เห็นว่า เขาโตขึ้นจริง เป็นผู้ใหญ่ขึ้นจริง พร้อมรับผิดชอบสิ่งต่างๆได้ในระดับหนึ่งที่พ่อแม่เห็นดี สอนให้ลูกตระหนักว่า อิสรภาพที่จะเพิ่มขึ้นตามวัยนั้น ต้องมาพร้อมกับหน้าที่รับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นเสมอ … โลกของคนที่จะเป็นผู้ใหญ่เป็นเช่นนี้เอง
ที่มา http://www.momypedia.com จาก: นิตยสาร Life & Family