วินัยสำคัญอย่างไร
วินัย คือ การปฏิบัติตนตามระเบียบสังคมยอมรับว่าดีเหมาะสม การฝึกวินัย เป็นการฝึกหัดให้เด็กควบคุมความต้องการหรือแรงผลักดันในตนเองให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม แสดงออกเหมาะสมกับกาลเวลา สถานการณ์ และด้วยวิธีการที่เหมาะสม หรือกล่าวง่ายๆ คือการรู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควร พฤติกรรมต่างๆ มีขอบเขตแค่ไหนสามารถบังคับและควบคุมพฤติกรรมตนเองได้ โดยไม่ต้องมีผู้อื่นหรือกฎเกณฑ์อื่นๆ มาควบคุม
เด็กวัยเรียน (6-12 ปี) เป็นช่วงเวลาของ “ หน้าต่างแห่งโอกาสพัฒนาเรื่องวินัย” วินัยไม่ได้เกิดขึ้นเองในตัวเด็ก คุณพ่อคุณแม่ต้องสร้างให้ ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ถ้าคุณปล่อยให้เด็กเล่นเกมตามสบาย เท่ากับกำลังทำลายโอกาสการสร้างให้ลูกมีวินัย ถ้าปล่อยให้เวลาล่วงเลยเข้าสู่วัยรุ่น การฝึกวินัยจะทำได้ยากลำบาก
การฝึกวินัยและความรับผิดชอบไม่ง่ายแต่ก็ไม่ยากเกินไป
การสร้างวินัยทั้งคุณพ่อคุณแม่และลูกทุกคนมีส่วนร่วมในการวางแผนและกำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบให้เหมาะสม การวางแผนที่ไม่ตรงกันนั้นเป็นสิ่งปกติที่พบได้เสมอ ทุกคนจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน แบบค่อยเป็นค่อยไป บางครั้งอาจใช้เวลา เด็กๆมีโอกาสทำผิดพลาดได้บ่อย ครอบครัวควรให้โอกาส อดทนและให้อภัยเพื่อประคับประคองจิตใจ และรักษาสัมพันธภาพที่ดีระหว่างคุณพ่อคุณแม่กับลูกไว้
จะเริ่มต้นฝึกวินัยอย่างไร
ขั้นแรกคุณพ่อคุณ แม่ต้องอดทน หนักแน่น ฝึกแบบเสมอต้นเสมอปลายโดยยึดหลักการที่สอดคล้องกัน ถูกต้องชัดเจน สิ่งที่ถูกต้องควรทำคืออะไร สิ่งที่ผิดหรือไม่ควรทำคืออะไร และคุณพ่อคุณแม่ต้องสื่อให้เด็กรู้และปฏิบัติตาม คุณพ่อคุณแม่ติดตามกำกับให้ลูกทำในสิ่งที่ตกลงไว้
กลวิธีในการฝึกวินัยมีหลากหลาย ได้แก่
- ให้เหตุผลที่สั้นกระชับ เข้าใจง่าย ฝึกให้ใช้เหตุผลแก้ปัญหาทางอารมณ์
- ใช้สีหน้า ท่าที และคำสั่งที่หนักแน่นจริงจัง
- ให้สิ่งทดแทน เช่น เด็กอยากเล่นเกมต่อสู้ เบี่ยงเบนให้เด็กสนใจ หรือมีโอกาสเรียนศิลปะการต่อสู้ในชีวิตจริงภายใต้กฎกติกาที่สังคมยอมรับ
- ใช้วิธีเพิกเฉยหรือเลิกให้ความสนใจ เช่น เมื่อเด็กดูดนิ้วพูดคำหยาบ ถ้าคุณพ่อคุณแม่เข้าไปดุเท่ากับเป็นการให้ความสนใจในพฤติกรรมนั้น
- ควรให้รางวัล หรือคำชม เมื่อเด็กทำสิ่งที่เหมาะสมเพื่อเป็นแรงเสริมและการยืนยันว่าเขาทำในสิ่งที่ถูกต้อง
- การลงโทษโดยใช้ความรุนแรง ควรเป็นวิธีสุดท้ายถ้าวิธีอื่นๆ ไม่ได้ผล เพราะจะเป็นการทำลายสัมพันธภาพระหว่างคุณกับเด็กและเด็กจะเรียนรู้ และเลียนแบบเอาความรุนแรงไปใช้แก้ปัญหา
กฎระเบียบในครอบครัว
ข้อมูลจากหนังสือกิจกรรมกลุ่มสำหรับครอบครัวที่มีเด็กเสพหรือติดยาเสพติด ของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ได้กล่าวถึงการวางกฎระเบียบในครอบครัวว่าเป็นสิ่งที่สอดแทรกอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของครอบครัว ซึ่งจำเป็นจะต้องจัดให้มีขึ้นตามสมควร เพื่อให้ลูกสามารถฝึกระเบียบวินัย เพื่อเตรียมพร้อมที่จะปรับตัวเผชิญกับระเบียบข้อบังคับของสังคมในอนาคต เพราะเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีกฎเกณฑ์ข้อจำกัดที่ชัดเจน จะสามารถสร้างวินัยในตนเองและสามารถควบคุมพฤติกรรมของตนเองได้ การตั้งกฎระเบียบในครอบครัวให้แก่ลูก อาจจะดูยุ่งยากสำหรับครอบครัวที่ขาดทิศทางที่ชัดเจนในการปฏิบัติ ฉะนั้นการกำหนดกฎระเบียบของบ้านต้องชัดเจนเข้าใจง่าย เหมาะกับวัยของเด็กที่เขาสามารถปฏิบัติได้พ่อแม่เองต้องรักษากฎอย่างมั่นคงเสมอต้นเสมอปลาย สิ่งสำคัญก็คือจะต้องปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน เป็นแบบอย่างที่ดีในทิศทางเดียวกัน เป็นแบบอย่างที่ดีในการเคารพกฎ ไม่ละเมิดกฎเสียเอง แล้วท่านก็จะได้ลูกที่สามารถสร้างวินัยในตนเองควบคุมพฤติกรรมของตนเองได้และสามารถปรับตัวเข้ากับเพื่อนในสังคมได้เป็นอย่างดี
เคล็ด (ที่ไม่ลับ) ของการวางกฎระเบียบในครอบครัว
- ให้ลูกได้ร่วมกำหนดระเบียบ กำหนดกฎเกณฑ์การปฏิบัติร่วมกับลูก โดยต้องอธิบายถึง
ความรู้สึกของพ่อแม่ที่ได้รับความกระทบกระเทือนใจจากพฤติกรรมที่เป็นต้นเหตุให้ต้องวางกฎข้อบังคับนั้นๆ หรือความจำเป็นที่จะต้องสร้างนิสัยนั้นๆให้กับลูก
- กฎระเบียบต้องชัดเจน ปฏิบัติได้ และเข้าใจง่าย เช่น “ ในวันธรรมดา ลูกต้องทำการบ้านให้
เสร็จก่อนจึงจะออกไปเล่นนอกบ้านกับเพื่อนได้และไม่อนุญาตให้เล่นเกม ” “ ส่วนวันหยุดอนุญาตให้เล่นเกมได้แต่ไม่เกิน 3 ชั่วโมงต่อวัน”
- ต้องให้เหมาะสมกับวัยและปฏิบัติได้ กฎที่วางต้องมีเหตุผล เหมาะสมกับวัยของเด็กที่จะปฏิบัติ
ได้ระมัดระวังไม่บังคับให้เด็กปฏิบัติตามค่านิยม หรือความต้องการของพ่อแม่โดยไม่คำนึงถึงความต้องการของเด็ก และต้องให้เด็กมีอิสรเสรีในการตัดสินใจเลือกหาทางปฏิบัติด้วยตนเอง แต่ต้องอยู่ในขอบเขตที่พ่อแม่กำหนด
- สร้างทางเลือกเพื่อลดความขัดแย้ง ในการกำหนดกฎควรสร้างทางเลือกเพื่อให้เด็กมีโอกาส
เลือก ทำให้เด็กมีความสามารถในการวางแผน ตัดสินใจเลือกด้วยตนเองและเป็นการลดความขัดแย้งได้อีกด้วย สำหรับเด็กเล็กควรมีทางเลือกไม่มากและควรใช้คำถามง่ายๆ ไม่สลับซับซ้อน เช่นจะล้างจานก่อนไปซ้อมกีฬา หรือจะไปซ้อมกีฬาก่อนล้างจาน
- ปฏิบัติตามอย่างเสมอต้นเสมอปลาย เมื่อวางกฎแล้วต้องบังคับใช้สม่ำเสมอ ต้องปฏิบัติตาม
อย่างเสมอต้นเสมอปลาย เพราะความเสมอต้นเสมอปลายจะทำให้เด็กปฏิบัติตามกฎได้ด้วยความรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย แม้ในบางครั้งลูกอาจจะงอแงไม่ยอมทำตาม พ่อแม่ก็อาจยืดหยุ่นให้ลูกได้บ้างแต่ไม่ได้หมายความว่าลูกจะได้รับอนุญาตให้ไม่ต้องทำตามกฎนั้นๆ เพราะความยืดหยุ่นหมายถึงการปรับวิธีต่างๆ มาใช้เพื่อให้งานบรรลุเป้าหมายปลายทางที่ต้องการ เช่น ลูกจะต้องล้างจานในมื้อเย็นหลังรับประทานอาหารเสร็จ แต่เมื่อรับประทานอาหารเสร็จลูกบอกแม่ว่า “ วันนี้หนูขอโทษไม่ล้างจานได้ไหมเพราะหนูมีการบ้านเยอะมากเลย” แม่ยิ้มอย่างรู้ทันโอบไหล่ลูกไว้ (ไม่แสดงความโกรธหรือตำหนิ) แล้วบอกว่า “ คงไม่ได้หรอกลูก แต่ลูกจะทำการบ้านก่อนแล้ว
ค่อยมาล้างจานก็ได้ ” ลูกมีสีหน้าผิดหวังเล็กน้อยแต่ก็เดินไปทำการบ้านต่อไม่ได้ว่าอะไร แล้วก็กลับมาล้างจานเมื่อทำการบ้านเสร็จแล้ว
- เตือนเมื่อทำผิดกฎ การที่คุณพ่อคุณแม่ไม่แสดงอาการโกรธหรือลงโทษสั่งสอน เพียงแต่รับฟัง
และให้ลูกรอรับผลการกระทำของตนเอง ไม่ยอมใจอ่อนจะทำให้ลูกเรียนรู้ที่จะปรับปรุงตนเอง และยึดมั่นปฏิบัติตามกฎได้ดีขึ้น แม้ในครั้งต่อๆ มาลูกอาจจะลองแสดงพฤติกรรมนั้นๆใหม่ เพื่อหยั่งดูความเข้มแข็งของพ่อแม่บ้าง ทั้งพ่อและแม่ก็จะต้องยึดหลักปฏิบัติแน่นอนเหมือนเดิม ไม่ยอมปล่อยให้ลูกทำตามใจตนถือเป็นการสร้างนิสัยการต่อสู้กับความอ่อนแอในการตามใจตนที่มักมีอยู่ในตัวของเด็กทุกคนได้เป็นอย่างดี
- ไม่พร่ำบ่นซ้ำซาก เมื่อลูกปฏิบัติตามกฎได้แล้ว ไม่ควรสั่งสอนหรืออ้างเรื่องเดิมซ้ำซากในวัน
ต่อๆไป เพราะลูกไม่ชอบการพร่ำบน เพราะอาจมีพฤติกรรมต่อต้านได้
- ชื่นชมเมื่อลูกปฏิบัติได้ตามกฎ ชื่นชมเมื่อลูกปฏิบัติได้ตามกฎ เช่นยกย่องชมเชยหรือจัดหา
รางวัลให้เหมาะสมกับโอกาสหรือสถานการณ์ โดยอาจจะเปลี่ยนรูปแบบไป เพื่อสนับสนุนให้พฤติกรรมนั้นของลูกคงอยู่แต่ระมัดระวังไม่ใช่รางวัลนั้นๆ เป็นเครื่องต่อรองให้ลูกกระทำพฤติกรรมที่ผู้ใหญ่ต้องการเช่น บอกลูกว่า “ ถ้าลูกมารับประทานอาหารตรงเวลาแม่จะพาไปเที่ยวสวนสนุก” อย่างนี้ถือว่าเป็นการต่อรอง เพราะแม่เอารางวัลมาล่อใจลูกให้ลูกทำสิ่งที่พ่อแม่ต้องการให้ทำ ถึงตอนนี้คุณพ่อคุณแม่อาจจะสงสัยว่าแล้วเราจะให้รางวัลแก่ลูกอย่างไร รางวัลเป็นสิ่งตอบแทนความดีที่กระทำ พ่อแม่ควรมอบให้หลังจากที่ลูกได้กระทำสิ่งนั้นๆลงไปแล้ว เช่นวันหนึ่งลูกมารับประทานอาหารตรงเวลา เมื่อลูกๆรับประทานอาหารเสร็จก่อนพ่อแม่ก็บอกว่า “ วันนี้ทุกคนรับประทานอาหารตรงเวลา ทำให้เรารับประทานอาหารเสร็จแล้ว พ่อแม่ก็เลยมีเวลาที่จะพาลูกไปเที่ยวสวนสนุกในวันนี้นะจ๊ะ” นอกจากนี้ลักษณะของรางวัลที่ให้ก็ควรเปลี่ยนแปลงไปในครั้งต่อๆไป เช่น ครั้งนี้พาไปเที่ยวแต่ในคราวหน้าอาจเปลี่ยนเป็นการชื่นชมแทนบ้าง โดยอาจบอกลูกว่า “ พ่อแม่ภูมิใจมากที่ลูกทุกคนรู้จักรักษาระเบียบของการมารับประทานอาหารกันตรงเวลาโดยที่พ่อแม่ไม่ต้องเตือน” และไม่จำเป็นต้องให้รางวัลทุกครั้ง
- ลดข้อบังคับเมื่อลูกฝึกตนได้ ค่อย ๆ ลดจำนวนข้อบังคับให้เหลือน้อยลงเมื่อลูกสามารถปฏิบัติ
ตามกฎได้อย่างมีวินับในตนเอง เพื่อฝึกให้ลูกปกครองตนได้ด้วยตนเอง โดยอาศัยการบังคับจากพ่อแม่ให้น้อยที่สุด
ความหลากหลายของการฝึกวินัยและความรับผิดชอบในเด็กติดเกม
ระยะที่ 1 ระยะเริ่มติด เด็กจะใช้เวลากับการเล่นเกมมากกว่าการประกอบกิจกรรมอื่น ๆ สัมพันธภาพกับพ่อแม่ยังดี
ระยะที่ 2 ระยะปัญหาปานกลาง เด็กจะเริ่มมีปัญหาขาดความสัมพันธ์กับครองครัว ใช้เงินและเวลาส่วนใหญ่กับการเล่นเกม
ระยะที่ 3 ระยะปัญหารุนแรง เด็กจะติดและหมกมุ่นกับเกมคล้ายติดยาเสพติด รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา นอนดึกหรือไม่นอน ไม่เรียนหนังสือ ขาดสัมพันธภาพกับคนในครอบครัว
วิธีแก้ไขมีดังนี้
ระยะที่ 1 คุณพ่อคุณแม่ต้องกำหนดตารางเวลาประจำวันร่วมกับลูก กลับมาบ้านต้องทำอะไรบ้าง ช่วงไหนทำการบ้าน ช่วงไหนเล่น ช่วงไหนดูทีวี ส่วนใหญ่วันไปโรงเรียนไม่ควรอนุญาตให้เด็กเล่นเกมเนื่องจากเป็นการยากที่เกมจะจบภายในเวลา 1-2 ชั่วโมง และเมื่อลูกไม่รักษากฎกติกาที่วางไว้ ต้องมีบทลงโทษที่เหมาะสม เช่น ลดเวลาเล่นเกมวันถัดไป งดเล่นในช่วงเวลาหนึ่ง ตัดสิทธิ์การใช้คอมพิวเตอร์ร่วมกับจัดกิจกรรมอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับลูก ได้แก่ วิ่งเล่นกับเพื่อน ออกกำลังกาย เล่นกีฬาดนตรี ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน เป็นต้น
ระยะที่ 2 คุณพ่อคุณแม่เริ่มต้นตั้งกติกาเริ่มเอาจริงเอาจัง เล่นได้วันไหนบ้าง วางกฎติดตามกำกับสม่ำเสมอ ถ้าละเมิดกฎมีบทลงโทษตามที่ตกลงไว้ ไม่ใช่ละเมิดแล้วปล่อยปละละเลยลูกจะได้เกิดการเรียนรู้ใหม่และปฏิบัติตามกติกา ดังนั้นควรหาวันเริ่มต้นเพื่อตกลงกติกากับลูกใหม่พร้อมทั้งจัดกิจกรรมเสริมอื่นๆ เพื่อให้ลูกกลับถึงบ้านเวลาใกล้เคียงกับพ่อแม่ พ่อแม่จะได้สามารถติดตามควบคุมเวลาปิด-เปิดเกมได้เหมาะสม
ระยะที่ 3 ปัญหารุนแรง เล่นติดต่อกันวันละหลายชั่วโมง เกิดปัญหาติดเกมต่อเนื่องยาวนานเป็นเดือน บางรายเป็นปี ควรสอนให้เด็กเรียนรู้การหยุดเล่น เวลาช่วงปิดเทอมเป็นเวลาดีสุดที่จะฝึกเด็กให้เลิกยุ่งกับเกม เพื่อให้สมองส่วนอยาก (เล่น) ลดการถูกกระตุ้นลง วิธีการได้แก่ การพาลูกไปค่าย ทัศนศึกษาหรือเข้าโปรแกรมต่างๆ เวลาที่ใช้อย่างน้อย 1 เดือนที่เด็กไม่มีโอกาสกลับไปเล่นอีก เมื่อสมองส่วนอยากไม่ถูกกระตุ้น ควรจัดกิจกรรมต่างๆ ให้เด็กเพื่อให้สมองส่วนคิดมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การวิเคราะห์ วิจารณ์ ดนตรี กีฬา ดึงเด็กมาอยู่ในโลกของความเป็นจริง เขายังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจ มีการเรียน มีเพื่อน มีคุณพ่อคุณแม่ที่คอยห่วงใยสนับสนุนให้กำลังใจ คุณพ่อคุณแม่ควรสนับสนุนส่งเสริมให้เด็กเก่ง เอาชนะอุปสรรคต่างๆเป็นฮีโร่ในชีวิตจริงได้สมดังความฝัน ไม่ใช่แค่ฮีโรในเกมหรือโลกไซเบอร์เท่านั้น
ผศ . นพ. ชาญวิทย์ พรนภดล จิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ให้แนวคิดวิธีป้องกันและแก้ไขดังนี้
วิธีป้องกัน
1. คุยกับเด็กเพื่อกำหนดกติกากันล่วงหน้าก่อนจะซื้อเกมหรืออนุญาตให้เด็กเล่นว่าเด็กสามารถเล่นเกมได้ในวันใดบ้าง วันใดเล่นไม่ได้ เล่นได้ครั้งละไม่เกินกี่ชั่วโมง ตั้งแต่เวลาใดถึงเวลาใด ก่อนจะเล่นต้องรับผิดชอบทำอะไรให้เสร็จเรียบร้อยก่อนบ้าง หากเด็กไม่รักษากติกา เช่น เล่นเกินเวลา ไม่ทำการบ้านให้เสร็จก่อน ฯลฯ เด็กจะถูกทำโทษอย่างไร (แนะนำให้ใช้วิธีริบเกมหรือตัดสิทธิการเล่นเป็นเวลาระยะหนึ่งหากเด็กไม่ทำตามกติกาที่ตกลง)
2. วางตำแหน่งคอมพิวเตอร์หรือเครื่องเล่นเกมในสถานที่ที่เป็นที่โล่ง มีคนเดินผ่านไปผ่านมาบ่อย ๆ ไม่ควรตั้งไว้ในห้องนอนหรือห้องที่ปิดมิดชิด เพื่อที่ผู้ปกครองจะได้ติดตามเฝ้าดูได้ เป็นการป้องกันมิให้เด็กเก็บตัวแอบเล่นคนเดียวในห้อง หรือแอบเล่นทั้งคืน
3. วางนาฬิกาขนาดใหญ่ไว้หน้าเครื่องหรือในตำแหน่งที่เด็กสามารถมองเห็นได้ชัดเจน
4. ให้คำชมแก่เด็กเมื่อสามารถรักษาเวลาการเล่น ควบคุมตัวเองไม่ให้เล่นเลยเวลาที่กำหนด
5. เอาจริง เด็ดขาดหากเด็กไม่รักษากติกา เช่น ริบเกมโดยไม่ใจอ่อน ถอดสายโมเด็มออก ฯลฯ
6. ส่งเสริมจัดหากิจกรรมที่สนุกสนานอย่างอื่น (ที่สนุกพอ ๆ กับ/หรือมากกว่าการเล่นเกม) ให้เด็กทำหรือมีกิจกรรมที่ทำร่วมกันในครอบครัว
7. หลีกเลี่ยงการใช้เกมเป็นเสมือนพี่เลี้ยงเด็ก เพื่อที่พ่อแม่จะได้มีเวลาส่วนตัวไปทำอย่างอื่น
8. สอนให้เด็กรู้จักการแบ่งเวลา รู้จักใช้เวลาอย่างเหมาะสม
วิธีแก้ไข
1. หากในบ้านยังไม่มีกฎหรือกติกาการเล่นเกม จำเป็นที่จะต้องพูดคุยกับเด็กและให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมในการวางกติกา กำหนดเวลาการเล่น (เหมือนข้อ 1 ในหัวข้อการป้องกัน)
2. มีเวลาอยู่กับเด็กมากขึ้น พาออกนอกบ้านเพื่อไปทำกิจกรรมที่เด็กชอบ (ยกเว้นการไปเล่นเกมนอกบ้าน) อย่าลืมว่าเด็กส่วนหนึ่งติดเกมเพราะความเหงา เบื่อ ไม่มีอะไรสนุก ๆ
3. รักษาสัมพันธภาพระหว่างกันให้ดี หลีกเลี่ยงการบ่น ตำหนิ ใช้อารมณ์หรือถ้อยคำรุนแรง แสดงความเห็นใจ เข้าใจว่าเด็กไม่สามารถควบคุมตัวเองหรือตัดขาดจากเกมได้จริง ๆ
4. ผู้ปกครองควรร่วมมือในการแก้ปัญหาโดยใช้กฎเดียวกัน อย่าปัดให้เป็นภาระหรือความรับผิดชอบของใครคนใดคนหนึ่ง
5. สร้างเครือข่ายผู้ปกครองที่มีเด็กติดเกมเหมือน ๆ กันหลาย ๆ ครอบครัวแล้วผลัดกันนำเด็กทำกิจกรรมหลังเลิกเรียนหรือในวันหยุด เช่น เข้าค่ายพักแรมไปทัศนศึกษา ฯลฯ จัดตั้งเป็นกลุ่มย่อย ๆ ชมรมต่าง ๆ เช่น ชมรมกีฬา ชมรมดนตรี เป็นต้น
6. ในรายที่ติดมากจริง ๆ และเด็กต่อต้านรุนแรงที่จะเลิก ในระยะแรกพ่อแม่ควรร่วมเล่นเกมกับเด็ก (แต่อย่าเผลอติดเองเสียล่ะ) ทำความรู้จักกับเกมที่เด็กชอบเล่น หากเห็นว่าเป็นเกมที่ไม่เหมาะสมหรือเกมที่ใช้ความรุนแรง พยายามเบี่ยงเบนให้เด็กมาสนใจเกมอื่นที่พอจะมีส่วนดี ดึงเอาส่วนดีของเกมมาสอนเด็ก เช่น เกมสร้างเมือง เกมบทบาทสมมติเพื่อฝึกทักษะทางสังคม เป็นต้น เมื่อสัมพันธภาพกับเด็กเริ่มดีขึ้น พ่อแม่จึงค่อย ๆ ดึงเด็กให้มาสนใจในกิจกรรมอื่น ๆ ทีละเล็กทีละน้อย
7. หากทำทุกวิธีข้างต้นแล้วไม่ได้ผล พ่อแม่ควรพาเด็กมาพบจิตแพทย์เด็ก เนื่องจากเด็กอาจจะป่วยมีปัญหาสุขภาพจิตอยู่ลึก ๆ เช่น ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า วิตกกังวล สมาธิสั้น ฯลฯ เพื่อรับการวินิจฉัยและบำบัดรักษาต่อไป
ที่มา : จากหนังสือ เข้าถึงเข้าใจเด็กไทย ยุค..ไซเบอร์ ของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต หน้า 17-30