ความเป็นมา

 

   ศูนย์บริการจิตวิทยาและแนะแนวของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เริ่มจัดตั้งขึ้นในปี 2517 เรียกว่า โครงการแนะแนวและทะเบียน เนื่องจากในระยะแรกของการจัดตั้งโรงเรียนเป็นช่วงที่จำนวนนักเรียนไม่มากนัก จึงสามารถดำเนินงานควบคู่กันไปทั้งงานแนะแนวและทะเบียน โดยมีอาจารย์สมนา พูนพิพัฒน์ ดูแลรับผิดชอบงานด้านทะเบียน และอาจารย์เกื้อกูล ทาสิทธิ์ ดูแลรับผิดชอบงานแนะแนว มีอาจารย์ที่ทำงานในโครงการทั้งสิ้น 6 ท่าน ต่อมาในปี พ.ศ. 2524 โครงการแนะแนวและทะเบียน ได้ขยายงานมากขึ้น จึงแยกเป็นโครงการแนะแนว โดยมีอาจารย์เกื้อกูล ทาสิทธิ์ เป็นหัวหน้าโครงการ ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาการจัดบริการต่าง ๆ มาโดยตลอด ต่อมามีหัวหน้าโครงการ คือ ผศ.นภาพร ปรีชามารถ และผศ.สุปรีดา ญาณภิรัต เป็นหัวหน้าโครงการ จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2535 ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ ได้สำเร็จการศึกษาปริญญาเอก สาขาจิตวิทยาโรงเรียน และได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่หัวหน้าโครงการแนะแนว จากนั้นได้มีการขยายขอบข่ายการให้บริการทางด้านจิตวิทยาด้วย จนกระทั่ง
ปี พ.ศ. 2542 ได้เปลี่ยนจากโครงการแนะแนวเป็นศูนย์บริการจิตวิทยาและแนะแนว มาจนถึงปัจจุบัน

   โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีบทบาทหน้าที่เป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาของคณะศึกษาศาสตร์ ให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนการสอนที่เน้นถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล โดยมุ่งส่งเสริมให้นักเรียนแต่ละคนได้พัฒนาไปในแนวทางที่ถูกต้อง เหมาะสมกับระดับความสามารถ ความถนัดและความสนใจ

   ทางโรงเรียนจึงได้ให้ความสำคัญกับการจัดบริการจิตวิทยาและแนะแนวในโรงเรียนเป็นอย่างมากด้วยตระหนักว่า บริการจิตวิทยาและแนะแนวเป็นส่วนสำคัญที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ อีกทั้งจะช่วยให้นักเรียนรู้จักตนเอง รู้จักขอบเขตความสามารถ ส่วนดี ส่วนบกพร่องของตนเองอย่างแท้จริง และสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม ตะหนักถึงคุณค่าของการศึกษา ซึ่งจะเป็นแนวทางให้นักเรียนสามารถวางแผนการศึกษา และเลือกประกอบอาชีพที่เหมาะกับตนเอง
ศูนย์บริการจิตวิทยาและแนะแนวเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญของคณาจารย์ ในการศึกษาพฤติกรรมนักเรียน ช่วยให้อาจารย์เข้าใจนักเรียนดีขึ้น อีกทั้งยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับนักเรียนแก่ผู้ปกครอง อันจะทำให้ทั้งบ้านและโรงเรียนได้ช่วยกันหาแนวทางการพัฒนานักเรียนไปในทิศทางเดียวกัน บริการแนะแนวยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับนักเรียน อาจารย์ การศึกษาและอาชีพ แก่ผู้บริหารของโรงเรียน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนให้เหมาะสมกับความต้องการของนักเรียน และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ