ศาสตราจารย์นายแพทย์ พิภพ จิรภิญโญ
นอกเหนือจากมหาวิทยาลัยภายในประเทศจะเปิดรับนักศึกษาเพื่อการศึกษาต่อในสายอาชีพต่าง ๆ แล้ว ยังมีทุนที่ให้ศึกษาต่อยังต่างประเทศอีกมากมาย ทุนนี้อาจมีการจัดการสอบเพื่อคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมในช่วงปลายปีของชั้น ม.6 หรืออาจจะเป็นทุนโอลิมปิกวิชาการ เพื่อศึกษาต่อถึงปริญญาเอกของแต่ละสาขาวิชา ถ้าลูกมีความสนใจในวิชาใดวิชาหนึ่งในวิชาเหล่านี้ คือ คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ เคมี ฟิสิกส์ และชีววิทยา ก็จะมีเวทีพิเศษสำหรับการแข่งขันเพื่อคัดเลือกเป็นตัวแทนของประเทศทางด้านนี้ และยังได้รับทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศอีกด้วย แต่ทุนที่เป็นสุดยอดของการศึกษาก็คือ ทุนเล่าเรียนหลวง ซึ่งเป็นทุนที่มีเกียรติสูงส่ง มีการแข่งขันสูง การเตรียมตัวเพื่อให้ได้รับแต่ละทุนจะมีวิธีเตรียมตัวที่แตกต่างกันออกไป
สำหรับลูกที่เรียนสายวิทย์เท่านั้นที่มีโอกาสเข้าแข่งขันในโอลิมปิกวิชาการสาขาใดสาขาหนึ่ง ขณะนี้มีอยู่ 5 สาขาวิชาคือ คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ เคมี ฟิสิกส์ และชีววิทยา ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา เริ่มมีการแข่งขันวิชาดาราศาสตร์โอลิมปิก จึงเพิ่มทางเลือกขึ้นมาอีกทางหนึ่ง โดยปกติจะมีการจัดสอบทั่วประเทศเพื่อคัดเลือกในรอบแรกประมาณต้น ๆ ปีการศึกษา ซึ่งมักจะจัดภายในเดือนมิถุนายน ในการสอบคัดเลือกรอบแรกนี้จะมีผู้เข้าแข่งขันในแต่ละสาขาวิชาเกือบ 3,000 คน ข้อสอบมักจะครอบคลุมเนื้อหาวิชานั้นไม่จบหลักสูตรชั้น ม.6 แต่มักจะครอบคลุมเนื้อหาในชั้น ม.4 และ ม.5 ยกเว้นวิชาคอมพิวเตอร์ และดาราศาสตร์ที่ไม่มีในหลักสูตร จะต้องเตรียมตัวให้ตรงกับตามความต้องการของข้อสอบ ด้วยจำนวนผู้เข้าแข่งขันที่มากมายเช่นนี้ และแต่ละคนมีการเตรียมตัวมาอย่างดี จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ลูกจะผ่านรอบคัดเลือกให้เหลือ 50 คนได้ ถ้าลูกรักในวิชาที่จะเข้าแข่งขัน ควรมีการศึกษาล่วงหน้าและหมั่นฝึกทำข้อสอบในปีก่อน ๆ ให้เกิดความชำนาญ สามารถแบ่งกลุ่มวิชานี้ออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ กลุ่มคำนวณ ได้แก่ คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ และฟิสิกส์ กลุ่มที่สองคือ กลุ่มกลาง ใช้การคำนวณ ความเข้าใจ และการทำแล็บ คือ เคมี และกลุ่มที่สามคือ ใช้ความจำและความเข้าใจเป็นหลักคือ ชีววิทยาและดาราศาสตร์ ซึ่งกลุ่มที่สามนี้ต้องมีหลักในการจำและต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้ง จึงจะจำได้ดี ดังนั้นก่อนที่ลูกจะเลือกวิชาใด ก็ควรดูว่าลูกมีความชำนาญทางด้านใดมาก่อน เพื่อจะได้ไม่เสียเวลาในการทุ่มเทให้กับวิชานั้น หลังจากผ่านรอบ 50 คน จะมีการสอบอีกครั้งประมาณเดือนสิงหาคม เพื่อคัดเลือกให้เหลือ 25 คน ในรอบนี้จะเริ่มมีการแจกเหรียญรางวัลสำหรับผู้ที่ทำคะแนนได้ดี จะได้เหรียญทอง เหรียญเงิน และทองแดง ตามลำดับ ครั้นพอถึงเดือนตุลาคม กลุ่มเข้ารอบที่เหลือ 25 คนนี้จะเรียนร่วมกับกลุ่มที่เข้ารอบ 15 คนสุดท้ายของปีที่แล้วที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของประเทศ ซึ่งจะมีอีกประมาณ 10 คน จึงรวมเป็น 35 คนเข้าเรียนวิชานั้น โดยเนื้อหาส่วนใหญ่ลึกกว่าในหลักสูตรของชั้น ม. ปลาย จะมีการเรียนติดต่อกัน 3 สัปดาห์ เสร็จแล้วจะมีการสอบเพื่อคัดเลือกผู้ที่มีคะแนนดีที่สุดให้เหลือ 15 คน เพื่อเข้ารอบสุดท้ายในเดือนมีนาคม ในรอบเดือนมีนาคมนี้ ผู้เข้ารอบทั้ง 15 คน จะได้เรียนเนื้อหาวิชาที่ใช้ในการแข่งขันระหว่างประเทศ ซึ่งมักเป็นเนื้อหาในระดับมหาวิทยาลัย และหลังจากเรียนเสร็จจะมีการสอบเพื่อคัดเลือกให้เหลือเพียง 4-6 คน แล้วแต่สาขาวิชา เพื่อเป็นตัวแทนของประเทศไปแข่งกับต่างประเทศ จะเห็นได้ว่าในแต่ละสาขาวิชามีการแข่งขันที่สูงมาก กว่าจะได้เป็นตัวแทนของประเทศ และยังมีนักเรียนอีกจำนวนมากที่พยายามอยู่หลายปี แต่ไม่เคยได้เป็นตัวแทนเลยก็มี จึงควรดูว่าลูกมีความโดดเด่นในสาขาวิชานั้นจริง ๆ ถ้าไม่เด่นมากนัก ขอให้ใช้เวลาที่เหลือในการเตรียมวิชาอื่นเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยในประเทศจะดีกว่า แต่ถ้าลูกมีแววหรือผลสอบของลูกในแต่ละครั้งได้คะแนนใกล้เคียงกับผู้ที่ได้รับการคัดเลือก ก็สมควรทุ่มเทวิชานั้นในปีต่อไป เพราะถ้าลูกได้เป็นตัวแทนของประเทศ ลูกจะได้รับทุนเพื่อการศึกษาวิชานั้น ๆ ในต่างประเทศจนถึงขั้นปริญญาเอก
แต่ทุนที่นักเรียนปรารถนามากที่สุดก็คือ ทุนเล่าเรียนหลวง นักเรียนต้องสอบถึง 7 วิชา คือ คณิตศาสตร์ อังกฤษ ชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ สังคมศึกษา และภาษาไทย โดยมีคะแนนเต็ม 500 คะแนน ทุกวิชามีคะแนนเต็ม 100 คะแนน ยกเว้น 3 วิชาทางวิทยาศาสตร์ คือ ชีววิทยา เคมี และฟิสิกส์ รวมกันเป็น 100 คะแนน นักเรียนต้องทำคะแนนให้ได้ดีทุกวิชา จึงจะมีโอกาสได้รับทุนนี้ ในปัจจุบันมีนักเรียนจำนวนมากที่ปรารถนาทุนนี้และได้มีการเตรียมตัวเพื่อการสอบทุนนี้เป็นอย่างดี นักเรียนจะต้องเตรียมตัวทุกวิชาอย่างสม่ำเสมอตลอดเวลา และในที่สุดจะมีเพียง 5 คนเท่านั้นที่ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับทุนเล่าเรียนหลวงในสายวิทยาศาสตร์ และอีก 5 คนในสายศิลปศาสตร์ การได้รับทุนเล่าเรียนหลวง นอกจากนักเรียนจะได้รับเกียรติสูงส่งแล้ว ยังมีโอกาสได้รับคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยอันดับต้น ๆ ของโลก เช่น Harvard, MIT, Oxford หรือ Cambridge เป็นต้น
สำหรับข้อสอบในแต่ละวิชานั้นมีประมาณร้อยละ 10 ที่มักจะสูงกว่าในหลักสูตร โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และอังกฤษ ส่วนวิชาชีววิทยามักจะต้องเข้าใจเนื้อหาในหลักสูตรให้หมด สำหรับวิชาสังคมศึกษาและภาษาไทยนั้นจะเป็นการผสมผสานกันของเนื้อหาในหลักสูตรและข่าวภายในและต่างประเทศ นักเรียนควรเขียนบรรยายให้เป็นระบบ การเขียนในเชิงบรรยายจึงมีความสำคัญมากสำหรับ 2 วิชานี้ จะเห็นได้ว่า ข้อสอบได้ครอบคลุมกว้างมาก และใช้ความเข้าใจมากกว่าการท่องจำ ลูกจึงควรนอนพักผ่อนอย่างเพียงพอตลอดเวลา 1-2 ปี ของการเตรียมตัวสอบ การอ่านหนังสืออย่างหามรุ่งหามค่ำโดยไม่หลับไม่นอนนั้นจะบั่นทอนความสามารถของสมองในการจำและการคำนวณ ไม่ควรให้ลูกหมกมุ่นกับการอ่านหนังสือเพียงอย่างเดียว หมั่นชักชวนให้ลูกออกมานอกบ้านเพื่อออกกำลังกายบ้าง และอย่าคาดหวังจากการสอบชิงทุนนี้มาก เพราะสิ่งที่ลูกต้องอ่านและสอบนั้นกว้างขวางมาก และผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนมีความสามารถ เมื่อทำใจได้เช่นนี้ จะไม่มีปัญหาใด ๆ เมื่อลูกพบกับความผิดหวังขึ้นมา
เมื่อรวมทุนต่าง ๆ แล้วในแต่ละปีจะมีนักเรียนไทยมากกว่า 50 คนที่ได้รับทุนศึกษาต่อต่างประเทศ และเมื่อรวมหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา มีนักเรียนไทยที่กลับมารับใช้ประเทศหลายพันคน แต่การขาดการบริหารและการจัดการที่ดีทำให้นักเรียนหัวกะทิเหล่านี้ไม่ได้ใช้ความสามารถเพื่อเป็นแหล่งผลิตความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้แก่ประเทศเลย ส่วนใหญ่เป็นเพียงอาจารย์ที่นำความรู้ที่ได้เรียนมาสอนนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ความรู้ที่ลึกซึ้งหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ยังคงต้องเดินทางไปเรียนยังต่างประเทศเช่นเดิม ส่งผลให้ประเทศขาดอำนาจในการแข่งขัน
เมื่อลูกได้เลือกเส้นทางการศึกษา ทุนต่าง ๆ เหล่านี้ก็คือจุดมุ่งหมายสุดท้ายที่ลูกต้องการ ในระยะนี้พ่อแม่ทำได้เพียงคอยให้กำลังใจ นั่งอยู่ใกล้ๆ เวลาลูกอ่านหนังสือเตรียมสอบ หรือเป็นเพื่อนคุยเวลาลูกต้องการพักผ่อน และหมั่นดึงลูกออกจากการอ่านตำราวันละ 1-2 ครั้ง เพื่อการสนทนาและการเล่นกีฬา การเล่นกีฬาจะช่วยลดความเครียดจากการอ่านตำรา และยังช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง สมองได้รับเอ็นโดรฟินส์ ทำให้เกิดความสบายใจ และยังส่งผลให้ไม่เจ็บป่วยในระยะนี้ ซึ่งการเจ็บป่วยแต่ละครั้งอาจจะรบกวนการอ่านตำราของลูกไม่น้อยกว่า 7 วัน และเช่นเดิมคือ เมื่อลูกสอบเสร็จ ขอให้เลี้ยงฉลองให้กับความมุมานะและความอุตสาหะของลูกโดยไม่ต้องรอผลการสอบ เมื่อลูกมาถึงจุดสุดท้ายในการเรียนชั้นมัธยมปลาย พ่อแม่ที่ดูแลลูกตั้งแต่แรกเกิด หมั่นสอนให้ลูกเป็นคนดีของสังคม และให้ลูกใฝ่ใจเรียนในสิ่งที่เขาถนัด ถือได้ว่าได้ทำหน้าที่สมกับการเป็นพ่อและแม่แล้ว ภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่พ่อแม่ได้คลุกคลีกับลูกตั้งแต่เล็กจนโตจะเหลือเพียงความทรงจำ วันนี้ลูกได้เติบโตขึ้นแล้ว และลูกจะรับหน้าที่แทนพ่อแม่ในการสร้างคนรุ่นใหม่ให้ดีและเก่ง ดังที่พ่อแม่ได้ทำเป็นแบบอย่างไว้
ที่มา : หนังสือ “ เลี้ยงลูกให้เก่งและดี ” หน้า 132-137 พิมพ์ครั้งที่ 7: 2551