ช่วยลูกวางแผน แบ่งเวลา

โดย : อรุณเบิกฟ้า

    
  
วิธีบริหารจัดการเวลา เด็กเล็กเขาก็มีปัญหานี้เหมือนกันนะ

มัวแต่เล่นมากไปจนลืมทำการบ้าน ชอบมาทำโครงงานเอาตอนวินาทีสุดท้าย นอนดึก ตื่นสาย ไปโรงเรียนไม่ทัน เชื่อแน่ค่ะว่า ปัญหาแบบนี้มีด้วยกันทุกบ้าน โดยเฉพาะบ้านที่มีลูกวัย 7-9 ขวบ เพราะเขายังจัดการเรื่องเวลาไม่ค่อยเป็น ไม่รู้ว่าควรจะทำอะไรก่อน-หลัง ไม่รู้ว่ากิจกรรมแต่ละอย่างต้องใช้เวลานานขนาดไหน รู้แต่ว่าอันไหนสนุก ก็ทำได้นานหน่อย แต่อันไหนที่น่าเบื่อ ก็อาจจะลืมไปบ้าง

ยิ่งพอเข้าวัยประถม ที่การบ้านชักเยอะ โครงงานชักแยะ พ่อแม่ต้องช่วยลูกวางแผนก่อนค่ะ ไม่อย่างนั้น คงจะวุ่นวายโกลาหลกันทั้งบ้าน นึกภาพว่าต้องออกไปตระเวนหาซื้อกระดาษย่นมาทำดอกไม้ประดิษฐ์ตอน 3 ทุ่ม หรือรื้อกองนิตยสารทั้งบ้านเพื่อหารูปพระราชกรณียกิจเพียงใบเดียวล่ะก็ ไม่สนุกแน่...

 

     ลองใช้วิธีต่อไปนี้ค่ะ

Ø ขอดูสมุดจดการบ้านของลูกในแต่ละวัน เพื่อตรวจสอบว่าเขามีงานอะไรที่ต้องทำบ้าง แล้วช่วยกันวางแผนตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะบางทีเขาอาจจะมีรายงานหรือโครงงานที่ต้องหาอุปกรณ์และใช้ระยะเวลาในการทำ การเตรียมพร้อมล่วงหน้าจะช่วยให้เขาจัดสรรเวลา เพื่อให้ทยอยทำงานแต่ละชิ้นส่งได้ทันตามกำหนด

Ø กำหนดเวลาทำการบ้านให้แน่นอน โดยใช้ความคิดเห็นของลูกเป็นหลัก เพราะเด็กแต่ละคนมีนิสัยการทำงานที่ไม่เหมือนกัน (เหมือนผู้ใหญ่นั่นล่ะค่ะ) บางคนอาจจะรีบทำทันทีที่กลับถึงบ้าน เพื่อที่จะได้มีเวลาตอนค่ำเหลือไว้ทำอย่างอื่น แต่บางคนอาจจะขอเล่นหรือดูทีวีก่อน แล้วขอทำการบ้านทีหลัง แต่เมื่อเขาเลือกแล้ว ก็ควรปฏิบัติให้เป็นกิจวัตรสม่ำเสมอทุกๆ วัน เพื่อให้เกิดความเคยชิน

Ø กิจวัตรอื่นๆ ของบ้านก็ควรจะดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอ ด้วยเหมือนกัน เช่น หลังอาหารมื้อเย็น อาจจะเป็นเวลาอิสระสำหรับทำกิจกรรมตามใจชอบสักครึ่งชั่วโมง แล้วค่อยอาบน้ำ ก่อนที่จะเข้านอน เสื้อผ้าและรองเท้านักเรียนสำหรับวันพรุ่งนี้ ควรเตรียมไว้ตั้งแต่ตอนกลางคืน เพื่อทุ่นเวลาในตอนเช้า

Ø ให้ความสำคัญกับนิสัยเฉพาะตัวของลูก ในการวางแผนกิจกรรมแต่ละอย่าง เช่น ถ้าลูกของเราเป็นคน

  เชื่องช้า อาจจะประนีประนอมให้เขามาเก็บที่นอนในตอนเย็นหลังเลิกเรียนแทน หรือถ้าเขาเป็นหนอนหนังสืออาจจะต้องมีการตั้งนาฬิกาปลุกเตือนเมื่อถึงเวลาเข้านอน

Ø เผื่อเวลาสั้นๆ ในตอนเช้า สำหรับออกกายบริหาร ทำสมาธิ หรือหลับตาจินตนาการถึงสถานที่ที่สงบสุขด้วยกัน มันจะช่วยให้เราออกจากบ้านด้วยอารมณ์ที่สดชื่นแจ่มใส หรือในบางวันที่เกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น ลืมทำการบ้าน หรือหาอุปกรณ์การเรียนไม่เจอ ก็ยังพอมีเวลาที่จะแก้ไขสถานการณ์

Ø เขียนกิจกรรมของคนในครอบครัวลงบนปฏิทินขนาดใหญ่ แล้วแขวนไว้ในที่ที่มองเห็นได้ชัด เพื่อที่แต่ละคนจะได้รู้ว่ามีอะไรที่ต้องทำในแต่ละวัน หรือแต่ละสัปดาห์ และยังได้รู้ว่าคนอื่น ๆ ในครอบครัวมีธุระอะไรด้วยอย่าลืม! เหลือเวลาสบายๆ ที่เขาจะได้ใช้มันแบบอิสระบ้าง เป็นเวลาที่เขาสามารถเล่นเกมคอมพิวเตอร์ เตะฟุตบอล หรือแม้แต่ดูโทรทัศน์รายการโปรด เป็นเวลาที่เขาได้ผ่อนคลายจากความตึงเครียด และตารางเวลาที่ตายตัว มันให้โอกาสเด็ก ๆ ในการเรียนรู้วิธีที่จะหาความสุข และจัดการกับความเบื่อหน่ายด้วยตัวเอง และถึงแม้ว่าเราจะฝึกให้เขารู้จักวินัยและความรับผิดชอบ แต่ถ้ามันเกิดข้อผิดพลาดขึ้นมาบ้าง ก็สอนให้เขารับมือมันด้วยความสุขนะคะ ถึงจะลืมเอาชุดพละไป หรือส่งรายงานช้าไปสักวันสองวัน ก็ไม่ได้แปลว่าอนาคตของเขาจะล้มเหลวสักหน่อย

ที่มา http://www.momypedia.com (จาก: นิตยสาร Life & Family )