สร้างวินัย.....ด้วยวิธีการเชิงบวก

กองบรรณาธิการนิตยสารรักลูก

ปัญหาลูกดื้อ สอนไม่จำ ชอบทำตัวสวนทางกับสิ่งที่พ่อแม่อยากให้เป็น ต่อต้านไม่เชื่อฟัง เถียงทุกเรื่อง
สิ่งเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นกับหลายๆ ครอบครัวที่กำลังมีลูกอยู่ในวัยรุ่น ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ ทำไมลูกที่เคยน่ารักน่าเอ็นดูเมื่อตอนเป็นเด็กเล็กๆ พอเป็นวัยรุ่นถึงได้กลายเป็นคนละคนไปได้ ยิ่งพ่อแม่ไม่เข้าใจพยายามใช้วิธีการควบคุม บังคับ ตำหนิ ติเตียน ดุด่า เพื่อสร้างวินัยให้กับลูกวัยรุ่นมากเท่าใด พฤติกรรมสวนทางก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น

ต่อต้าน เกิดขึ้นตั้งแต่เด็ก
ความจริงเรื่องการต่อต้านผู้ใหญ่ ต่อต้านสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบเกิดขึ้นตั้งแต่เด็กยังเล็กๆ แล้ว แต่เนื่องจากเด็ก
ยังเล็กอยู่ การแสดงออกจึงยังไม่ชัดเจน พอเป็นวัยรุ่น ร่างกายมีความสมบูรณ์พร้อม คล่องตัวมากขึ้น การแสดงออกของ การต่อต้านจึงเด่นชัดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกายหรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่างๆ การที่เด็กวัยรุ่นต่อต้านสิ่งที่เราสอน ไม่ใช่ความบกพร่องของวิธีการสอน ในช่วงวัยนี้เพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นผลของการสอนที่เกิดก่อนหน้านี้ เป็นผลของกระบวนการสอนที่ผิด โดยเฉพาะในเรื่องของการปลูกฝังวินัยและคุณธรรม เราใช้วิธีการปลูกฝังเรื่องคุณธรรมให้เด็กของเราอยู่สองวิธีเป็นหลัก คือ การสั่งสอน และ การดุด่าว่ากล่าวหรือลงโทษเมื่อทำความผิด และทั้งสองวิธีนี้ถูกใช้กับเด็กแทบทุกช่วงอายุ ผลของมันนอกจากจะไม่สามารถสร้างวินัยให้กับเด็กได้อย่างสมบูรณ์แล้ว ยังก่อให้เกิดพฤติกรรมตรงกันข้ามได้อีกด้วย เพราะเด็กที่ถูกดุด่าว่ากล่าวบ่อยๆ จะรู้สึกเบื่อ ไม่มีความสุข อยากหนี รู้สึกตัวเองไร้ค่า หลายคนเกิดพฤติกรรมต่อต้าน ดังนั้น การปลูกฝังคุณธรรม การปลูกฝังเรื่องความดีให้กับเด็กของเราด้วยวิธีการดังที่กล่าวจึงไม่ก่อให้เกิดผลแต่อย่างใด

มนุษย์เกิดมาพร้อมจิตใจที่ใฝ่ดี
คาร์ล โรเจอรส์ นักจิตวิทยาแนวมนุษยนิยม เชื่อว่ามนุษย์เกิดมาพร้อมกับจิตใจที่ใฝ่ดี การทำให้มนุษย์รู้จัก
ความดีในตัวเองจะทำให้มนุษย์สามารถพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นคนดีได้
ส่วนพุทธศาสนาสอนเราว่าจิตของมนุษย์นั้นเป็นจิตประภัสสรมาตั้งแต่เกิด แต่ด้วยกิเลสแท้ๆ ที่ทำให้จิต
ประภัสสรนั้นมีความขุ่นมัว
นักวิทยาศาสตร์ทางด้านสมอง จากมหาวิทยาลัยร็อคกี้เฟลเลอร์พบว่า สมองมนุษย์เกิดมาพร้อมกับความ
ยุติธรรมและเที่ยงธรรมอยู่แล้ว พวกเขาอธิบายว่ามนุษย์มีความกลัวบางอย่างซึ่งเป็นสัญชาตญาณที่มีมาแต่กำเนิด และด้วยความกลัวนี้เองที่ทำให้มนุษย์เกิดความรู้สึกกลัวว่าคนอื่นๆ ก็อาจจะได้รับอันตรายเช่นเดียวกับที่ตนเองอาจจะได้รับก็ได้ ความกลัวว่าคนอื่นจะเป็นอันตรายนี่แหละคือจุดเริ่มต้นของ “การรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา” หรือ “Empathy” ซึ่งเป็นต้นตอสำคัญในการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมระดับที่สูงขึ้นต่อไป
แนวคิดทางศาสนา จิตวิทยา และความรู้ว่าด้วยวิทยาศาสตร์ของสมอง ต่างยืนยันว่าสมองมนุษย์เกิดมา
พร้อมกับความดีอยู่แล้ว แต่ด้วยกระบวนการสอนที่ไม่สามารถทำให้มนุษย์รู้จักตนเองที่เรานำมาใช้นั่นเอง ที่ทำให้คุณธรรมในมนุษย์หดหายไป จนกระทั่งกลายเป็นคนที่ไม่มีคุณธรรมไปในที่สุด ซึ่งกระบวนการที่ว่านั่นก็คือการสั่งสอนและการดุด่าว่ากล่าวนั่นเอง

การปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ด้วยวิธีการเชิงบวก
คือแนวคิดที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมในเด็ก ที่มีความสอดคล้องกับธรรมชาติของ
สมอง ไม่ก่อให้เกิดผลที่ตรงกันข้าม เป็นแนวคิดที่เน้นมาตรการเชิงบวก เน้นการให้เด็กได้เห็นตนเอง เพื่อใช้สิ่งเหล่านี้เป็นเข็มทิศบอกทางของการเดินไปสู่การเป็นคนดี หลักการคร่าวๆ ของแนวคิดนี้คือ
ผู้ใหญ่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี เพราะสมองของมนุษย์มีเซลล์กระจกเงาที่ทำหน้าที่เลียนแบบอยู่
ตลอดเวลา ถ้าผู้ใหญ่เป็นแบบอย่างที่ไม่ดี เซลล์กระจกเงาก็จะซึมซับแบบไม่ดีเข้าไป ความเป็นไทยมีสิ่งดีๆ เยอะมาก ทำอย่างไรผู้ใหญ่จะเป็นแบบอย่างในเรื่องของความเป็นไทยให้มากขึ้น
ทำถูกแล้วชื่นชม เมื่อไหร่เด็กทำดีก็ต้องให้คำชม คำชมในพฤติกรรมดีๆ จะทำให้เด็กเกิดความอยาก
จะทำแบบนั้นอีก หมั่นหาข้อดีของเด็กแล้วนำมาแสดงความชื่นชม
สอนให้รู้จัก “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” สอนให้ลูกรู้จักและเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่น เช่น ให้เขารู้จักความ
เจ็บปวดของผู้อื่น ความน่าสงสารของผู้อื่น ความยากลำบากของผู้อื่น สิ่งเหล่านี้จะทำให้เขาเกิดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น นี่คือที่มาของคุณธรรม

คุณพ่อคุณแม่ที่เป็นแฟนประจำของ “รักลูก” อาจบอกว่าลูกของตัวเองยังเล็ก ยังไม่จำเป็นต้องสอนเรื่องเหล่านี้ นั่น
คือความเข้าใจผิดครับ ที่ผมเขียนถึงเรื่องนี้ก็เพราะต้องการให้คุณพ่อคุณแม่แฟนของ “รักลูก” ปลูกฝังเรื่องนี้ให้ลูกอย่างถูกต้องตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ ในขณะที่สมองของเขากำลังพัฒนาอย่างเต็มที่ หากปล่อยให้ทุกอย่างผ่านไป การพัฒนาก็จะเกิดได้ไม่ดี และยิ่งไปเจอกับวิธีการที่ไม่ถูกต้องเข้าด้วยแล้ว ปัญหาต่างๆ ก็จะยิ่งมีมากขึ้น แก้ไขได้ยากมากขึ้น ลองศึกษาดูครับ ผมเชื่อว่า การสร้างวินัย...ด้วยวิธีการเชิงบวก ไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก ขอเพียงทำความเข้าใจในหลักการสักเล็กน้อย เราก็สามารถที่จะนำแนวคิดนี้ไปใช้ประโยชน์กับการพัฒนาลูกหลานของเราได้ครับ

ข้อมูลจาก : นิตยสาร   
ฉบับที่ 306 เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2551