โครงการการศึกษาพิเศษ 1 (พ.1)
การดำเนินการจัดการเรียนการสอน เฉพาะนักเรียนโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ตั้งแต่ ปีการศึกษา 2527 เป็นต้นมา
1. หลักการ
1.1 การจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disabilities) ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มัธยมศึกษาปีที่ 6
1.2 นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ คือ นักเรียนที่มีปัญหาในการฟัง การพูด การสะกดคำ การอ่าน การเขียน การคิดคำนวณ การใช้เหตุผล และพฤติกรรมทางสังคม
|
|
2. การรับนักเรียน
2.1 อาจารย์ประจำชั้น หรืออาจารย์ผู้สอนรวบรวมข้อมูล
2.2 ศูนย์บริการจิตวิทยาและแนะแนว ประเมินนักเรียนด้วยกระบวนการทางจิตวิทยา
2.3 นักจิตวิทยาหรือแพทย์ วินิจฉัยว่า นักเรียนมีความบกพร่องทางการเรียนรู้
2.4 คณะกรรมการบริหารศูนย์วิจัยการศึกษาเพื่อเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ พิจารณารับนักเรียนเข้าโครงการฯ
2.5 ผู้ปกครองลงนามยินยอม
|
|
3. การจัดการเรียนการสอน
3.1 แนวทาง
3.1.1 นักเรียนเรียนร่วมกับนักเรียนปกติ โดยมีอาจารย์จากโครงการฯ ช่วยดูแลในเรื่องการทำความเข้าใจในบทเรียนเพิ่มเติม และ ช่วยเหลือในการทำกิจกรรมอื่นๆ
3.1.2 นักเรียนเรียนร่วมกับนักเรียนปกติในวิชาต่างๆ ยกเว้น วิชาทักษะ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์ ที่ต้องออกมาเรียนในห้องโครงการฯ
|
|
3.2 รูปแบบ
3.2.1 ทดสอบความรู้พื้นฐานของนักเรียนในวิชาทักษะ
3.2.2 จัดหลักสูตรที่เหมาะสมสำหรับนักเรียน โดยยึดหลักสูตรแกนกลางของโรงเรียน ไม่มีการบูรณาการระหว่างวิชา นอกจากบูรณาการในวิชานั้นๆ
3.3.3 ดำเนินการสอน โดยเน้นการสอนเป็นรายบุคคล (Individualized Educational Plan : IEP) เพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ตามศักยภาพของตนเอง
|
|
3.3 การประเมินผล
มีการประเมินผลการเรียนเป็นระยะ รวมถึงการประเมินผลปลายภาค และ ปลายปี เพื่อสรุปความก้าวหน้าของนักเรียนเป็นรายบุคคล ทั้งระดับประถมศึกษาและ มัธยมศึกษา ใช้แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ ทางการเรียน และประเมินผลการเรียนตาม IEP โดยผู้สอนต้องประเมินทั้งคุณลักษณะ ทักษะกระบวนการ และผลสอบ/ผลงาน โดยมีรายละเอียดดังนี้
คลิ๊กที่ภาพเพื่อดูแบบชัดเจน
|
|
4. การเตรียมบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
4.1 การให้การศึกษาและการทำความเข้าใจแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในโรงเรียน ซึ่ง ประกอบด้วย อาจารย์ ผู้ปกครอง นักเรียน เพื่อให้ทราบถึงหลักการ วัตถุประสงค์ วิธีการดำเนินงาน และประโยชน์ที่ทุกฝ่ายจะได้รับ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากความเข้าใจและเจตคติของบุคคลที่อยู่แวดล้อมเด็กกลุ่มนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผลสำเร็จของการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้
4.2 มีการประชุมอาจารย์ในโครงการฯ ทุกสัปดาห์ เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับลักษณะของนักเรียนแต่ละคน การแก้ไขพฤติกรรมที่เป็นปัญหา แนวทางที่ควรปฏิบัติต่อนักเรียน วิธีการจัดการเรียนการสอน รวมทั้งบทบาทของอาจารย์ในโครงการฯ ที่ปฏิบัติงานในห้องเรียนปกติ
4.3 เมื่อเริ่มต้นปีการศึกษาใหม่ จะมีการรายงานส่งต่อกรณีศึกษาของนักเรียนแต่ละคน ไปยังการประชุมในระดับชั้น เพื่อให้อาจารย์ทั้งระดับได้รู้จักนักเรียนเบื้องต้น ทำให้ง่ายต่อการจัดการเรียนการสอนต่อไป
4.4 มีการพัฒนาอาจารย์ในโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง ด้วยการเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมาบรรยาย ตลอดจนส่งอาจารย์ไปฝึกอบรมหรือศึกษาต่อทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
|
|
5. การประสานงานและความร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้อง
5.1 อาจารย์ในโครงการฯ และผู้ปกครอง ประชุมร่วมกันปีการศึกษาละ 2 ครั้ง เป็นการ ประชุมกลุ่มย่อยทีละระดับชั้น เพื่ออภิปรายถึงพัฒนาการและปัญหาของนักเรียนแต่ละคน ตลอดจนวางแผนร่วมกันในการแก้ไขปัญหา การประชุมดังกล่าวมีประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะก่อให้เกิดความเข้าใจดีต่อกันระหว่างบ้านและโรงเรียน ผู้ปกครองได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
|
|
5.2 นักจิตวิทยาโรงเรียน ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา โดยเข้าสังเกตการสอนของครูและ พฤติกรรมนักเรียนเป็นระยะๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่ออภิปรายพัฒนาการและปัญหาของนักเรียน รวมทั้งปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของอาจารย์ในโครงการฯ ช่วยให้อาจารย์สามารถวางแผน ในการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ นักจิตวิทยาโรงเรียนจะเป็นผู้ประสานงานกับจิตแพทย์ ในกรณีที่จำเป็น
|
|
6. กิจกรรมเสริมหลักสูตร
6.1 โครงการพัฒนาทักษะชีวิต เพื่อให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ในการพัฒนาทักษะใน ด้านต่างๆ มีสัมพันธภาพและความเข้าใจอันดีต่อกัน ได้ข้อคิดจากกิจกรรมต่างๆ และก่อให้เกิดความสุขสนุกสนาน
6.2 โครงการพี่พบน้อง เพื่อให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ตรงจากพี่ๆที่เคยศึกษาอยู่ในห้อง โครงการการศึกษาพิเศษมาเล่าประสบการณ์ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติตน ที่ทำให้ประสบความสำเร็จทั้งด้านการเรียนและการทำงาน
|
|
|