bg
bg
bg
bg
bg
bg
bg
bg
bg
bg
bg
bg
 

 

 

โครงการการศึกษาพิเศษ 3 (พ.3)

 

          การดำเนินการจัดการเรียนการสอน สำหรับนักเรียนที่มีวุฒิภาวะไม่สมวัย ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1, 2 ตั้งแต่ ปีการศึกษา 2538 เป็นต้นมา

 

1. หลักการ

           การจัดการศึกษาสำหรับ นักเรียนที่มีวุฒิภาวะไม่สมวัย ( Immaturity) ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1,2

นักเรียนที่มีวุฒิภาวะไม่สมวัย คือ นักเรียนที่มีความบกพร่อง ดังนี้

• การรับรู้และทักษะการเรียนรู้

• การช่วยเหลือตนเอง

• การสื่อสารกับผู้อื่น

• การอยู่ร่วมกับผู้อื่น

• ความรู้พื้นฐานทางภาษาและคณิตศาสตร์

 

2. การรับนักเรียน

2.1 คณะกรรมการระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการประเมินนักเรียน เพื่อคัดแยกนักเรียนที่มีวุฒิภาวะไม่สมวัยออกจากห้องเรียน เพื่อจัดเข้าห้องเรียนในโครงการฯ และส่งชื่อให้คณะกรรมการบริหารศูนย์วิจัยการศึกษาเพื่อเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษพิจารณา

 

2.2 คณะกรรมการบริหารศูนย์การศึกษาเพื่อเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษเป็นผู้อนุมัติ นักเรียนเข้าเรียนในโครงการฯ

 

2.3 จัดการประชุมระหว่างอาจารย์และผู้ปกครอง เพื่อให้ผู้ปกครองลงนามยินยอมให้ทาง โครงการฯ ช่วยเหลือนักเรียน

 

3. การจัดการเรียนการสอน

3.1 แนวทาง
นักเรียนที่คณะกรรมการบริหารฯได้พิจารณาแล้วว่า สมควรจะเข้าเรียนในโครงการช่วยเหลือนักเรียนที่มีวุฒิภาวะไม่สมวัย นักเรียนจะเข้าเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1/1 และต่อเนื่องไปจนถึงชั้น ป.2/1 จำนวนนักเรียนไม่เกิน 30 คน อาจารย์ 3 คน เป็นผู้รับผิดชอบแต่ละระดับ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดในการจัดการเรียนการสอน และดูแลนักเรียนอย่างใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพ
3.2 รูปแบบ
การจัดการเรียนการสอน สำหรับนักเรียนโครงการฯ พ.3 ใช้หลักสูตรของระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ 2 เป็นฐานของการจัดหลักสูตรบูรณาการกระบวนการเรียนรู้ เป็นการบูรณาการสาระการเรียนรู้ต่างๆ เช่น สังคมศึกษา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ฯลฯ โดยใช้ทักษะทางภาษาไทย ทั้งการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียนเป็นฐานของการบูรณาการ นักเรียนจะได้เรียนรู้สาระต่างๆ ครบตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ในหลักสูตรของระดับชั้น โดยมีการเรียนเสริมในวันเสาร์และภาคฤดูร้อน
3.3 การประเมินผล
ใช้หลักการและเกณฑ์เดียวกับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ 2 คือ
3.3.1. การประเมินผลเป็นรายปี ประกอบด้วย

• การประเมินผลภาคต้นครั้งที่ 1

• การประเมินผลภาคต้นครั้งที่ 2

• การประเมินผลภาคปลายครั้งที่ 1

• การประเมินผลภาคปลายครั้งที่ 2

 

• สรุปผลการเรียนตลอดปี

3.3.2. ประเมินผลรายปี จะประเมินผลดังต่อไปนี้
• ประเมินผลตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่ม โดยนักเรียนต้องผ่านทุกรายวิชาของ ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และมีระดับคะแนนสรุปผลการเรียนรายวิชาไม่ต่ำกว่า 1

• ประเมินผลกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ประเมินผ่านหรือไม่ผ่าน โดยนักเรียนต้องมี เวลาเข้าร่วมกิจกรรมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80

• ประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนทางด้านคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม โดยอยู่ภายใต้กรอบคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่โรงเรียนกำหนด คือ รอบรู้ สู้ชีวิต จิตมั่นคง ดำรงคุณธรรม

หมายเหตุ

1. อัตราส่วน คุณลักษณะ : ทักษะกระบวนการ : ผลสอบ / ผลงาน ใช้เช่นเดียวกับหลักสูตรปกติ

2. นักเรียนในโครงการการศึกษาพิเศษ 3 จะมีการยืดหยุ่นเวลาในการเรียนการสอนและการประเมินผล

4. การเตรียมบุคลากรที่เกี่ยวข้อง

4.1 การให้การศึกษาและทำความเข้าใจกับบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในโรงเรียน ซึ่งประกอบด้วย อาจารย์ ผู้ปกครอง นักเรียน และเจ้าหน้าที่บริการฝ่ายต่างๆ เกี่ยวกับหลักการ วัตถุประสงค์ วิธีดำเนินงานและประโยชน์ที่ทุกฝ่ายจะได้รับ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากความเข้าใจ และเจตคติของบุคคลที่อยู่แวดล้อมนักเรียนกลุ่มนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผลสำเร็จของการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษ

4.2 อาจารย์ที่ปฏิบัติงานในโครงการฯ เข้ารับการอบรมและฝึกปฏิบัติงานในห้องเรียน โดย มีอาจารย์ผู้มีประสบการณ์เป็นพี่เลี้ยงแนะนำ

 

4.3 มีการประชุมอาจารย์ทุกสัปดาห์ เพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน เกี่ยวกับลักษณะของนักเรียน แต่ละคน พฤติกรรมที่เป็นปัญหา แนวทางที่ควรปฏิบัติต่อนักเรียน วิธีการจัดการเรียน การสอน รวมทั้งบทบาทของอาจารย์โครงการฯ ที่ปฏิบัติงานในห้องเรียนปกติ

 

4.4 เมื่อเริ่มปีการศึกษาใหม่ จะมีการรายงานส่งต่อกรณีศึกษาของนักเรียนแต่ละคน ในที่ ประชุมระดับชั้น เพื่อให้ได้รู้จักนักเรียน ทำให้ง่ายต่อการจัดการเรียนการสอน

 

4.5 มีการพัฒนาอาจารย์ในโครงการอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมาบรรยาย ตลอดจนส่งอาจารย์ไปฝึกอบรมหรือศึกษาต่อ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 

5. การประสานงานและความร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้อง

คณะกรรมการดำเนินงานโครงการฯ อาจารย์ที่ปฏิบัติงานในโครงการฯ ผู้ปกครอง และ นักจิตวิทยาประชุมปรึกษา เกี่ยวกับนักเรียนเป็นรายกรณี ภาคเรียนละ 1 ครั้ง เพื่ออภิปรายถึงความก้าวหน้าทั้งด้านการเรียน พฤติกรรม รวมทั้งปัญหาต่างๆ แนวทางปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาและ ส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาของนักเรียนในโครงการฯ

6. กิจกรรมเสริมหลักสูตร

6.1 การสอนเสริมทางวิชาการ ในวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ และศิลปะ ทุกวันเสาร์ 9.00 – 12.00 น. ตลอดปีการศึกษา

 

6.2 การสอนเสริมภาคฤดูร้อน ในวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์และศิลปะในเดือนเมษายน วันจันทร์ – ศุกร์ ตลอดเดือน

 

6.3 กิจกรรมฝึกพูด สำหรับนักเรียนที่มีปัญหาทางด้านการพูดตลอดปีการศึกษา

 

6.4 กิจกรรมบำบัด สำหรับนักเรียนที่มีปัญหาทางด้านการทำงานประสานสัมพันธ์ของ กล้ามเนื้อต่างๆตลอดปีการศึกษา

 

6.5 กิจกรรมพัฒนาทักษะ กลไกการเคลื่อนไหว และประสานสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อ จัดให้กับนักเรียนทุกคนในโครงการฯ พ.3 ตลอดปีการศึกษา

กลับสู่ด้านบน

 

 

 

 

ศูนย์วิจัยการศึกษาเพื่อเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ
โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา
ตู้ ปณ.1050 ปณฝ.เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10900
โทรศัพท์ 02-9428800-9 ต่อ 701

 

 

จำนวนผู้เข้าชมตั้งแต่ 01/01/2552:

web statistics