bg
bg
bg
bg
bg
bg
bg
bg
bg
bg
bg
bg
 

 

การบ่งชี้ คัดกรอง และวินิจฉัยบุคคลที่มีภาวะสมาธิสั้น บกพร่องทางการเรียนรู้ และออทิซึม

The Identification, Screening, and Diagnoses for Person with Attention Deficit Hyperactivity Disorder, and Learning Disorders, and Pervasive Developmental Disorders/Autism

 

ดารณี อุทัยรัตนกิจ1 ภาวิณี ศรีสุขวัฒนานันท์1 ณัฐวัฒน์ งามสมุทร2 ฐาปณีย์ แสงสว่าง1
และ ชนิกานต์ วังวิเศษกุศล1

Daranee Utairatanakit1, Pawinee Srisukvatananan1, Nattawat Ngamsamut2 , Thapanee Saengsawang1 , and Chanikarn Wungwisesgusol1

 

 

บทคัดย่อ

 

     การวิจัยนี้ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาและการแพทย์ในการใช้แบบคัดกรองนักเรียนที่มีภาวะสมาธิสั้น บกพร่องทาง การเรียนรู้ และออทิซึม ได้อย่างถูกต้องและบ่งชี้ คัดกรอง และวินิจฉัยบุคคลที่มีภาวะบกพร่องทั้ง 3 กลุ่ม โดยฝึกอบรมบุคลากรที่สนใจ จำนวน 660 คน จาก 5 จังหวัด ใน 5 ภูมิภาค และคณะผู้วิจัยได้คัดเลือกบุคลากรที่เข้าร่วมการวิจัย จำนวน 36 คน เพื่อนำแบบคัดกรองไปใช้คัดกรองนักเรียน ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 ผลการวิจัยสรุปว่า 1) บุคลากรที่เข้าร่วมการวิจัย ร้อยละ 69.44 สามารถตรวจและแปลผลแบบคัดกรองได้ถูกต้องผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ 90% 2) ผลการประเมินพฤติกรรมนักเรียนโดยครู พบนักเรียนที่มีภาวะบกพร่องทั้ง 3 กลุ่ม จำนวน 555 คน โดยมีนักเรียนที่มีพฤติกรรมภาวะสมาธิสั้นร่วมกับภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้จำนวนมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 60.36 3) พบความสอดคล้องในระดับสูงมากระหว่างผลการวินิจฉัยจากจิตแพทย์และผลการบ่งชี้จากแบบคัดกรอง และ 4) นักเรียนที่มีภาวะบกพร่องทั้ง 3 กลุ่ม ร้อยละ74.78 มีระดับสติปัญญาที่วัดด้วยแบบทดสอบการคิด วิเคราะห์ และการให้เหตุผลเชิงนามธรรม อยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยขั้นต่ำถึงมีความบกพร่อง

 

 

ABSTRACT

 

     The objective of this research project was to develop personals in education and medication fields in order that they can effectively use the screening instrument KUS–SI Rating Scales: ADHD/ LD/ Autism (PDDs), identifying and diagnosing person with Attention Deficit Hyperactivity Disorder (ADHD), Learning Disorders (LD), and Autism. The training was for 660 interested participants from 5 provinces in 5 regions. The researchers selected 36 participants to implement the screening instrument with students from grade 1 – 6. The results of the research were 1) 69.44% of the selected participants was capable to pass the minimum standard of 90% in verifying and interpreting the screening instrument. 2) The result of teachers’ evaluation of the three groups of students with disabilities revealed that the highest number (or 60.36 %) of the students were students with ADHD and LD. 3) The results of psychological diagnosis by the psychiatrist and the screening by the teachers were higher correlated. 4) The analytical thinking and abstract reasoning abilities of 74.78% of those 3 groups special needs students were at the low average to intellectual deficit level.

 

Keywords: Attention Deficit Hyperactivity Disorder, Learning Disorders, Autism, Screening, and Diagnoses

D Utairatanakit:fedudnu@ku.ac.th

-------------------------------------------------

1 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ Faculty of Education, Kasetsart University

2 โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Yuwaprasart Waitharyopathum Child psychiatric Hospital, Department of Mental Health Services, Ministry of Public Health

 

 

คำนำ

 

วัตถุประสงค์

 

     เพื่อพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาและการแพทย์ในการใช้แบบคัดกรองนักเรียนที่มีภาวะสมาธิสั้น บกพร่องทางการเรียนรู้ และออทิซึม และบ่งชี้ คัดกรอง และวินิจฉัยบุคคลที่มีภาวะสมาธิสั้น บกพร่องทางการเรียนรู้ และออทิซึม

 

ตรวจเอกสาร

 

      จากผลการดำเนินงานวิจัย การพัฒนาศักยภาพนักเรียนที่มีภาวะ ออทิซึม สมาธิสั้น และบกพร่องทางการเรียนรู้ : ระยะที่ 1 การสร้างกระบวนการและเครื่องมือที่เป็นมาตรฐานสำหรับการคัดกรองนักเรียน ได้ก่อให้เกิดผลผลิต “แบบคัดกรองนักเรียนที่มีภาวะสมาธิสั้น บกพร่องทางการเรียนรู้ และออทิซึม” [KUS–SI Rating Scales:ADHD/ LD/ Autism (PDDs)] ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้คัดกรองนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 อายุระหว่าง 6 – 13 ปี 11 เดือน ที่มีภาวะสมาธิสั้น บกพร่องทางการเรียนรู้ และออทิซึม (ดารณี, 2548) เป็นเครื่องมือทางจิตวิทยาที่เป็นมาตรฐานที่ได้รับการพัฒนาด้วยกระบวนการทางเทคนิคทั้งเชิงประจักษ์ และตรรกศาสตร์ และสร้างเกณฑ์ปกติระดับประเทศด้วยกลุ่มตัวอย่างมาตรฐานระดับประเทศ (ดารณี, 2550) ดังนั้น ผู้ที่นำแบบคัดกรอง KUS–SI Rating Scales: ADHD/ LD/ Autism (PDDs) ไปใช้ต้องดำเนินการคัดกรองด้วยกระบวนการที่เป็นมาตรฐาน ทางคณะผู้วิจัยได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้ทำการศึกษาวิจัยต่อเนื่องโดยมุ่งพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาและการแพทย์ให้สามารถใช้แบบคัดกรอง KUS–SI Rating Scales: ADHD/ LD/ Autism (PDDs) เพื่อบ่งชี้ คัดกรองนักเรียนที่มีภาวะบกพร่องทั้ง 3 กลุ่ม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2549

 

     จากการศึกษาระบบการให้คะแนนแบบทดสอบทางสติปัญญา Draw – A – Person : A Quantitative Scoring System (DAP) พบว่า เมื่อบุคลากรที่มีคุณสมบัติเป็นผู้ให้การทดสอบได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดได้รับการฝึกอบรมกระบวนการบริหารการทดสอบและฝึกปฏิบัติการตรวจให้คะแนนรูปวาดจากผู้เชี่ยวชาญแล้ว ผู้รับฝึกอบรมต้องฝึกปฏิบัติการตรวจให้คะแนนรูปวาดในแบบทดสอบความสามารถ I และ II โดยกำหนดเกณฑ์ต่ำสุด คือต้องตรวจให้คะแนนรูปวาดได้ถูกต้อง 90% จึงจะถือว่าผู้รับการฝึกอบรมมีทักษะการตรวจให้คะแนนเพียงพอที่จะตรวจให้คะแนนรูปวาดได้อย่างถูกต้อง เชื่อถือได้ และสามารถดำเนินการทดสอบเด็กด้วยแบบทดสอบ DAP ได้ต่อไป (Naglieri, 1988) แบบคัดกรอง KUS–SI Rating Scales: ADHD/ LD/ Autism (PDDs) เป็นเครื่องมือทางจิตวิทยาประเภทหนึ่ง ดังนั้น ผู้วิจัยจึงกำหนดเกณฑ์ต่ำสุดของการตรวจให้คะแนนแบบ คัดกรองได้ถูกต้อง 90% เช่นเดียวกับแบบทดสอบทางสติปัญญา DAP เพื่อกำหนดว่าผู้ผ่านการฝึกอบรมและฝึกปฏิบัติการใช้แบบคัดกรอง KUS–SIRating Scales: ADHD/ LD/ Autism (PDDs) สามารถใช้แบบคัดกรองได้อย่างถูกต้อง และเชื่อถือได้

 

 

อุปกรณ์และวิธีการ

 

     การวิจัยครั้งนี้มีวิธีการดำเนินการวิจัยตามวัตถุประสงค์การวิจัย ดังนี้

 

     1. การพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาและการแพทย์ให้สามารถใช้แบบคัดกรองนักเรียนที่มีภาวะสมาธิสั้นบกพร่องทางการเรียนรู้ และออทิซึม

          1.1 กำหนดวัตถุประสงค์ของการฝึกอบรมบุคลากรทางการศึกษาและการแพทย์เพื่อให้บุคลากรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะของนักเรียนที่มีภาวะสมาธิสั้น บกพร่องทางการเรียนรู้ และออทิซึม และสามารถใช้แบบคัดกรอง KUS–SI Rating Scales: ADHD/ LD/ Autism (PDDs) ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

           1.2 กำหนดหลักสูตรฝึกอบรมและคุณสมบัติของผู้เข้ารับการฝึกอบรมการใช้แบบคัดกรอง

               1.2.1 กำหนดหลักสูตรฝึกอบรม ประกอบด้วย ลักษณะและความต้องการพิเศษ พัฒนาการด้านต่างๆ การจัดการกับพฤติกรรมอย่างสร้างสรรค์ การจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับความต้องการพิเศษ ลักษณะ วิธีการใช้ และการฝึกปฏิบัติการใช้แบบคัดกรอง KUS–SI Rating Scales: ADHD/ LD/ Autism (PDDs)

               1.2.2 คุณสมบัติของผู้เข้ารับการฝึกอบรม ประกอบด้วย บุคลากรทางการศึกษาหรือการแพทย์ที่จบการศึกษาขั้นต่ำระดับปริญญาตรี ปฏิบัติงานในหน่วยงานทางการศึกษาหรือการแพทย์ และมีประสบการณ์การทำงานกับนักเรียนที่มีภาวะสมาธิสั้น บกพร่องทางการเรียนรู้ และ ออทิซึม

          1.3 กำหนดระยะเวลาและสถานที่ฝึกอบรม หลักสูตรฝึกอบรมมีกำหนดระยะเวลา 2 วัน รวม 12 ชั่วโมง จัดขึ้นใน 5 จังหวัด5 ภูมิภาค ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น สงขลา พิษณุโลก สุพรรณบุรี และกรุงเทพมหานคร

          1.4 รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ หัวหน้าโครงการวิจัย เป็นวิทยากรฝึกอบรมตามหลักสูตร จัดขึ้นเมื่อภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2549

          1.5 บุคลากรทางการศึกษาและการแพทย์ที่สนใจเข้ารับการฝึกอบรม มีจำนวนทั้งสิ้น 660 คน จาก 320 หน่วยงาน

      1.6 ผู้เชี่ยวชาญติดตามผลการใช้แบบคัดกรอง KUS–SI Rating Scales: ADHD/ LD/ Autism (PDDs)ของบุคลากรที่เข้ารับการฝึกอบรม

          1.7 ตรวจประเมินประสิทธิภาพของผู้ประเมินในการคำนวณอายุนักเรียน และแปลผลคะแนนแบบคัดกรอง KUS–SI Rating Scales: ADHD/ LD/ Autism (PDDs) เฉพาะบุคลากรครูที่ผ่านการฝึกอบรม จำนวน 36 คน จาก 36 โรงเรียน ที่แจ้งความประสงค์เป็นเครือข่ายการวิจัย และปฏิบัติตามข้อตกลงของเครือข่ายการวิจัย

     2. การบ่งชี้ และคัดกรองบุคคลที่มีภาวะสมาธิสั้น บกพร่องทางการเรียนรู้ และออทิซึม แบ่งวิธีดำเนินการเป็น 2 ขั้นตอน ดังนี้

          2.1 การบ่งชี้ และคัดกรองนักเรียนที่มีแนวโน้มภาวะบกพร่องทั้ง 3 กลุ่ม โดยครู

               2.1.1 ครูที่ผ่านการฝึกอบรมการใช้แบบคัดกรอง KUS–SI Rating Scales: ADHD/ LD/ Autism (PDDs) จำนวน 36 คน จาก 36 โรงเรียน นำแบบคัดกรองไปให้ครูผู้สอนประเมินพฤติกรรมนักเรียนที่มีพฤติกรรมบ่งชี้ถึงแนวโน้มภาวะบกพร่องทั้ง 3 กลุ่ม เป็นรายบุคคล โดยอธิบายให้ครูผู้สอนเข้าใจข้อความที่บ่งบอกพฤติกรรมรายข้ออย่างชัดเจน ก่อนประเมินพฤติกรรมนักเรียนในแบบคัดกรอง

               2.1.2 ครูที่ผ่านการฝึกอบรมตรวจความครบถ้วนสมบูรณ์ของแบบคัดกรองแต่ละฉบับ พร้อมคำนวณอายุนักเรียน และแปลผลคะแนนแบบคัดกรอง ให้ถูกต้องตามรายละเอียดในคู่มือการใช้แบบคัดกรอง

          2.2 การประเมินทางจิตวิทยานักเรียน โดยนักจิตวิทยา

          2.2.1 ขอความร่วมมือจากผู้ปกครอง กรอกข้อมูล 1) แบบขออนุญาตผู้ปกครอง และ 2) Conners’Parent Rating Scales และครูผู้สอน กรอกข้อมูล 1) Conners’ Teacher Rating Scales และ 2) แบบกรอกข้อมูลนักเรียน เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับการตรวจวินิจฉัยนักเรียนของจิตแพทย์

               2.2.2 นักจิตวิทยาลงพื้นที่ประเมินทางจิตวิทยานักเรียนเป็นรายบุคคลตามโรงเรียนต่างๆ เฉพาะนักเรียนที่ผู้ปกครองอนุญาตเท่านั้น เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินทางจิตวิทยา ประกอบด้วย 1) แบบทดสอบสติปัญญา Draw – A - Person : A Quantitative Scoring System (DAP) 2) Matrix Analogies Test : ExpandedForm (MAT : EF) และ 3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านการอ่านคำ การเขียนสะกดคำ และคณิตศาสตร์ ใช้เวลาประเมิน ประมาณ 60 – 90 นาที ตามความสามารถของนักเรียนรายบุคคล

                2.2.3 นักจิตวิทยาตรวจให้คะแนน และแปลความหมายของคะแนนที่ได้จากการประเมินทางจิตวิทยานักเรียนทั้งหมด ตามหลักการประเมินทางจิตวิทยาอย่างถูกต้อง

     3. การตรวจวินิจฉัยบุคคลที่มีภาวะสมาธิสั้น บกพร่องทางการเรียนรู้ และออทิซึม

          3.1 การตรวจวินิจฉัยนักเรียน โดย นพ.ณัฐวัฒน์ งามสมุทร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์

            3.1.1 จิตแพทย์ลงพื้นที่ตรวจวินิจฉัยนักเรียนเป็นรายบุคคลตามโรงเรียนต่างๆ โดยใช้ข้อมูลผลการประเมินทางจิตวิทยา ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และข้อมูลจากผู้ปกครองและครู ประกอบการตรวจวินิจฉัย ทั้งนี้จิตแพทย์จะไม่ทราบข้อมูลผลการคัดกรองนักเรียนจากแบบคัดกรอง KUS–SI Rating Scales: ADHD/ LD/ Autism(PDDs) ก่อนล่วงหน้า

               3.1.2 จิตแพทย์ออกเอกสารใบรับรองแพทย์ให้กับนักเรียนที่มีภาวะบกพร่อง เพื่อรับรองความบกพร่องของนักเรียนก่อนส่งนักเรียนเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลต่างๆ หรือให้ความช่วยเหลือทางการศึกษาต่อไป

                3.1.3 ศึกษาความตรงตามเกณฑ์การทำนาย โดยการตรวจสอบความตรงในการจำแนก ด้วยการศึกษาความสอดคล้องกันระหว่างผลการวินิจฉัยจากจิตแพทย์ และผลการบ่งชี้ คัดกรอง ด้วยแบบคัดกรอง KUS–SI Rating Scales: ADHD/ LD/ Autism (PDDs)

 

 

ผลการทดลองและวิจารณ์

 

      การนำเสนอผลการวิจัยครั้งนี้แบ่งการนำเสนอตามวัตถุประสงค์การวิจัย ดังนี้

 

     1. ผลการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาและการแพทย์ในการใช้แบบคัดกรองนักเรียนที่มีภาวะสมาธิสั้นบกพร่องทางการเรียนรู้ และออทิซึม

            1.1 บุคลากรทางการศึกษาและการแพทย์ที่สนใจเข้ารับการฝึกอบรม จำนวน 660 คน ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 84.72) อายุ 44 ปีขึ้นไป (ร้อยละ 42.13) เป็นครูผู้สอน (ร้อยละ 61.09) มีประสบการณ์การทำงานกับนักเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ น้อยกว่า 3 ปี (ร้อยละ 48.01) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี (ร้อยละ 79.95) และไม่เคยเข้าร่วมการฝึกอบรมด้านการศึกษาพิเศษ (ร้อยละ 86.39)

          1.2 บุคลากรทางการศึกษาและการแพทย์ที่เข้ารับกาฝึกอบรม สะท้อนความเห็นว่าการฝึกอบรมครั้งนี้ทำให้ได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับใช้แบบคัดกรอง ลักษณะของนักเรียน เทคนิควิธีการช่วยเหลือนักเรียน และการคัดกรองนักเรียนที่มีภาวะบกพร่องทั้ง 3 กลุ่ม และสามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการฝึกอบรมไปปฏิบัติและขยายผลให้บุคลากรภายในโรงเรียนได้ในระดับมากตรงตามความคาดหวังก่อนเข้ารับการฝึกอบรม แสดงว่า หลักสูตรฝึกอบรม และวิทยากรมีคุณภาพและประสิทธิภาพที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การนำแบบคัดกรอง KUS–SI Rating Scales: ADHD/ LD/ Autism (PDDs) ไปใช้ต้องได้รับการฝึกอบรมการใช้แบบคัดกรองจากผู้เชี่ยวชาญตาม หลักสูตรการฝึกอบรมที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นและดำเนินการคัดกรองด้วยกระบวนการที่เป็นมาตรฐาน

          1.3 การตรวจประเมินประสิทธิภาพของผู้ประเมินในการคำนวณอายุนักเรียน และแปลผลคะแนนแบบคัดกรอง KUS–SI Rating Scales: ADHD/ LD/ Autism (PDDs) จากแบบคัดกรองที่โรงเรียนเครือข่ายการวิจัยส่งกลับคืนคณะ ผู้วิจัย พบว่า มีครูที่ผ่านการฝึกอบรมตรวจประเมินแบบคัดกรองได้ถูกต้องครบถ้วนผ่านเกณฑ์ต่ำสุด 90% จำนวน 25 คน จาก 36 คน คิดเป็นร้อยละ 69.44 จากผลการวิจัยนี้ แสดงให้เห็นว่ายังมีครูที่ผ่านการฝึกอบรม ถึงร้อยละ 30 ที่ตรวจให้คะแนนแบบคัดกรองไม่ผ่านเกณฑ์ต่ำสุด 90% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ที่นำแบบคัดกรองไปใช้ประโยชน์ต้องได้รับการฝึกอบรมจากผู้เชี่ยวชาญและต้องศึกษาคู่มือการใช้แบบคัดกรองอย่างละเอียด รอบคอบ รวมทั้งมีการนิเทศ ติดตามจากผู้เชี่ยวชาญในระยะแรกของการนำแบบคัดกรองไปใช้ปฏิบัติจริง

     2. ผลการบ่งชี้ และคัดกรองบุคคลที่มีภาวะสมาธิสั้น บกพร่อทางการเรียนรู้ และออทิซึม แบ่งการนำเสนอผลการวิจัยเป็น 2 ส่วน ดังนี้

          2.1 ผลการบ่งชี้ และคัดกรองนักเรียนที่มีแนวโน้มภาวบกพร่องทั้ง 3 กลุ่ม โดยครู พบว่า

          นักเรียนที่มีคะแนนแบบคัดกรองบ่งชี้ว่ามีพฤติกรรมภาวะสมาธิสั้น บกพร่องทางการเรียนรู้และออทิซึม อยู่ในกลุ่มที่ 2 (กลุ่มเฝ้าระวัง ติดตาม ทำซ้ำ) กลุ่มที่ 3 (กลุ่มที่ควรได้รับความช่วยเหลือทางการศึกษา)และกลุ่ม ที่ 4 (กลุ่มที่ควรส่งแพทย์ เพื่อรับการตรวจประเมินอย่างเร่งด่วน) มีจำนวน 555 คน แบ่งเป็น

          ก) พฤติกรรมภาวะสมาธิสั้น จำนวน 12 คน (ร้อยละ 2.17)

          ข) พฤติกรรมภาวะสมาธิสั้น ร่วมกับภาวะบกพร่อทางการเรียนรู้ จำนวน 335 คน (ร้อยละ60.36)

          ค) พฤติกรรมภาวะสมาธิสั้น ร่วมกับภาวะออทิซึมจำนวน 2 คน (ร้อยละ 0.36)

          ง) พฤติกรรมภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ จำนวน 48 คน (ร้อยละ 8.65)

          จ) พฤติกรรมภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ ร่วมกับภาวะออทิซึม จำนวน 7 คน (ร้อยละ 1.26)

      ฉ) พฤติกรรมภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ ร่วมกับภาวะสมาธิสั้น และออทิซึม จำนวน151 คน (ร้อยละ 27.20)

          จากผลการวิจัย แสดงให้เห็นว่า นักเรียนที่ได้รับการบ่งชี้ว่ามีพฤติกรรมภาวะสมาธิสั้น ร่วมกับภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ มีจำนวนมากที่สุด แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่านักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษที่เรียนรวมในห้องเรียนปกติ ส่วนใหญ่มีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ด้านการอ่าน การเขียน และการคิดคำนวณ รวมทั้งมีภาวะสมาธิสั้นร่วมด้วย ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาที่พบนักเรียนที่มีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้และภาวะสมาธิสั้น ประมาณร้อยละ 6 – 10 ของเด็กวัยเรียน (วินัดดา, 2545) ผลการศึกษาไม่พบนักเรียนที่ได้รับการบ่งชี้ว่ามีพฤติกรรมภาวะ ออทิซึมโดยเฉพาะ แต่พบพฤติกรรมภาวะออทิซึม ร่วมกับภาวะสมาธิสั้นเพียง 2 คน ซึ่งเป็นไปตามความชุกของผลการตรวจวินิจฉัยภาวะออทิซึมที่พบประมาณร้อยละ 0.6 ของประชากรทั่วไป (กระทรวงศึกษาธิการ, 2549) ข้อมูลจากแบบคัดกรอง KUS–SI Rating Scales: ADHD/ LD/ Autism (PDDs) ที่บ่งชี้ว่ามีนักเรียนถึงร้อยละ 27.20 ที่มีภาวะสมาธิสั้น ร่วมกับภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ และออทิซึม แสดงอย่างเด่นชัดว่า่ มีนักเรียนที่มีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ ถึงร้อยละ 27.20 ที่มีภาวะสมาธิสั้น และออทิซึมร่วมด้วย ดังนั้น ผลการวิจัยครั้งนี้ยืนยันตามวัตถุประสงค์ของการนำแบบคัดกรอง KUS–SI Rating Scales: ADHD/ LD/ Autism (PDDs) ไปใช้ว่า ครูต้องประเมินพฤติกรรมนักเรียนครบทั้ง 5 ด้าน เพื่อให้ได้ข้อมูลผลการประเมินพฤติกรรมนักเรียนที่ครอบคลุมที่นำไปสู่การวินิจฉัยอย่างละเอียดและให้ความช่วยเหลือทางการศึกษาและการแพทย์ต่อไป

         2.2 ผลการประเมินทางจิตวิทยานักเรียน โดยนักจิตวิทยา พบว่า

             2.2.1 นักเรียนส่วนใหญ่มีระดับสติปัญญาเมื่อทดสอบด้วยแบบทดสอบ DAP อยู่ในระดับเกณฑ์เฉลี่ยถึงสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยมาก คิดเป็นร้อยละ 89.95 และแบบทดสอบ MAT อยู่ในระดับเกณฑ์เฉลี่ยขั้นต่ำถึงมีความบกพร่อง คิดเป็นร้อยละ 74.78

            2.2.2 นักเรียนส่วนใหญ่มีผลการทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านการอ่านคำ การเขียนสะกดคำ และคณิตศาสตร์ ที่ต่ำกว่าระดับชั้นเรียนที่กำลังศึกษา ณ ปัจจุบัน (ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2550) คิดเป็น ร้อยละ 88.28 96.21 และ85.58 ตามลำดับ

             จากผลการประเมินระดับสติปัญญาพบประเด็นที่น่าสนใจ คือ เมื่อประเมินนักเรียนด้วยแบบทดสอบ DAP ที่เป็นการให้นักเรียนวาดรูปคนผู้ชาย คนผู้หญิง และตนเอง ที่แสดงถึงความสามารถทางสติปัญญาโดยทั่วไป (general intelligence) พบว่า มีนักเรียนถึงร้อยละ 90 ที่มีระดับสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยถึงเหนือเกณฑ์เฉลี่ย แต่เมื่อประเมินนักเรียนด้วยแบบทดสอบ MAT : EF ที่เป็นการให้นักเรียนแก้ปัญหาด้วยกระบวนการคิดวิเคราะห์ และการให้เหตุผลเชิงนามธรรม พบว่า มีนักเรียนถึงร้อยละ 75 ที่มีระดับสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยขั้นต่ำถึงมีความบกพร่อง เมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของคะแนนจากแบบทดสอบ DAP และ MAT : EF พบว่า ค่าเฉลี่ยของคะแนนจากแบบทดสอบ DAP เท่ากับ 96.88 แสดงถึงระดับสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคะแนนจากแบบทดสอบ MAT : EF เท่ากับ 79.17 แสดงถึงระดับสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01

          จากผลการประเมินระดับสติปัญญาของนักเรียนที่ได้รับการบ่งชี้ว่ามีพฤติกรรมภาวะสมาธิสั้น บกพร่องทางการเรียนรู้ และออทิซึม แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า นักเรียนส่วนใหญ่มีความสามารถทาสติปัญญา อยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยมีศักยภาพที่จะเรียนรู้ได้ (ผลจากแบบทดสอบ DAP) แต่มีปัญหามากในด้านความสามารถทางการคิด วิเคราะห์ และการให้เหตุผลเชิงนามธรรม (ผลจากบบทดสอบ MAT : EF) ที่ส่งผลต่อความสามารถทางการเรียนรู้ด้านวิชาการ ดังปรากฏชัดเจนจากผลการทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านการอ่านคำ การเขียนสะกดคำ และคณิตศาสตร์ ที่ต่ำกว่าระดับชั้นเรียนที่กำลังศึกษา ณ ปัจจุบัน (ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2550) การศึกษาวิจัยเชิงลึกต่อไปว่าสิ่งใดเป็นสาเหตุที่ทำให้นักเรียนกลุ่มดังกล่าวส่วนใหญ่มีความสามารถด้านการคิด วิเคราะห์ และการให้เหตุผลเชิงนามธรรมอยู่ในระดับเกณฑ์เฉลี่ยขั้นต่ำถึงมีความบกพร่อง และถ้านักเรียนได้รับโปรแกรมการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการคิดอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบอย่างเข้ม จะทำให้นักเรียนมีระดับสติปัญญาที่วัดด้วยแบบทดสอบ MAT : EF และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทย และคณิตศาสตร์เพิ่มขึ้นหรือไม่ ถ้าการจัดโปรแกรมการเรียนรู้สามารถเพิ่มระดับสติปัญญา และทำให้นักเรียนมีความสามารถทางการเรียนรู้ด้านการอ่าน เขียน และคิดคำนวณดีขึ้นตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาจะเป็นการพัฒนานักเรียนอย่างมีคุณภาพและป้องกันไม่ให้นักเรียนมีปัญหาทางการเรียนรู้ที่รุนแรงขึ้น เมื่อเข้าสู่ระดับมัธยมศึกษาต่อไป

     3. ผลการตรวจวินิจฉัยบุคคลที่มีภาวะสมาธิสั้น บกพร่องทางการเรียนรู้ และออทิซึม

          3.1 ผลการตรวจวินิจฉัยนักเรียน โดยจิตแพทย์ พบว่า

          ก) นักเรียนที่จิตแพทย์วินิจฉัยว่ามีภาวะสมาธิสั้น มีจำนวน 307 คน แบ่งเป็น นักเรียนที่มีผลการคัดกรองบ่งชี้ว่ามีพฤติกรรมภาวะสมาธิสั้นอยู่ในกลุ่มที่ 1 : กลุ่มที่อยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย จำนวน 20 คน (ร้อยละ 6.51) กลุ่มที่ 2 : กลุ่มเฝ้าระวัง ติดตาม ทำซ้ำ จำนวน 87 คน ( ร้อยละ 28.34) กลุ่มที่ 3 : กลุ่มที่ควรได้รับความช่วยเหลือทางการศึกษา จำนวน 162 คน (ร้อยละ 52.77) และกลุ่มที่ 4 : กลุ่มที่ควรส่งแพทย์ เพื่อรับการตรวจประเมินอย่างเร่งด่วน จำนวน 38 คน ร้อยละ (12.38)

          ข) นักเรียนที่จิตแพทย์วินิจฉัยว่ามีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ด้านการอ่าน จำนวน 169 คน แบ่งเป็น นักเรียนที่มีผลการคัดกรองบ่งชี้ว่ามีพฤติกรรมภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ด้านการอ่านอยู่ใ่นกลุ่มที่ 1 จำนวน 8 คน (ร้อยละ 4.73) กลุ่มที่ 2 จำนวน 35 คน (ร้อยละ 20.71) กลุ่มที่ 3จำนวน 91 คน (ร้อยละ 53.85) และกลุ่มที่ 4 จำนวน 35 คน (ร้อยละ 20.71)

         ค) นักเรียนที่จิตแพทย์วินิจฉัยว่ามีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ด้านการเขียน จำนวน 206 คน แบ่งเป็น นักเรียนที่มีผลการคัดกรองบ่งชี้ว่ามีพฤติกรรมภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ด้านการเขียนอยู่ในกลุ่มที่ 1 จำนวน 9 คน (ร้อยละ 4.37) กลุ่มที่ 2 จำนวน 58 คน (ร้อยละ 28.16) กลุ่มที่ 3 จำนวน 92 คน (ร้อยละ 44.66) และกลุ่มที่ 4 จำนวน 47 คน (ร้อยละ 22.71)

          ง) นักเรียนที่จิตแพทย์วินิจฉัยว่ามีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ด้านการคิดคำนวณ จำนวน 159 คน แบ่งเป็น นักเรียนที่มีผลการคัดกรองบ่งชี้ว่ามีพฤติกรรมภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ด้านการคิดคำนวณอยู่ในกลุ่มที่ 1 จำนวน 9 คน (ร้อยละ 5.66) กลุ่มที่ 2 จำนวน 46 คน (ร้อยละ 28.93) กลุ่มที่ 3 จำนวน 57 คน (ร้อยละ 35.85) และกลุ่มที่ 4 จำนวน 47 คน (ร้อยละ 29.56)

          จ) มีนักเรียนที่จิตแพทย์วินิจฉัยวา่ มีภาวะออทิซึม จำนวน 7 คน แบ่งเป็น นักเรียนที่มีผลการคัดกรองบ่งชี้ว่ามีพฤติกรรมภาวะออทิซึมอยู่ในกลุ่มที่ 1 จำนวน 3 คน (ร้อยละ 42.86) กลุ่มที่ 2 จำนวน 1 คน (ร้อยละ14.28) กลุ่มที่ 3 จำนวน 1 คน (ร้อยละ 14.29) และกลุ่มที่ 4 จำนวน 2 คน (ร้อยละ 28.57)

             จากผลการวิจัยนี้ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าผลการวินิจฉัยของจิตแพทย์ และผลการบ่งชี้ด้วยแบบคัดกรอง KUS–SI Rating Scales: ADHD/ LD/ Autism (PDDs) ด้านพฤติกรรมภาวะสมาธิสั้น และบกพร่องทางการเรียนรู้มีความสอดคล้องกันถึงร้อยละ 94.00 ขึ้นไป แสดงว่า แบบคัดกรองนี้มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการบ่งชี้และประเมินปัญหาพฤติกรรมของนักเรียนที่ครูสามารถนำไปใช้ด้วยความมั่นใจเพื่อนำไปสู่การให้ความช่วยเหลือทางการศึกษานักเรียนในเบื้องต้น ก่อนที่จะได้รับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์

          3.2 จากการศึกษาความตรงตามเกณฑ์การทำนาย โดยการตรวจสอบความตรงในการจำแนก ด้วยการศึกษาความสอดคล้องกันระหว่างผลการวินิจฉัยของจิตแพทย์ และผลการบ่งชี้ด้วยแบบคัดกรอง KUS–SI Rating Scales: ADHD/ LD/ Autism (PDDs) ว่ามีภาวะบกพร่อง (ค่าความไว) และไม่มีภาวะบกพร่อง (ค่าความจำเพาะ) พบว่า แบบคัดกรองมีค่าความไวสูงสุดในด้านพฤติกรรมภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ด้านการอ่าน ผลการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดข้อความที่บ่งบอกพฤติกรรมภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ด้านการอ่านของแบบคัดกรองมีความชัดเจนที่ครูผู้สอนวิชาภาษาไทยสามารถประเมินได้สอดคล้องกับผลการวินิจฉัยของจิตแพทย์ในระดับสูง ทำให้ครูสามารถใช้แบบคัดกรองเพื่อบ่งชี้ และให้ความช่วยเหลือทางการศึกษานักเรียนที่มีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ด้านการอ่านได้อย่างมั่นใจ

             ส่วนผลการศึกษาพฤติกรรมภาวะออทิซึม พบว่า มีค่าความไวต่ำสุด แต่มีค่าความจำเพาะสูงสุดแสดงให้ถึงความสอดคล้องกันในระดับสูง ระหว่างการวินิจฉัยของจิตแพทย์ และการบ่งชี้ด้วยแบบคัดกรองในการไม่ พบพฤติกรรมภาวะออทิซึม แต่ในค่าความไวที่ออกมาต่ำนั้นเป็นผลจากการที่จิตแพทย์วินิจฉัยว่านักเรียนมีภาวะออทิซึม ในระดับปานกลางถึงเล็กน้อย โดยที่ครูประเมินว่านักเรียนมีพฤติกรรมภาวะออทิซึมอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย จำนวน 4 คน ซึ่งพบว่าเป็นจำนวนที่น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนที่ประเมินทั้งหมด 555 คน อย่างไรก็ตามความคลาดเคลื่อนนี้มีความสำคัญที่ครูต้องตระหนักว่าครูผู้สอนจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนักเรียนทีมีภาวะออทิซึม เพื่อที่จะประเมินพฤติกรรมนักเรียนได้ตรงตามความเป็นจริงมากขึ้น ประกอบกับการวินิจฉัยว่านักเรียนคนใดมีภาวะออทิซึมนั้น จำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดจากจิตแพทย์ ข้อมูลจากแบบคัดกรองเป็นส่วนประกอบหนึ่งของกระบวนการวินิจฉัยเท่านั้น ครูไม่ควรเป็นผู้ลงความเห็นในการวินิจฉัย แต่ครูสามารถใช้ข้อมูลจากแบบคัดกรองเพื่อประโยชน์ในการวางแผนการให้ความช่วยเหลือทางการศึกษานักเรียนได้์

 

 

สรุป

 

     ผลการศึกษาครั้งนี้บ่งชี้ว่า การที่บุคลากรทางการศึกษาแลการแพทย์จะนำแบบคัดกรอง KUS–SI Rating Scales: ADHD/ LD/ Autism (PDDs) ไปใช้ได้อย่างถูกต้อง และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการให้ความช่วยเหลือนักเรียนที่มีภาวะสมาธิสั้น บกพร่องทางการเรียนรู้ และออทิซึม นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการฝึกอบรมจากผู้เชี่ยวชาญ มีการฝึกปฏิบัติ และได้รับการนิเทศอย่างเข้มในระยะเริ่มแรกของการนำแบบคัดกรองไปใช้ ครูผู้สอนวิชาภาษาไทย และคณิตศาสตร์ สามารถบ่งชี้ และคัดกรองนักเรียนที่มีภาวะสมาธิสั้น บกพร่องทางการเรียนรู้ และออทิซึม ได้อย่างมั่นใจ และสอดคล้องกับสูงกับผลการวินิจฉัยของจิตแพทย์ ส่วนภาวะออทิซึมนั้น จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์โดยใช้ข้อมูลจากแบบคัดกรองประกอบ ผลการประเมินระดับสติปัญญาของนักเรียน นำมาสู่ข้อเสนอแนะถึงความจำเป็นเร่งด่วน ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้อย่างเข้มเพื่อพัฒนาทักษะการคิดให้กับนักเรียนที่มีภาวะบกพร่องทั้ง 3 กลุ่ม ถ้าผลการฝึกทักษะการคิดอย่างเข้มและต่อเนื่องสามารถเพิ่มระดับสติปัญญาของ นักเรียนได้ ก็จะส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ และป้องกันปัญหาความล้มเหลวในการเรียนเมื่อนักเรียนเข้าสู่การศึกษาในระดับมัธยมศึกษาต่อไป

 

 

เอกสารอ้างอิง

 

กระทรวงศึกษาธิการ. 2549. โครงการจัดตั้งกองทุนการศึกษาเพื่อบุคคล ออทิสติก บุคคลทีมีความ

     บกพร่องทางการเรียนรู้ และบุคคลสมาธิ สั้น. ม.ป.ท.

 

ดารณี และคณะ. 2548. รายงานการวิจัยเรื่อง การพัฒนาศักยภาพนักเรียน ที่มีภาวะออทิซึม สมาธิสั้น และ

     บกพร่องทางการเรียนรู้ : ระยะที่ 1 การสร้างกระบวนการและเครื่องมือที่เป็นมาตรฐานสำหรับการคัด

     กรองนักเรียนที่มีภาวะสมาธิสั้น บกพร่องทางการเรียนรู้ และออทิซึม. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่ง

     ชาติ

 

ดารณี และคณะ. 2550. คู่มือการใช้แบบคัดกรองนักเรียนที่มีภาวะสมาธิสั้น บกพร่องทางการเรียนรู้ และ

     ออทิซึม. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ บริษัท พัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) จำกัด

 

วินัดดา ปิยะศิลป์. 2545. ความบกพร่องของทักษะในการเรียน (Learning Disorders : LD). จิตเวชเด็ก

     และวัยรุ่น. กรุงเทพฯ : บียอนด์เอน เตอร์ไพรส

 

Neglieri, J. A. 1988. Draw – A - Person : A Quantitative Scoring System (DAP). U.S.A. :

     The psychologicalCorporation.

 

 

 

ศูนย์วิจัยการศึกษาเพื่อเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ
โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา
ตู้ ปณ.1050 ปณฝ.เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10900
โทรศัพท์ 02-9428800-9 ต่อ 701

 

 

จำนวนผู้เข้าชมตั้งแต่ 01/01/2552:

web statistics