จุดเริ่มต้นท้าทาย
ศาสตราจารย์แพทย์หญิงเพ็ญแข ลิ่มศิลา แห่งโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้พัฒนาโครงการเพื่อให้การรักษาควบคู่กับการให้การศึกษากับเด็กออทิสติก ตั้งแต่วัยทารกภายในโรงพยาบาล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 โดยมีความเชื่อพื้นฐานที่ได้จากผลากรศึกษาวิจัยว่า เด็กออทิสติกมีคามผิดปกติของการทำงานของสมองบางส่วน การให้การช่วยเหลือเพื่อพัฒนาเด็กออทิสติก จึงต้องเป็นการช่วยเหลือทั้งด้านการแพทย์ และการศึกษา
อย่างไรก็ตามการจัดการศึกษาให้กับเด็กออทิสติกในโรงพยาบาลจิตเวชนั้น เด็กยังอยู่ในสภาพแวดล้อมที่จำกัด นั่นคือ เด็กออทิสติกยังคงเรียนร่วมกับเด็กออทิสติกหรือเด็กที่มีปัญหาทงด้านจิตเวชประเภทต่างๆ แต่เป้าหมายสูงสุดของการจัดการศึกษาให้กับเด็กออทิสติกคือ การส่งเด็กเข้าสู่ห้องเรียนปกติในโรงเรียนปกติ โดยมีความเชื่อพื้นฐานว่า เด็กออทิสติกมีความสามารถเหมือนกับเด็กปกติมากกว่าความแตกต่าง นอกจากนั้นการให้เด็กออทิสติกเรียนรวมกับเด็กปกติเป็นการบูรณาการทั้งด้านสังคมและการเรียนของทั้งเด็กปกติและเด็กออทิสติก ซึ่งจะได้เรียนรู้ซึงกันและกัน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพของทั้งเด็กออทิสติกและเด็กปกติ
|
|
ความพยายามของศาสตราจารย์แพทย์หญิงเพ็ญแข ลิ่มศิลา ในการส่งเด็กออทิสติกเข้าเรียนรวมกับเด็กปกติในโรงเรียนไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เด็กออทิสติกส่วนใหญ่ถูกส่งกลับมาเรียนในห้องเรียนการศึกษาพิเศษที่โรงพาบาล เพราะครูไม่สามารถจัดการกับพฤติกรรมที่ท้าทายของเด็กได้ นอกจากนนั้นเด็กออทิสติกบางคนมีพัฒนาการถดถอยทั้งด้านการเรียนรู้และพฤติกรรมทางสังคม และบางคนมีอาการถึงขนาดจะเป็นโรคจิต เพราะปรับตัวในสังคมโรงเรียนปกติไม่ได้ ทั้งครูและเพื่อนไม่เข้าใจเด็ก เด็กถูกครูทำโทษ ถูกเพื่อนกลั่นแกล้ง และไม่ได้เรียนรู้ตามศักยภาพ ทั้งนี้มีสาเหตุหลักมาจากการขาดการจัดการที่ดีในกระบวนการจัดการเรียนรวม ไม่มีนักจิตวิทยาหรือครูการศึกษาพิเศษที่มีความรู้เรื่องเด็กออทิสติกที่จะให้ความช่วยเหลือครูในห้องเรียนปกติ ครูในห้องเรียนปกติไม่ได้รับการฝึกอบรมหรือเตรียมความพร้อมเพื่อสอนเด็กออทิสติก ครูไม่ได้รับการสนับสนุนที่จำเป็น และไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอจากผู้บริหาร รวมทั้งการประสานงานระหว่างครู หมอ พ่อแม่ ไม่มีประสิทธิภาพ
|
|
ศาสตราจารย์แพทย์หญิงเพ็ญแข ลิ่มศิลา จึงได้ขอความร่วมมือจากผู้เขียนในฐานะที่เป็นนักจิตวิทยาโรงเรียน ในการศึกษาวิจัย การจัดการเรียนรวม (Inclusive education) สำหรับเด็กออทิสติกในโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เขียนมองว่าเป็นโครงการวิจัยที่ท้าทายและมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการทางด้านการศึกษาแก่เด็กที่มีความต้องการพิเศษในประเทศไทย
เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าออทิซึมเป็นโรคทางจิตเวช เด็กมีความผิดปกติทางด้านพัฒนาการของระบบประสาท (Rutter & Schoples, 1987) ประมาณร้อยละ 25 ของบุคคลออทิสติกที่ไม่เคยมีประวัติของความผิดปกติทางด้านระบบประสาท มีอาการชักได้เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ (Rutter, 1970) เด็กออทิสติกจำนวนมากทั้งที่มีภาวะปัญญาอ่อนและมีความสามารถสูง มีโรคทางกายหลายชนิด รวมทั้งมีอาการซึมเศร้าและความวิตกกังวลที่ผิดปกติ (Steffenberg, 1991)
การให้โอกาสเด็กที่มีความต้องการพิเศษเข้าเรียนรวมกับเด็กปกติ ปรากฏอย่างเด่นชัดและมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 มีบทความเกี่ยวกับการศึกษาแบบเรียนรวมจำนวนมากตีพิมพ์ในวารสารการศึกษาพิเศษ ในขณะที่เป้าหมายและคุณค่าที่เป็นพื้นฐานของปรัชญาการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ ในซีกโลกตะวันตกการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษในประเทศไทย ยังเป็นปรากฏการณ์ใหม่ ซึ่งนักศึกษาไทยยังมิได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญ อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมเต็มเวลา (Full inclusion) สำหรับเด็กออทิสติกยังมีจำกัด และประโยชน์ที่ได้รับยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่
จากหลักฐานที่ปรากฏชัดเจนว่า เด็กออทิสติกมีปัญหาความเจ็บป่วยทางกายหลายอย่างและการศึกษาแบบเรียนรวมก็เป็นที่เรียกร้องของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเด็ก จึงมีความจำเป็นที่จะต้องรวมพลังนักวิชาชีพทางการแพทย์และนักการศึกษา เพื่อศึกษาวิจัยรูปแบบการจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพอันจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพสูงสุดของเด็กออทิสติก
|
|
ด้วยวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของรองศาสตราจารย์ ดร.จงรักษ์ ไกรนาม อาจารย์โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ นอกจากนั้น ที่ประชุมคณบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ให้ความเห็นชอบกับโครงการวิจัย ดังนั้น โครงการความร่วมมือทางวิชาการและการวิจัยการจัดการศึกษาพิเศษระหว่างโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ จึงได้เริ่มดำเนินการในปีการศึกษา 2533 โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. เพื่อให้โอกาสอันทัดเทียมกันกับเด็กออทิสติกได้เรียนรวมกับเด็กปกติ
|
2. เพื่อพัฒนาความร่วมมือระหว่างสถาบันทางการศึกษาและสถาบันทางการแพทย์
|
3. เพื่อศึกษาพัฒนาการของเด็กออทิสติก เมื่อเรียนร่วมในห้องเรียนปกติ
|
4. เพื่อพัฒนารูปแบบที่มีประสิทธิภาพของการจัดการศึกษาให้เด็กออทิสติกในห้องเรียนปกติ
|
โครงการนี้โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับอนุมัติจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ดำเนินการทดลองและวิจัยขั้นต้น เป็นเวลา 6 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2533 ถึง 2538 โดยมีคณะกรรมการดำเนินงานประกอบด้วยบุคคล ดังต่อไปนี้
คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ | ที่ปรึกษา |
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ | ที่ปรึกษา |
ผศ.ดร. จงรักษ์ ไกรนาม อาจารย์ใหญ่ | ประธาน |
ศ.พญ.เพ็ญแข ลิ่มศิลา จิตแพทย์เด็ก | กรรมการ |
รศ.ดร.จีระพันธุ์ พูลพัฒน์ ประธานคณะกรรมการหลักสูตรประถมศึกษา | กรรมการ |
อาจารย์พัวพันธุ์ ทองหยด ประธานคณะกรรมการงานศึกษาเด็กระดับประถมศึกษา | กรรมการ |
อาจารย์จิตรา วนิชานันท์ รองประธานคณะกรรมการงานศึกษาเด็กระดับประถมศึกษา | กรรมการ |
อาจารย์พรทิพย์ ยาวะประภาษ เลขานุการโครงการศึกษาพิเศษ | กรรมการ |
อาจารย์ ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ นักจิตวิทยาโรงเรียน หัวหน้าโครงการแนะแนว | กรรมการและเลขานุการ |
|
|
เมื่อเริ่มดำเนินการ ไม่มีอาจารย์ท่านใดในโรงเรียนเคยสอนหรือเคยรู้จักออทิสติกมาก่อน เราไม่มีอาจารย์ที่สำเร็จการศึกษาทางด้านการศึกษาพิเศษโดยตรง รศ.ดร.จงรักษ์ ไกรนาม ได้พัฒนาครูด้วยการฝึกอบรมศึกษาไปพร้อมๆกัน เรียนรู้และพัฒนาตนเองด้วยการลงมือกระทำซึ่งได้รับผลสำเร็จมาแล้วในการจัดการศึกษาพิเศษให้เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ท่านมีความเชื่อมั่นว่า การฝึกอบรมให้อาจารย์มีความรู้มีทักษะ และมีความเชี่ยวชาญในการสอนเด็ก ออทิสติกก็คงจะทำได้ไม่ยาก ขอเพียงแค่อาจารย์มี ใจ ที่จะทำงานกับเด็กกลุ่มนี้
เรามีศาสตราจารย์แพทย์หญิงเพ็ญแข ลิ่มศิลา ผู้เชี่ยวชาญโรคออทิซึม ที่จะทำงานแบบรวมพลังกับโรงเรียน มีโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์สถานที่ที่อาจารย์เราจะไปศึกษาดูงาน ไปเรียนรู้เพื่อรู้จักเด็กออทิสติกอย่างแท้จริง
มีผู้เขียนเป็นนักจิตวิทยาโรงเรียนที่มีประสบการณ์ในการตรวจวินิจฉัย และการจัดการศึกษาพิเศษให้กับเด็กออทิสติกในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ
อาจารย์ของเรามีประสบการณ์การเรียนการสอน นักเรียนระดับประถมศึกษาเป็นเวลานาน มีความเชี่ยวชาญการสอนอยู่แล้ว ก็จะสามารถพัฒนากระบวนการเทคนิคและวิธีการสอนให้เหมาะกับลักษณะความต้องการพิเศษของเด็กออทิสติกได้ เรามีความเชื่อว่าการพัฒนาอาจารย์ให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ ก็คือ ให้การฝึกอบรมควบคู่กับการปฏิบัติงานจริง ให้การนิเทศแบบกัลยาณมิตร และการศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศ
นักเรียนออทิสติกที่ได้รับการรักษาและการศึกษาที่โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ จำนวน 5 คน ได้เริ่มเข้ามาเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อปีการศึกษา 2533 นับได้ว่าเป็นจุดเรี่มต้นที่ท้าทายผู้บริหาร และอาจารย์ของโรงเรียนที่จะได้เรียนรู้ ได้ศึกษา ได้สร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลออทิซึมในประเทศไทย
|
|
การดำเนินงานที่เข้มแข็ง
คณะกรรมการดำเนินงานได้พัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับเด็กออทิสติกในโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย การเตรียมบุคลากรที่เกี่ยวข้องในโรงเรียน การคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาในโครงการ การพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน การจัดนักเรียนเข้าชั้นเรียน การประเมินผลความก้าวหน้าของนักเรียน ความร่วมมือระหว่างโรงเรียน โรงพยาบาล และผู้ปกครอง การฝึกอบรมและการนิเทศ
การเตรียมบุคลากรที่เกี่ยวข้องในโรงเรียน
ในช่วงปี พ.ศ. 2533 เมื่อคิดโปรแกรมการศึกษาพิเศษมักจะคิดถึง โรงเรียนพิเศษสำหรับเด็กพิการเฉพาะด้าน โรงเรียนที่เป็นที่รู้จักกันดี คือ โรงเรียนสอนเด็กปัญญาอ่อน เด็กตาบอด เด็กหูหนวก และเด็กพิการทางกายอื่นๆ การจัดบริการการศึกษาพิเศษสำหรับเด็กที่มีความพิการรุนแรง โดยเฉพาะเด็กออทิสติกแบบเรียนรวมในห้องเรียนปกติ จึงเป็นปรากฏการณ์ใหม่ การนำเด็กออทิสติกมาเรียนรวมในโรงเรียนปกติและห้องเรียนปกติให้ได้ผลสำเร็จและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้งเด็กออทิสติกและเด็กปกติ ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะต้องอุทิศตน สนับสนุนและได้รับการเตรียมตัวทุกคนในโรงเรียน จำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน ได้เรียนรู้และมีความเข้าใจในแนวทางเดียวกัน เกี่ยวกับลักษณะสำคัญของการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมในโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ความเข้าใจและเจตคติที่ดีของบุคคลที่อยู่แวดล้อมเด็กออทิสติก ไม่เพียงแต่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของการจัดการศึกษา แต่ยังมีผลกระทบต่อประโยชน์โดยรวมของชุมชน
|
|
การเตรียมตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องในโรงเรียน มีการดำเนินการดังนี้
1. ประชุมอาจารย์และเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการต่างๆ ของโรงเรียนทั้งหมด เพื่อให้ความรู้และสร้างความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับปรัชญา จุดมุ่งหมาย การดำเนินงาน และประโยชน์ของการจัดการศึกษาให้เด็กออทิสติกในโรงเรียน รวมทั้งขอความร่วมมือให้ทุกคนสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการ
2. ประชุมผู้ปกครองนักเรียนปกติระดับประถมศึกษาเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการ วัตถุประสงค์ วิธีการดำเนินงาน และประโยชน์ของการจัดทำโครงการ รวมทั้งขอความร่วมมือจากผู้ปกครองสอนลูกให้มีน้ำใจ และให้ความช่วยเหลือเพื่อนนักเรียนที่ไม่ปกติ
3. ก่อนเปิดเรียนภาคต้น นักจิตวิทยาโรงเรียน ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ประสานของโครงการประชุมอาจารย์ที่สอนเด็กนักเรียนปกติ ในระดับชั้นที่จะมีนักเรียนของโครงการเข้าร่วมเรียนเพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน เกี่ยวกับลักษณะของนักเรียนแต่ละคน พฤติกรรมที่ยังเป็นปัญหา แนวทางปฏิบัติต่อนักเรียน และวิธีการจัดการเรียนการสอนรวมทั้งบทบาทของอาจารย์โครงการการศึกษาพิเศษที่ปฏิบัติงานในห้องเรียนปกติ
4. ก่อนเปิดเรียนภาคต้น อาจารย์ที่ปฏิบัติงานในโครงการการศึกษาพิเศษเข้ารับการอบรมและฝึกปฏิบัติงานเกี่ยวกับเด็กออทิสติก และเด็กพิเศษประเภทอื่นๆ ที่โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์
|
|
การคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาในโครงการ
การรับนักเรียนเข้าศึกษาในโครงการ มีเกณฑ์การพิจารณาดังนี้
1. นักเรียนได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคออทิซึม และไม่มีภาวะปัญญาอ่อนร่วมด้วย
2. รับนักเรียนเข้าศึกษาในโครงการปีละ 5 คน โดยรับเฉพาะนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งมีอายุระหว่าง 6-8 ปี
3. นักเรียนได้รับการบำบัดรักษาทางการแพทย์ และการศึกษาพิเศษจากโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหนึ่ง ตั้งแต่วัยก่อนเข้าเรียน จนมีความพร้อมทั้งด้านการเรียน และพฤติกรรมในระดับที่พอจะเรียน และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเด็กปกติได้
4. คณะกรรมการดำเนินงานโครงการ รับผิดชอบคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาในโครงการ โดยพิจารณาจากผลการวินิจฉัยทางด้านจิตเวช ผลการประเมินทางด้านจิตศึกษา และความเต็มใจของผู้ปกครอง
|
|
การพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน
การจัดการศึกษาให้กับเด็กออทิสติก จำเป็นต้องเข้าใจพัฒนาการที่ผิดปกติโดยเฉพาะของเด็กออทิสติก ซึ่งประกอบด้วยพัฒนาการทางด้านสติปัญญา ภาษาและทักษะการสื่อสาร ประสาทสัมผัส ทักษะการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และปัญหาพฤติกรรม การจัดสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้และเทคนิควิธีการเรียนการสอนต้องกระทำเพื่อบรรเทาความบกพร่อง และส่งเสริมการเรียนรู้สูงสุดของนักเรียนแต่ละคน เนื่องจากนักเรียนมีความสามารถสูง (high functioning) และเป้าหมายสูงสุดของการจัดการศึกษาให้นักเรียนกลุ่มนี้ คือการให้นักเรียนออทิสติกได้มีโอกาสเรียนและใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อนนักเรียนปกติมากที่สุด ดังนั้นการจัดหลักสูตรและการเรียนการสอน จึงดำเนินการ ดังนี้
1. ศาสตราจารย์แพทย์หญิงเพ็ญแข ลิ่มศิลา จิตแพทย์เด็กตรวจนักเรียนอย่างละเอียดในด้านพัฒนาการ ประวัติความเจ็บป่วย สภาวะทางกายและทางจิต นักเรียนทุกคนได้รับการตรวจร่างกายการมองเห็นและการได้ยิน การตรวจทางด้านประสาทวิทยา การศึกษาโครโมโซม การตรวจ EEG และการตรวจ CAT scan ในบางกรณี ผศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ ซึ่งเป็นนักจิตวิทยาโรงเรียน ประเมินนักเรียนอย่างละเอียด (comprehensive assessment) ซึ่งประกอบด้วยการประเมินความสามารถทางสติปัญญา ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็ก ทักษะการสื่อสาร ทักษะทางสังคม และพฤติกรรมที่เป็นปัญหา เพื่อนำผลการประเมินทั้งหมดมาเป็นพื้นฐานในการจัดทำแผนการศึกษาเฉพาะนักเรียนแต่ละคน (individualized education plan)
2. ในส่วนวิชาการของแผนการศึกษารายบุคคล ยึดหลักสูตรปกติของโรงเรียนเป็นหลัก แล้วปรับเนื้อหากิจกรรม วิธีการเรียนการสอน และการประเมินผลให้เหมาะสมกับความสามารถและความบกพร่องของนักเรียนแต่ละคน นักเรียนแต่ละคนมีแผนการพัฒนาศักยภาพเด่น หรือความสนใจพิเศษ และแผนการปรับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์และนักเรียนทุกคนได้รับโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมกับเด็กปกติทุกกิจกรรม
3. นักเรียนทุกคนได้รับการบำบัดทางการพูดจากนักอรรถบำบัด เป็นรายบุคคลและเป็นกลุ่มตามระดับความรุนแรงของปัญหา
4. ในระหว่างปิดภาคต้นและภาคปลายนักเรียนทุกคนไปเรียนที่โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์เป็นเวลาอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ ทางโรงพยาบาลจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นการพัฒนาทักษะทางสังคม และอารมณ์เป็นหลัก โดยทางโรงเรียนสรุปปัญหาของนักเรียนแต่ละคน ส่งให้กับศาสตราจารย์แพทย์หญิงเพ็ญแข ลิ่มศิลา เพื่อทางโรงพยาบาลจะได้จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมพัฒนาการ และแก้ไขปัญหาของนักเรียนได้อย่างเหมาะสม จุดประสงค์สำคัญของการให้นักเรียนไปเรียนที่โรงพยาบาล ก็คือ เพื่อให้จิตแพทย์ได้มีโอกาสสังเกตพฤติกรรมศึกษาความก้าวหน้าและปัญหา รวมทั้งตรวจร่างกายและสภาวะจิตของนักเรียนแต่ละคน และส่งข้อมูลกลับมาที่โรงเรียน เพื่อให้นักจิตวิทยาโรงเรียนและอาจารย์ที่ปฏิบัติงานในโครงการ จะได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง และเหมาะสมกับนักเรียนแต่ละคนต่อไป
|
|
การจัดนักเรียนเข้าชั้นเรียน
นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ 2 ระดับชั้นละ 5-7 คน ทุกคนเรียนวิชาการต่างๆ ในห้องเรียนโครงการศึกษาพิเศษ ที่มีอาจารย์ห้องละ 2-3 คน เป็นอาจารย์ประจำชั้นรับผิดชอบในการสอน นักเรียนเข้าเรียนร่วมในห้องเรียนปกติในวิชาศิลปศึกษา ศิลปะปฏิบัติ ดนตรีนาฏศิลป์ และพลศึกษา โดยอาจารย์ประจำชั้นติดตามเข้าไปในห้องเรียนปกติ เพื่อดูแลนักเรียนให้สามารถทำกิจกรรมตามกลุ่มเพื่อน ปฏิบัติตามข้อตกลงของห้องเรียนและกำกับดูแลไม่ให้นักเรียนไปรบกวนการดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนของห้องเรียน
นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ถูกจัดเข้าเรียนรวมเต็มเวลา โดยจัดนักเรียนออทิสติกเข้าเรียนในห้องเรียนปกติห้องละ 2-3 คน มีอาจารย์ของโครงการศึกษาพิเศษอยู่ประจำห้องเรียนละ 1 คน ส่วนนักเรียนออทิสติกที่มีศักยภาพในการเรียนรู้สูง มีความสามารถในการเรียนรู้ทันกับกลุ่มเพื่อน และสามารถปรับตัวอยู่ในห้องเรียนปกติได้ดีพอสมควร จะมีอาจารย์นักเรียนจิตวิทยาแนะแนวเป็นผู้ดูแล ติดตามประสานงานอย่างใกล้ชิดกับอาจารย์ผู้สอน และผู้ปกครอง ในการให้ความช่วยเหลือและส่งเสริมพัฒนาการของนักเรียนทั้งด้านการเรียน พฤติกรรม อารมณ์ และสังคม
เพื่อให้เด็กออทิสติกมีประสบการณ์ที่ดี และประสบผลสำเร็จในการเรียนรวมกับเด็กปกติในห้องเรียนปกติ กระบวนการส่งเด็กออทิสติกเข้าเรียนในห้องเรียนปกติ ซึ่งดำเนินการตั้งแต่ต้นปีการศึกษาเกี่ยวข้องกับกิจกรรมดังต่อไปนี้
1. จัดนักเรียนเข้าเรียนในห้องเรียนที่อาจารย์ประจำชั้นและอาจารย์ผู้สอนวิชาต่างๆ มีเจตคติที่ดี เข้าใจยินดี และเต็มใจที่จะทำงานกับนักเรียนออทิสติก
2. นักจิตวิทยาโรงเรียน และอาจารย์โครงการศึกษาพิเศษที่เคยสอนหรือติดตามดูแลนักเรียนประชุมร่วมกับอาจารย์ทุกคนที่สอนในห้องเรียนปกติ เพื่อให้ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับนักเรียนออทิสติกแต่ละคน และเพื่ออภิปรายแนวทางปฏิบัติต่อทั้งนักเรียนปกติและนักเรียน ออทิสติก
3. นักจิตวิทยาโรงเรียน และอาจารย์โครงการศึกษาพิเศษเตรียมนักเรียนออทิสติก โดยเฉพาะการฝึกหัดพฤติกรรมที่พึงประสงค์ในการเข้าเรียนรวมในห้องเรียนปกติ เพื่อที่นักเรียนออทิสติกจะสามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันร่วมกับเพื่อนในห้องเรียนปกติได้
4. อาจารย์ประจำชั้นห้องเรียนปกติและอาจารย์โครงการศึกษาพิเศษ วางแผนและดำเนินงานร่วมกันในการพูดคุยอภิปราย และทำกิจกรรมต่างๆ กับนักเรียนปกติเพื่อให้นักเรียนปกติมีเจตคติที่ดี เข้าใจ เห็นใจ มีน้ำใจในการช่วยเหลือ และต้อนรับเพื่อนนักเรียนออทิสติกเป็นสมาชิกของห้องเรียนด้วยความยินดี อาจารย์ดำเนินกิจกรรมการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนักเรียนที่ดีและนักเรียนออทิสติกต่อเนื่องเป็นระยะๆ ตลอดจนปีการศึกษา
|
|
การประเมินความก้าวหน้าของนักเรียน
กระบวนการประเมินผลการเรียนสำหรับนักเรียนออทิสติกที่เรียนรวมในห้องเรียนปกติใช้กระบวนการเดียวกันกับที่ใช้สำหรับนักเรียนปกติ นั่นคือ ใช้วิธีการประเมินผลอย่างหลากหลายและเหมาะสมกับระดับพัฒนาการของนักเรียนแต่ละคน เพื่อที่อาจารย์จะได้หาแนวทางซ่อมเสริมจุดด้อย ส่งเสริมจุดเด่นให้นักเรียนได้พัฒนาเต็มความสามารถ สำหรับนักเรียนที่เรียนในห้องการศึกษาพิเศษ นักเรียนจะได้รับการประเมินตามแผนการศึกษารายบุคคล หรือตามเนื้อหาที่นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ นักเรียนทุกคนจะได้รับการประเมินด้วยแบบทดสอบที่ใช้ประเมินเด็กปกติ แต่ปรับวิธีการทดสอบให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน เพื่อศึกษาพัฒนาการของเด็กออทิสติก เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มเพื่อนระดับชั้นเดียวกัน ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่สำคัญในการพิจารณาส่งนักเรียนเข้าเรียนรวมกับเด็กปกติต่อไป
การประเมินผลความก้าวหน้าทางด้านพฤติกรรม เป็นการประเมินผลเพื่อการแก้ไขและพัฒนาอาจารย์ผู้สอนสังเกตพฤติกรรมนักเรียนอย่างใกล้ชิด และแก้ไขพฤติกรรมที่เป็นปัญหานั้นทันที โดยใช้เทคนิคการปรับพฤติกรรมเป็นหลัก ถ้านักเรียนออทิสติกยังคงมีปัญหาพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง จิตแพทย์ นักจิตวิทยา อาจารย์โครงการศึกษาพิเศษ และอาจารย์ประจำชั้น ร่วมมือวางแผนและดำเนินการปรับพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง จนสามารถแก้ไขปัญหาพฤติกรรมนั้นได้ หรือทำให้พฤติกรรมไม่พึงประสงค์ลดน้อยลง
|
|
ความร่วมมือระหว่างโรงเรียน โรงพยาบาลและผู้ปกครอง
การจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของโรงเรียน จากหลักฐานที่บ่งชี้ว่าเด็กออทิสติกมีความผิดปกติทั้งด้านระบบประสาทและสภาวะจิตใจนั้น เด็กออทิสติกจึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการบำบัดรักษาจากแพทย์ควบคู่กับการให้การศึกษา นอกจากนั้น พ่อแม่ซึ่งเป็นผู้ที่รู้จักเด็กดีที่สุด มีบทบาทสำคัญในการให้ข้อมูลกับครูเกี่ยวกับพัฒนาการของนักเรียนและเทคนิควิธีการต่างๆ ที่พ่อแม่ใช้ได้ผลมาแล้ว ดังนั้นการประสานงานและความร่วมมืออย่างดีระหว่างครู แพทย์ และพ่อแม่ จึงมีความจำเป็นและสำคัญต่อความสำเร็จของโครงการ เพื่อให้การดำเนินงานร่วมกันของทั้ง 3 ฝ่าย เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีการดำเนินงานดังนี้
1. นักจิตวิทยาโรงเรียน อาจารย์ที่ปฏิบัติงานในโครงการ และผู้ปกครองประชุมร่วมกันอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง เป็นการประชุมกลุ่มย่อยทีละระดับชั้น เพื่ออภิปรายถึงพัฒนาการและปัญหาของนักเรียนแต่ละคน และวางแผนร่วมกันในการแก้ไขปัญหา การประชุมดังกล่าวก่อให้เกิดความเข้าใจที่ดีต่อกันระหว่างบ้านและโรงเรียน ระหว่างผู้ปกครองกับกับผู้ปกครองด้วยกัน เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้ทั้งครูและผู้ปกครองได้พูดถึงสิ่งที่กังวล ห่วงใย ได้เรียนรู้กลยุทธ์การเรียนการสอน การอบรมเลี้ยงดูลูกออทิสติกและเทคนิควิธีการจัดการกับพฤติกรรมอย่างสร้างสรรค์
2. คณะกรรมการดำเนินงานโครงการ อาจารย์ที่ปฏิบัติงานในโครงการ และคณะแพทย์จากโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ ประชุมปรึกษาเกี่ยวกับนักเรียนออทิสติกเป็นรายกรณีอย่างน้อยภาคเรียนละ 1 ครั้ง เพื่ออภิปรายถึงความก้าวหน้าทั้งด้านการเรียน และพฤติกรรม รวมทั้งปัญหาต่างๆ และแนวทางปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาและส่งเสริมพัฒนาการของนักเรียน การประชุมดังกล่าวก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาให้เด็กออทิสติกเป็นอย่างมาก เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์และการศึกษา ได้แลกเปลี่ยนความรู้ในสาขาวิชาของตน และได้เรียนรู้ข้อมูลซึ่งกันและกัน บุคลากรทางการศึกษามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบำบัดทางด้านจิตเวช และการนำวิธีการบำบัดนั้นมาปฏิบัติในโรงเรียน ส่วนบุคลากรทางการแพทย์มีความรู้ความเข้าใจวิธีการจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กออทิสติกเมื่อเรียนร่วมกับเด็กปกติ ทำให้สามารถจัดกิจกรรม เพื่อเตรียมเด็กในโรงพยาบาลให้มีความพร้อมมากยิ่งขึ้น ก่อนส่งนักเรียนเข้าเรียนในชั้นเรียนปกติต่อไป
|
|
3. ผู้ปกครองและอาจารย์ที่ปฏิบัติงานในโครงการ ขอรับคำปรึกษาจากนักจิตวิทยาโรงเรียนได้ตลอดเวลา และนักจิตวิทยาโรงเรียนจะเป็นผู้ประสานงานกับจิตแพทย์ในกรณีที่จำเป็น
4. ในช่วงปิดภาคเรียน อาจารย์ที่ปฏิบัติงานในโครงการเข้ารับการฝึกอบรมที่โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ ภายใต้การนิเทศของจิตแพทย์ เกี่ยวกับการบำบัดรักษาเด็กออทิสติก
5. จิตแพทย์และนักจิตวิทยาโรงเรียนร่วมมือกันจัดการฝึกอบรมให้กับผู้ปกครองและสมาชิกในครอบครัวให้มีความรู้ ทักษะ และความเชื่อมั่นในตนเองที่จะมีปฏิสัมพันธ์ในทางบวกกับเด็ก ออทิสติกแก้ปัญหาพฤติกรรมที่ท้าทายได้สำเร็จผล และสร้างเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาเด็กออทิสติก
6. โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ ส่งแพทย์และพยาบาลจิตเวชมาศึกษาการจัดการศึกษาสำหรับเด็กออทิสติกที่โรงเรียน และสังเกตพฤติกรรมนักเรียน
7. จิตแพทย์ให้การบำบัดรักษาและให้คำปรึกษากับนักเรียนออทิสติก พ่อแม่ และอาจารย์
8. ในกรณีที่นักเรียนออทิสติกมีปัญหาทางพฤติกรรมรุนแรง ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น และอาจารย์ไม่สามารถควบคุมได้ นักเรียนจะได้รับการบำบัดอย่างรีบด่วน ในกรณีที่ไม่รุนแรงมาก นักเรียนจะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากอาจารย์ในโครงการการศึกษาพิเศษ และพยาบาลจิตเวช ส่วนนักเรียนที่มีปัญหารุนแรงมาก ทางโรงพยาบาลจะรับนักเรียนกลับคืนไปเพื่อการบำบัดรักษาอย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมใหม่ โรงเรียนจัดส่งแผนการเรียนและอุปกรณ์การเรียนไปให้นักเรียนเรียนที่โรงพยาบาล
|
|
การฝึกอบรมครูและการนิเทศ
ประเทศไทยยังไม่มีโปรแกรมการฝึกหัดครูการศึกษาพิเศษเพื่อทำงานกับเด็กออทิสติก ดังนั้นอาจารย์ที่ทำงานในโครงการศึกษาพิเศษ และอาจารย์ที่สอนในห้องเรียนปกติ จึงมีความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ที่จำกัดในการทำงานกับเด็กออทิสติก เพื่อให้การจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนออทิสติกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีการให้ความรู้เกี่ยวกับออทิสติกกับทางอาจารย์ในโครงการ และอาจารย์ในห้องเรียนปกติเป็นระยะๆ ในเรื่องลักษณะของเด็กออทิสติก การปรับสภาพแวดล้อมของห้องเรียน กลยุทธ์การสอนเด็กออทิสติกที่มีประสิทธิภาพการปรับสาระการเรียนรู้และกิจกรรมให้เหมาะสมกับเด็กออทิสติก การพัฒนาทักษะการถ่ายโยงความรู้ เทคนิคการปรับพฤติกรรม การใช้วิธีการเสริมแรงและการลงโทษที่เหมาะสม การสังเกตพฤติกรรมในชั้นเรียน และการบันทึกข้อมูล และการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน
นักจิตวิทยาโรงเรียนและอาจารย์นิเทศทำหน้าที่ให้การปรึกษา เข้าสังเกตการณ์สอน การดูแลนักเรียนและพฤติกรรมของนักเรียนเป็นระยะๆ อย่างสม่ำเสมอ และประชุมร่วมกับอาจารย์ที่ปฏิบัติงานในโครงการอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่ออภิปรายพัฒนาการและปัญหาของนักเรียน รวมทั้งปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของอาจารย์ในโครงการ รวมทั้งช่วยให้ครูสามารถวางแผนในการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
|
|
ผลงานที่ภาคภูมิใจ
โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ดำเนินโครงการการจัดการเรียนการสอน สำหรับเด็กออทิสติกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีการศึกษา 2533 จนถึงปีการศึกษา 2544 รวมเป็นเวลา 12 ปี เรามีนักเรียนออทิสติกในโรงเรียนจำนวน 52 คน เป็นชาย 44 คน และหญิง 8 คน กำลังเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีอาจารย์ปฏิบัติงานในโครงการ 23 คน ในปีการศึกษา 2544 อาจารย์ของโรงเรียนที่มีส่วนร่วมในการสอนนักเรียนออทิสติกมีจำนวน 160 คน
นักเรียนในโครงการทั้งหมดมีลักษณะครบตามเกณฑ์วินิจฉัยของออทิซึม (autism) และแอสเปอร์เกอร์ซินโดรม (Asperger syndrome) เมื่อแรกรับเข้าเรียน นักเรียนมีลักษณะของเด็กออทิสติกอยู่ในระดับเล็กน้อยถึงมีระดับความผิดปกติรุนแรง (mild to severe autism) ตามเกณฑ์การวินิจฉัยของ Childhood Autism Rating Scales (CARS : Schopler, Reichler, Renner, 1988) นักเรียนมีความสามารถทางสติปัญญาตั้งแต่ระดับความบกพร่องจนถึงระดับสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยมาก (IQ ระหว่าง 65 ถึง 126) เมื่อประเมินด้วยแบบทดสอบ Kaufman Assessment Battery for Children (Kaufman & Kaufman, 1983) หรือแบบทดสอบ Matrix Analogies Test : Expanded Form (Naglieri, 1985) หรือแบบทดสอบ Draw A Person : A Quantitative Scoring System (Naglieri, 1985)
จากการประเมินพัฒนาการของนักเรียนในปีการศึกษา 2544 พบว่า ในด้านการเรียน นักเรียนทุกคนมีความก้าวหน้าทางการเรียนตามศักยภาพของตนเองอยู่ในระดับที่น่าพอใจ นักเรียนส่วนใหญ่ที่มีความสามารถทางสติปัญญาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย มีผลการเรียนเฉลี่ยรวมทุกวิชาตลอดปีอยู่ในระดับ 1 (ค่อนข้างพอใช้) ถึง 2 (พอใช้) ส่วนนักเรียนที่มีความสามารถทางสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย ถึงสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยมาก ส่วนใหญ่มีผลการเรียนเฉลี่ยรวมทุกวิชาอยู่ในระดับ 2 (พอใช้) ถึง 3 (ดี) นักเรียนมีพัฒนาการทางด้านภาษาทั้งด้านความเข้าใจเรื่องราวที่ได้รับฟัง การพูดจาสื่อสารโต้ตอบ การอ่าน และการเขียนอย่างเด่นชัด
นอกจากพัฒนาการทางด้านการเรียนรู้แล้ว นักเรียนออทิสติกยังมีพัฒนาการทางสังคมที่เด่นชัด โดยเฉพาะนักเรียนที่เรียนรวมเต็มเวลาในห้องเรียนปกติ นักเรียนปกติได้รับเลือกจากเพื่อนๆ ให้เป็นหัวหน้าห้อง เป็นหัวหน้ากลุ่มทำงาน เป็นสมาชิกของกลุ่ม เป็นตัวแทนของห้องในการถือพานดอกไม้ธูปเทียนในพิธีไหว้ครู เป็นที่รักของเพื่อนๆ อาจารย์บางคนบอกว่า นักเรียนออทิสติกเป็นสีสันของห้องเรียน สร้างอารมณ์ขันและความสนุกสนานให้กับห้องเรียน อย่างไรก็ตาม เด็กออทิสติกหลายคนมีพฤติกรรมรบกวนบรรยากาศการเรียนการสอน สร้างความรำคาญให้เพื่อน บางครั้งควบคุมตนเองไม่ได้ และทำร้ายเพื่อนเมื่อถูกแกล้งหรือถูกยั่วยุ
|
|
พฤติกรรมที่เป็นปัญหาที่บ่งชี้ลักษณะเด็กออทิสติก เช่น การไม่สบตา ไม่เล่นกับเพื่อน รับประทานอาหารเฉพาะที่ชอบและคุ้นเคย การพูดหรือทำอะไรซ้ำ ๆ เช่น การหมุนนิ้วมือ การเหลาดินสอ การเปิดลิ้นชัก การเล่นของเล่นชนิดเดียวแบบเดียว การกลัวเสียงเพลงสาธิตเกษตร กลัวเสียงดัง กลัวสัตว์หรือผลไม้บางชนิด หรือพฤติกรรม ก้าวร้าว ควบคุมตนเองไม่ได้ ทำลายข้าวของและทำร้ายคนอื่นก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
สิ่งเหล่านี้แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของอาการออทิสติกที่เด่นชัด การประเมินซ้ำด้วยแบบประเมิน childhood Autism Rating Scales หลังจากนักเรียนเข้าเรียนในโครงการ 3 ปีขึ้นไป พบว่าเมื่อเริ่มเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 นักเรียนที่มีลักษณะออทิสติกในระดับผิดปกติรุนแรง ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่มีลักษณะออทิสติกในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง ส่วนนักเรียนที่มีลักษณะ ออทิสติกในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง ถูกจัดอยู่ในกลุ่มของเด็กที่ไม่ใช่ออทิสติก แต่อย่างไรก็ตาม คะแนนจากแบบประเมิน CARS ก็ยังชี้ให้เห็นว่า นักเรียนทุกคนยังมีพฤติกรรมออทิสติกอยู่บ้าง ถึงแม้ว่าพฤติกรรมเหล่านั้นเป็นพฤติกรรมที่ผิดปกติเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเด็กวัยเดียวกัน พฤติกรรมดังกล่าวประกอบด้วย การติดต่อสัมพันธ์กับบุคคลอื่น การตอบสนองทางอารมณ์ อาการกลัวหรือตกใจ การติดต่อสื่อสารด้วยวาจาและระดับของการทำกิจกรรม
จากการสังเกตในห้องเรียน พบว่า เพื่อนนักเรียนปกติส่วนใหญ่ให้การยอมรับและมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับนักเรียนออทิสติกเจตคติที่ดีและบรรยากาศของการสนับสนุนทางจิตใจและสังคมมีความสำคัญยิ่งต่อการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์ระหว่างนักเรียนออทิสติกกับเพื่อนนักเรียนปกติ เพื่อนนักเรียนปกติทำหน้าที่เป็นตัวแบบและเป็นครูของเด็กออทิสติก จากการศึกษานักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 พบว่า นักเรียนออทิสติกมีทักษะการสื่อสารและทักษะทางสังคมก้าวหน้าอย่างเด่นชัด แต่การตอบสนองทางสังคมยังมีน้อยกว่า และมีคุณภาพด้อยกว่าเพื่อนปกติวัยเดียวกันมาก นอกจากนั้น เด็กออทิสติกขาดทักษะการทำงานและการเล่นเป็นกลุ่ม นักเรียนออทิสติกในระดับมัธยมศึกษามีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับเพื่อนนักเรียนปกติมากกว่านักเรียนในระดับประถมศึกษา จากการสังเกตและผลการประเมินพบว่า นักเรียนระดับประถมศึกษาให้ความร่วมมือและให้ความช่วยเหลือเพื่อนนักเรียน ออทิสติกทั้งด้านการเรียนและด้านสังคมมากกว่านักเรียนระดับมัธยมศึกษา
|
|
นักเรียนออทิสติกระดับมัธยมศึกษาที่มีความสามารถทางสติปัญญาสูง มีความวิตกกังวลและต้องการเป็นที่ยอมรับของเพื่อนสูงกว่านักเรียนที่มีความสามารถทางสติปัญญาต่ำกว่านักเรียนออทิสติกอยากมีเพื่อนแต่ขาดทักษะในการสร้างสัมพันธภาพกับเพื่อน นักเรียนออทิสติกที่มีความสามารถทางสติปัญญาอยุ่ในเกณฑ์เฉลี่ย และสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ยังคงมีปัญหาและความยากลำบากในการทำความเข้าใจและแปลความหมายสถานการณ์ทางสังคม เขาไม่สามารถสื่อสารความต้องการ ความคาดหวัง และความรู้สึกให้เพื่อนนักเรียนปกติเข้าใจอย่างชัดเจน
ผลการศึกษาพบว่า การจัดให้นักเรียนออทิสติกเรียนรวมในห้องเรียนปกติ ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของนักเรียนออทิสติกทั้งด้านทักษะทางสังคม และพฤติกรรมการปรับตัว อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์การทำงานตลอดระยะเวลา 12 ปี ผู้เขียนพบว่า การเปิดโอกาสให้นักเรียนออทิสติกได้อยู่ในสภาพแวดล้อมและบรรยากาศทางสังคมที่ดี บุคคลแวดล้อมทั้งอาจารย์และเพื่อนนักเรียนปกติมีเจตคติที่ดีและให้การยอมรับนั้นไม่เพียงพอต่อการพัฒนาทักษะทางสังคม นักเรียนออทิสติกจำเป็นที่จะต้องได้รับการสอนทักษะทางสังคมและตัวต่อตัวในสถานการณ์จริง เพื่อที่จะสามารถพัฒนาทักษะทางสังคม และพฤติกรรมการปรับตัวที่เหมาะสมได้ พัฒนาการทางสังคมของนักเรียนออทิสติกที่มีความสามารถสูงนั้น ช้ากว่าพัฒนาการทางความคิดและการเรียนรู้มาก ดังนั้นการจัดการศึกษาให้กับเด็กออทิสติก จำเป็นต้องจัดโปรแกรมพิเศษเพื่อพัฒนาทักษะทางสังคมให้นักเรียนแต่ละคน ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ด้วย
|
|
อาจารย์ที่ปฏิบัติงานในโครงการ และอาจารย์ที่สอนในห้องเรียนปกติ ส่วนใหญ่มีความรู้สึกที่ดี และมีความพอใจต่อการดำเนินงานของโครงการ อาจารย์มีความเห็นว่า การจัดการเรียนรวมสำหรับนักเรียนออทิสติกสามารถพัฒนาสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนปกติและนักเรียนออทิสติก นักเรียนปกติมีการพัฒนาคุณภาพจริยธรรมของตนเอง เข้าใจสภาพสังคมที่แตกต่าง มีอาจารย์เพียงส่วนน้อยที่คิดว่า การเรียนรวมทำให้การสอนไม่เป็นไปตามแผน และเสียบรรยากาศการเรียนการสอน
จากการดำเนินงานของโครงการพบว่า เจตคติของอาจารย์ต่อนักเรียนออทิสติกดีขึ้น เมื่ออาจารย์ได้มีโอกาสทำงานกับเด็กออทิสติกมากขึ้น อาจารย์ได้ปรับเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับเด็ก ออทิสติก และเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กสามารถทำได้ อาจารย์ได้ค้นพบว่า นักเรียนออทิสติกมีศักยภาพในการเรียนรู้และพัฒนาการมากกว่าที่เคยคิดว่าจะเป็นไปได้ อาจารย์ได้รายงานถึงความเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศในห้องเรียน การที่มีนักเรียนออทิสติกเรียนรวมในห้องเรียนปกติ กระตุ้นและส่งเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ทั้งด้านวิชาการและสังคม สำหรับทั้งเด็กปกติกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มที่มีผลการเรียนดี ตลอดช่วงเวลา 12 ปี ผู้เขียนพบว่า ทั้งอาจารย์ที่สอนในห้องเรียนปกติ และเพื่อนนักเรียนปกติได้แสดงความอดทน มีน้ำใจ และให้ความช่วยเหลือให้กำลังใจและมีเจตคติที่ดีต่อนักเรียนออทิสติก
ผู้ปกครองนักเรียนออทิสติกมีความพอใจมากต่อการดำเนินงานโครงการ ผู้ปกครองรายงานว่านักเรียนมีความสุขในการมาโรงเรียน มีพัฒนาการอย่างเด่นชัดทั้งด้านการเรียนและสังคม การเรียนในห้องเรียนปกติช่วยส่งเสริมให้นักเรียนออทิสติกมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนนักเรียนปกติ ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนมากขึ้น นักเรียนออทิสติกกระตือรือร้นเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้และกิจกรรมทางสังคมกับเพื่อนๆ ผู้ปกครองรู้สึกซาบซึ้งในบุญคุณของอาจารย์ทุกคนในโรงเรียน ที่ให้โอกาสเด็กได้ใช้ชีวิตในสังคมของเด็กปกติอบรมสั่งสอนด้วยความรัก ความเข้าใจ ความเมตตา ความเสียสละและความอดทน กลุ่มผู้ปกครองเด็กออทิสติกจึงได้ร่วมกันจัดตั้งเป็นชมรมผู้ปกครองเพื่อเด็กพิเศษ และจัดตั้งมูลนิธิเพื่อเด็กที่มีความต้องการพิเศษขึ้นเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการ
|
|
อาจารย์ทุกคนในโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ ให้แก่เด็ก ออทิสติกกลุ่มนี้อย่างแท้จริง ด้วยความร่วมมือ ด้วยจิตใจที่ประกอบด้วยคุณธรรมอันสูงส่งของอาจารย์ทุกท่าน
รูปแบบการจัดการศึกษาพิเศษสำหรับเด็กออทิสติกในโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
...เป็นตัวอย่างของความสำเร็จในการจัดการเรียนรวมสำหรับเด็กพิการในโรงเรียนปกติ
...เป็นแหล่งที่ผู้ปกครองของเด็กออทิสติกอื่นๆ ใช้อ้างอิงว่า โรงเรียนอื่นๆ ควรทำได้โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทำให้ดูเป็นตัวอย่างแล้ว
...เป็นแหล่งให้กำลังใจแก่ผู้ปกครองเช่นกันว่า ถ้าลูกได้รับโอกาสทางการศึกษาเช่นนี้ ลูกจะพัฒนาขึ้นจะสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนปกติในสังคมได้อย่างเป็นสุข และเป็นสมาชิกที่ทำประโยชน์ให้สังคม
...เป็นแหล่งอ้างอิงของบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาพิเศษ
บุคคลต่างๆ ที่มาขอศึกษาดูงานการจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กออทิสติก ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครูอาจารย์ นิสิตนักศึกษา ผู้ปกครองและสื่อมวลชน ต่างแสดงความประทับใจ และชื่นชมในบุคลิกภาพ ในจิตอันสูงส่งของอาจารย์ที่ได้ให้การยอมรับ ให้โอกาสเด็กประสบความสำเร็จเหน็ดเหนื่อยกับการจัดกิจกรรมพิเศษ และอดทนต่อพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของนักเรียน มากกว่ารูปแบบและเทคนิคการจัดการเรียนการสอน ทุกคนที่มาเยี่ยมชมต่างบอกว่าประทับใจในบรรยากาศของห้องเรียนของโรงเรียน
|
|
เมื่ออาจารย์ได้แสดงน้ำใจอันงดงาม และได้แสดงออกโดยการปฏิบัติกับเพื่อนที่แตกต่างจากเขา ที่ด้อยโอกาสกว่าเขา ที่สร้างปัญหาให้กับเขา ด้วยความเข้าใจ ยอมรับและอดทน แสดงถึงการเป็นผู้มีน้ำใจที่งดงาม เราจึงได้เห็นภาพประทับใจที่หลากหลาย เช่น เด็กปกตินั่งลงผูกเชือกรองเท้าให้เด็กออทิสติก ช่วยพาไปห้องสมุด ชวนไปเล่นด้วย และสอนให้เล่นกับกลุ่มเพื่อน แม้แต่การทำงานกลุ่ม เด็กออทิสติกที่ไม่สามารถทำงานให้กลุ่มได้ เพื่อนก็ชวนเข้ากลุ่มใส่ชื่อลงในกลุ่มและเขียนหน้าที่ว่า ให้กำลังใจ
จากการที่นักเรียนออทิสติกที่พัฒนาการที่เด่นชัด ทั้งด้านการเรียนและพฤติกรรม นักเรียนได้พิจารณาจากที่ประชุมอาจารย์ระดับชั้นต่างๆ ให้ได้รับเกียรติบัตรประเภทต่างๆ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2536 ต่อเนื่องจนปีการศึกษา 2543 ทุกปี ดังต่อไปนี้ เกียรติบัตรประเภทที่ 1 (การเรียนดีเด่น ความประพฤติดี) 1 คน เกียรติบัตรประเภทที่ 2 (ความประพฤติดีเด่น) 11 คน เกียรติบัตรประเภทที่ 3 (การเรียนก้าวหน้าเด่นชัด ความประพฤติดี) 3 คน และเกียรติบัตรประเภทที่ 4 (การทำชื่อเสียงให้กับโรงเรียน ความประพฤติดี) 1 คน
|
|
ตลอดระยะเวลา 12 ปีของการดำเนินโครงการ ผู้เขียนได้นำเสนอการดำเนินงานและผลการศึกษาวิจัยของโครงการในการประชุมวิชาการระดับชาติ และระดับนานาชาติที่จัดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ คือ ประเทศบรูไน ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศฝรั่งเศส หลายครั้งหลายโอกาส นอกจากนั้น โครงการศึกษาพิเศษสำหรับเด็กออทิสติกในโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัลดีเด่นทางวิชาการประจำปี 2541 ประเภทโครงการเนื่องในวันพิการสากล และท่านอาจารย์ใหญ่ ผศ.ดร. จงรักษ์ ไกรนาม ได้เป็นตัวแทนของโรงเรียนเข้ารับโล่ และรางวัลจากท่านนายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย ในงานวันคนพิการสากล เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2541 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ผลจากการได้รับรางวัลในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ประกาศให้หน่วยงานโรงเรียนสาธิต เป็นหน่วยงานที่มีผลงานดีเด่น ทำชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเพียงหน่วยงานเดียวในมหาวิทยาลัยที่ได้รับการประกาศเกียรติคุณในปีการศึกษา 2541
|
|
จากผลการดำเนินงานโครงการศึกษาพิเศษทั้งสองโครงการ คือ โครงการศึกษาพิเศษสำหรับเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ และโครงการศึกษาพิเศษสำหรับเด็กออทิสติก จากการตระหนักในบทบาทหน้าที่ของโรงเรียนสาธิตในการเป็นผู้นำทางการศึกษาและการวิจัย และจากกระแสกดดันของสังคม รวมทั้งรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ที่ประกันโอกาสที่เท่าเทียมกันในการได้รับการศึกษาของเด็กไทยทุกคน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้อนุมัติให้โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดตั้งศูนย์วิจัยการศึกษาสำหรับเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาวิจัยนวัตกรรมการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิการประเภทต่างๆ ในโรงเรียนปกติ
เนื่องจากในปีการศึกษา 2544 นักเรียนออทิสติกจำนวน 5 คน จะสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรระดับมัธยมศึกษาตอนปลายของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการศึกษา และการศึกษาวิจัยการเรียนรู้ของบุคคลออทิสติกในระดับอุดมศึกษาต่อเนื่องจากการเรียนรู้ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงได้อนุมัติในหลักการให้ศูนย์วิจัยการศึกษาเพื่อเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินโครงการทางวิชาการและวิจัยต่อเนื่องเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติก โดยพิจารณารับนักเรียนออทิสติกที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มีคะแนนเฉลี่ยสะสมระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 ปีที่ 6 และ ปีที่ 6 ตั้งแต่ 2.0 ขึ้นไป เข้าศึกษาต่อในคณะต่างๆ ตามความถนัดและความสนใจของนักเรียนโดยวิธีพิเศษ ไม่ต้องผ่านการสอบคัดเลือก และมีกระบวนการดูแลและร่วมมือให้ความช่วยเหลือนักเรียนอย่างเป็นระบบต่อเนื่องจากโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภาควิชา คณะเกี่ยวข้องและโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ จนนักเรียนสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร
ในปีการศึกษา 2545 มีนักเรียนออทิสติก 2 คน ที่มีคะแนนเฉลี่ยสะสมระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 ปีที่ 5 และ ปีที่ 6 ภาคต้น เท่ากับ 3.03 และ 2.10 ได้รับพิจารณาเข้าศึกษาต่อ โครงการดังกล่าวจึงนับเป็นผลสำเร็จอีกประการหนึ่งของการดำเนินงานของคณาจารย์โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะแพทย์และบุคลากรของ โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ และผู้ปกครองนักเรียนออทิสติก
อาจารย์ นักเรียนและผู้ปกครองทุกคน บุคลากรทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในผลงาน ผลสำเร็จดังกล่าวข้างต้น แต่ผู้เขียนมีความเห็นส่วนตัวว่า ผลสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของโครงการไม่ได้อยู่ที่รางวัลใดๆที่ได้รับ แต่อยู่ที่ว่าพวกเราทุกคนได้ร่วมกันสร้างสรรค์ชุมชนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้เป็นชุมชนแห่งสันติสมาชิกในชุมชนของเราเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน ไม่ว่าบุคคลนั้นจะยาก ดี มี จน ปกติ หรือพิการ เรายอมรับซึ่งกันและกัน เกื้อหนุน ส่งเสริมซึ่งกันและกัน เพื่อประโยชน์สุขของทุกคน
|
|
บทสรุปและงานวิจัยในอนาคต
จากประสบการณ์การทำงานในโครงการความร่วมมือทางวิชาการและทางการวิจัยการจัดการศึกษาพิเศษระหว่างโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ และในโรงเรียนปกติได้อย่างประสบผลสำเร็จ ถ้ามีการจัดการที่ดีและเหมาะสม ดังนั้นหัวใจสำคัญของการจัดการศึกษาพิเศษสำหรับเด็กกลุ่มนี้คือ การให้เด็กออทิสติกใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเพื่อนนักเรียนปกติ การปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนนักเรียนปกติเป็นปัจจัยสำคัญและมีอิทธิพลต่อการกระตุ้นพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์และสังคมของเด็กออทิสติก ความสำเร็จของโครงการที่เกิดขึ้นได้นั้นเป็นเพราะโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ มีการรวมพลังของบุคคลทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนออทิสติก มีการวางแผน ดำเนินงานตามแผน ตรวจสอบผลการดำเนินงาน และแก้ไขให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
รูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนออทิสติกในโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นรูปแบบที่มีประสิทธิภาพ เมื่อมีนักเรียนออทิสติกในโรงเรียน เจตคติของบุคคลในชุมชนโรงเรียนเปลี่ยนแปลง ทั้งอาจารย์และนักเรียนที่ได้ทำงานและได้เติบโตร่วมกับนักเรียนออทิสติกมีมุมมองต่อคนพิการใหม่ อาจารย์ส่วนใหญ่ได้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการและสนใจเข้าร่วมสอนนักเรียนออทิสติกมากขึ้น นักเรียนปกติเปิดใจ ยอมรับความแตกต่าง และความหลากหลายระหว่างนักเรียนด้วยกันมากขึ้น
ผลสำเร็จของโครงการจัดการเรียนรวมสำหรับนักเรียนออทิสติก โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีผลกระทบต่อการให้บริการการศึกษาที่มีคุณภาพแก่นักเรียนที่มีความพิการรุนแรงในประเทศไทย ผลการดำเนินงานของโครงการเป็นหลักฐานที่เป็นรูปธรรมที่แสดงให้นักศึกษาและผู้ปกครองเด็กออทิสติกเห็นว่า ด้วยกระบวนการจัดการศึกษาและการบำบัดรักษาทางแพทย์ที่เหมาะสมเด็กออทิสติกสามารถพัฒนาและดำเนินชีวิตอย่างคนปกติทั่วไปได้ และสามารถที่จะเป็นสมาชิกที่มีคุณค่าและทำประโยชน์ต่อสังคมได้
|
|
การจัดการเรียนการสอนรวมสำหรับเด็กออทิสติกในโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในเวลา 12 ปีที่ผ่านมา ยังมีปัญหาในการดำเนินงานอีกหลายประการที่ควรได้รับการศึกษาวิจัยและพัฒนา เพื่อการเรียนรู้สูงสุดของนักเรียน เช่น ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร โดยเฉพาะนักจิตวิทยา นักอรรถบำบัด และอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการสอนเด็กออทิสติก ปัญหาการจัดการเรียนการสอนและประเมินผลในห้องเรียนปกติ และปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กออทิสติกในทุก ๆ ด้าน โครงการวิจัยเรื่อง การจัดการเรียนร่วมในโรงเรียนและการพัฒนาของครูเพื่อการเรียนรู้สูงสุดของนักเรียน ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สาขาการศึกษา ประจำปี 2544 เป็นจำนวนเงิน 400,000 บาท ซึ่งผู้เขียนเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยและมีอาจารย์ของโรงเรียนที่มีส่วนร่วมในการทำงานกับนักเรียน ออทิสติกทุกคนเป็นผู้ร่วมวิจัยนั้น นับเป็นก้าวสำคัญของการวิจัยและพัฒนาเพื่อปฏิรูปการเรียนรู้ของนักเรียนออทิสติก การศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษาสำหรับบุคคลออทิซึมในประเทศไทย เป็นความจำเป็นเร่งด่วนซึ่งต้องการการรวมพลังจากทุกฝ่ายทั้งองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน เนื่องจากภายใน 10 ปีข้างหน้า นักเรียนออทิสติกจะมีจำนวนมากที่สุดของนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษในโรงเรียน
(บทความจากการประชุมวิชาการระดับชาติ เรื่อง ครู หมอ พ่อแม่ : มิติแห่งการพัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติก เมื่อวันที่ 21-23 มีนาคม 2545 ณ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา)
|
บรรณานุกรม |
Kaufman AS and Kaufman NL. Kaufman Assessment Battery for Children.
Circle Pines : American Guidance Services, 1983.
Naglieri JA. Matrix Analogies Test Expanded Form : Examiners manual.
San Antonio : The Psychological Corporation, 1985.
Rutter M. Autistic Children : Infancy to adulthood. Seminar in Psychiatry. 1970 ; 2 : 435 450.
Rutter M and Schopler E. Wautism and developmental disorders : Concepts and Diagnostic issues. Journal of Autism and Development Disorders. 1987 ; 17 : 159 186.
Schopler E, Reichler RJ and Renner BR. The Childhood Autism Rating Scale (CARS).
Los Angeles : Western Psychological Services, 1988.
Steffenburg S and Gillberg C. The Etiology of Autism. In C. Gillerg, Ed. Diagnosis and Treatment of autism.
New York : Plenum Press, 1989 ; pp.63-82.
|