คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่มีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันของมนุษย์ อันจะช่วยพัฒนาความคิดของผู้เรียนให้สามารถคิดได้อย่างเป็นระบบ นอกจากนี้คณิตศาสตร์ยังเป็นเครื่องมือสำคัญของการเรียนรู้วิชาแขนงต่างๆ โดยทั่วไปเนื้อหาวิชาคณิตศาสตร์จะมีลักษณะเป็นนามธรรม บางตอนยากที่จะอธิบายให้เข้าใจได้ ครูหลายคนจึงมักพบปัญหาในการสอนคณิตศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการสอนคณิตศาสตร์ให้กับนักเรียนออทิสติกเพราะนักเรียนออทิสติกมีระดับอาการและบุคลิกภาพแตกต่างกันออกไป บางคนมีลักษณะเฉพาะตัวที่ไม่เอื้อกับการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ ผู้เขียนเองเคยได้มีโอกาสสอนคณิตศาสตร์เรื่องจำนวนและตัวเลขให้กับนักเรียนออทิสติกคนหนึ่งที่มีอาการรุนแรงคือ ก้าวร้าว หวาดกลัวสิ่งแวดล้อมที่แปลกใหม่ สื่อสารน้อย เหม่อลอย ระดับสติปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย อ่านและเขียนหนังสือเองไม่ได้ ทำความเข้าใจและแปรผลความคิดรวบยอดทางคณิตศาสตร์ได้ไม่ดีนัก
จากการที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้ารับการอบรมเรื่องการสอนแบบมอนเตสซอรี่ ที่โรงเรียนอนุบาลกรแก้ว รู้สึกสนใจการสอนแบบมอนเตสซอรี่ จึงได้ทดลองนำอุปกรณ์และกิจกรรมของมอนเตสซอรี่กลุ่มวิชาการมาใช้ในการเรียนการสอนคณิตศาสตร์
การสอนแบบมอนเตสซอรี่
จีระพันธุ์ พูลพัฒน์ (2540) ได้กล่าวถึงการสอนแบบมอนเตสซอรี่ว่าเป็นรูปแบบการเรียนการสอนรูปแบบหนึ่งสำหรับเด็กที่ริเริ่มขึ้นโดย ดร. มาเรีย มอนเตสซอรี่ ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี จุดเริ่มต้นของการจัดการเรียนการสอนแบบนี้ เพื่อเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา และต่อมาได้พัฒนาเพื่อใช้สอนสำหรับเด็กปกติ เมื่อการสอนประสบผลสำเร็จได้มีผู้สนใจนำวิธีการสอนแบบมอนเตสซอรี่ไปใช้อย่างกว้างขวาง หลักสูตรการสอนแบบมอนเตสซอรี่ เป็นไปตามปรัชญาและหลักการของการสอนแบบมอนเตสซอรี่ 5 ประการคือ
1) เด็กต้องได้รับการยอมรับนับถือ
2) เด็กมีจิตที่ซึมซับได้
3) ช่วงเวลาหลักของชีวิต
4) การเตรียมสิ่งแวดล้อม
5) การศึกษาด้วยตนเอง
การสอนแบบมอนเตสซอรี่มีจุดมุ่งหมายเพื่อมุ่งพัฒนาสติปัญญา สังคม อารมณ์ และร่างกาย มอนเตสซอรี่จะเริ่มจากรูปธรรมไปสู่นามธรรมโดยได้แบ่งกลุ่มกิจกรรมการสอนตามวัสดุอุปกรณ์ได้เป็น 3 กลุ่มดังนี้
1. กลุ่มประสบการณ์ชีวิตหรือการศึกษาด้านทักษะกลไล (Practical life or Motor Education)
จุดมุ่งหมายของกิจกรรมกลุ่มนี้ คือเพื่อให้เด็กได้พัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง มีสมาธิ มีวินัยในตนเอง และมีการประสานสัมพันธ์ รวมไปถึงการรู้จักดูแลสิ่งแวดล้อมและบุคคลรอบตัว
เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในกลุ่มนี้ เป็นสิ่งที่นักเรียนได้พบเห็น และคุ้นเคยอยู่ในชีวิตประจำวัน เครื่องมือจะจัดให้มีขนาดเหมาะสมกับเด็ก เพื่อเด็กจะได้ใช้อย่างคล่องตัว เหมาะกับวัยของเด็ก กลุ่มวิชานี้นับได้ว่าเป็นตัวเชื่อมโยงเด็กระหว่างบ้านและโรงเรียน ตัวอย่างของอุปกรณ์ในกลุ่มนี้ เช่น การพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ ครูจะให้เด็กเทข้าวสาร เทน้ำ ตีไข่ การพัฒนากล้ามเนื้อมัดย่อย ครูให้เด็กต่อภาพต่อมีจุก ฉีกกระดาษ หรือร้อยลูกปัด การส่งเสริมการดูแลกิจส่วนตัว ครูจะให้เด็กฝึกติดกระดุมแบบต่างๆ รูดซิป หรือคาดเข็มขัด เป็นต้น
|
|
2. กลุ่มประสาทสัมผัส (Sensorial Materials)
จุดมุ่งหมายของกิจกรรมนี้ เพื่อฝึกประสาทสัมผัสของเด็ก ให้จิตมุ่งไปที่ คุณสมบัติของวัสดุที่ปรากฏเห็นเด่นชัด การฝึกให้สังเกตรายละเอียดของสิ่งต่างๆ ซึ่ง เป็นสิ่งที่สำคัญมากในการอ่าน นอกจากนี้กิจกรรมของกลุ่มนี้ยังช่วยเพิ่มความสามารถของเด็กในการคิด การเห็นความแตกต่าง จุดเด่นการรวมกลุ่ม และการจัดระเบียบ หรือลำดับได้ ตลอดจนเตรียมเด็กให้พร้อมเมื่อถึงช่วงเวลาที่เด็กจะเรียนการเขียน และการอ่านได้
เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้เป็นอุปกรณ์เพื่อการสังเกตความแตกต่างด้วย หู ตา จมูก ลิ้น และมือ ตัวอย่างของอุปกรณ์ในกลุ่มนี้ เช่น ถาดแยกพวก ฝึกให้เด็กรู้จักจำแนก และเปรียบเทียบสิ่งของ หอคอยสีชมพู ฝึกเด็กแยกขนาดที่แตกต่าง บันไดสี น้ำตาล เพื่อพัฒนาประสาทรับรู้เรื่องการแบ่งส่วน แขนงไม้สีแดงเพื่อฝึกให้เด็กแยกความยาวที่แตกต่างด้วยสายตา แผ่นสัมผัสหยาบและเรียบเพื่อพัฒนาประสาทการรับรู้ทางการสัมผัส และกล่องสีที่ช่วยพัฒนาปราสาทการรับรู้เรื่องสี เป็นต้น
|
|
3. กลุ่มวิชาการ (Academic Materials)
จุดมุ่งหมายของกิจกรรมนี้เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการอ่าน การเขียนและคณิตศาสตร์ มอนเตสซอรี่เชื่อว่าจิตของเด็กได้ถูกเตรียมพร้อมสำหรับตัวเลข โดยการสร้างตามขบวนการ โดยการสร้างขึ้นทีละน้อยด้วยตัวของมันเอง เด็กจะมีความรู้โดยสัญชาตญาณ ซึ่งจะเป็นความรู้ที่จะเป็นการเตรียมการสำหรับความคิด ความอ่านทางด้านตัวเลข การที่จะสอนคณิตศาสตร์ให้กับเด็ก ต้องกลับไปยังอุปกรณ์การสอนกลุ่มประสาทสัมผัส เช่นแขนงไม้สีแดงสามารถสอนเกี่ยวกับความยาวและสั้น เมื่อถึงเวลาของการสอนตัวเลข แขนงไม้คณิตศาสตร์จะถูกนำมาใช้วางเรียงตามลำดับ เด็กจะได้รับการสอนเลขโดยการนับและบอกชื่อของแขนงไม้หนึ่งถึงสิบ นิ้วจะชี้ไปที่แขนงไม้แต่ละท่อนเพื่อให้เข้าใจการนับยิ่งขึ้น เมื่อเด็กต้องการบอกชื่อของตัวเลข เด็กจะมองเห็นเลขตามจำนวนนั้นในแขนงไม้คณิตศาสตร์
เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับการเขียน การอ่าน และคณิตศาสตร์ ตัวอย่างของอุปกรณ์ในกลุ่มนี้ เช่น บัตรตัวเลขกระดาษทราย แขนงไม้คณิตศาสตร์ กระดานบวกเลข กระดานหลักเลข ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมในการเรียนคณิตศาสตร์ แผ่นภาพโลหะกรอบรูปทรงเรขาคณิตใช้ในการฝึกลีลามือในการเขียนตัวอักษร บัตรอักษรกระดาษทราย ตัวอักษรเคลื่อนที่ใช้ในการสร้างคำหรือประสมคำ เป็นต้น
|
|
อุปกรณ์การสอนแบบมอนเตสซอรี่แต่ละชิ้นจะมีจุดมุ่งหมายเฉพาะ จุดเน้นอยู่ที่การรับรู้โครงสร้างของอุปกรณ์ที่จัดไว้นั้นเพื่อทำให้เกิดการรับรู้โดยผ่านทางประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหว มีลำดับความยากง่ายเป็นลำดับที่ต่อเนื่องกันไป ครูจะเป็นผู้สาธิตอุปกรณ์ให้แก่เด็ก มอนเตสซอรี่เน้นว่า มือคือครูที่สำคัญของเด็ก อุปกรณ์ในระบบการสอนนี้จะมุ่งในแง่ชวนให้เด็กใช้มือในการเรียนรู้ โดยผ่านวิธีการสอนสามขั้นตอน (The Three - Period Lesson)
วิธีการสอนสามขั้นตอนดังกล่าว Hainstock ( อ้างถึงในจีระพันธุ์, 2540 ) อธิบายไว้ ดังนี้
ขั้นแรก สังเกตเห็นลักษณะเฉพาะของสิ่งนั้น( Recognition of Identity ) ทำให้เชื่อมโยงสิ่งที่ครูสาธิตให้ดูกับชื่อของสิ่งนั้นได้
ขั้นสอง สังเกตเห็นความแตกต่าง( Recognition of Contrasts )
ขั้นสาม เห็นความแตกต่างระหว่างสิ่งของที่มีความคล้ายคลึงกัน (Discrimination Between Similar Objects ) ขั้นตอนนี้ เพื่อที่จะได้ทราบว่าเด็กจำชื่อสิ่งต่างๆที่ครูสาธิตให้ดูได้หรือเปล่า
ตัวอย่างการนำเสนอการสอน 3 ขั้นตอน ( อ้างถึงในจีระพันธุ์ และคำแก้ว, 2543) เพื่อเชื่อมโยงภาษากับอุปกรณ์หรือสิ่งของโดยใช้อุปกรณ์กล่องสีที่ประกอบด้วยแถบสี 3 คู่ คือแดง น้ำเงิน และเหลือง โดยครูวางแถบสีไปทีละสีทั้ง 3 สี แล้วบอกเด็กว่ามีสีที่แตกต่างกันหรือไม่ ต่อมาครูจะพูดว่าครูจะเล่นกับสีที่เหมือนกัน ครูเอาสีที่เหมือนกันวางคู่กันแล้วเอาแถบสีออกมา บอกว่าจะเล่นกับสีที่เหมือนกัน สีต่างๆเหล่านี้มีชื่อ แล้วเริ่มวิธีการสอน 3 ขั้นตอน
|
|
ขั้นที่ 1 นี่คือสีแดง ครูบอกเด็กพร้อมหยิบแถบสีแดงขึ้นมา เด็กจะเห็นสีแดงและได้ยินชื่อสี
นี่คือสีเหลือง ครูบอกเด็กพร้อมหยิบแถบสีเหลืองขึ้นมา เด็กจะเห็นสีเหลืองและได้ยินชื่อสี
นี่คือสีน้ำเงิน ครูบอกเด็กพร้อมหยิบแถบสีน้ำเงินขึ้นมา เด็กจะเห็นสีน้ำเงินและได้ยินชื่อสี
ขั้นที่ 2 อันไหนสีน้ำเงิน ครูถามเด็ก แล้วให้เด็กหยิบสีน้ำเงินขึ้นมา
อันไหนสีเหลือง ครูถามเด็ก แล้วให้เด็กหยิบสีเหลืองขึ้นมา
อันไหนสีแดง ครูถามเด็ก แล้วให้เด็กหยิบสีแดงขึ้นมา
ขั้นที่ 3 อันนี้สีอะไร ครูถามเด็กพร้อมชี้ไปที่แถบสีแดงให้เด็กตอบ
อันนี้สีอะไร ครูถามเด็กพร้อมชี้ไปที่แถบสีเหลืองให้เด็กตอบ
อันนี้สีอะไร ครูถามเด็กพร้อมชี้ไปที่แถบสีน้ำเงินให้เด็กตอบ
หมายเหตุ: ในขั้นที่ 1 ครูเริ่มต้นด้วยสีแดง และจบด้วยสีน้ำเงิน ในขั้นที่ 2 ครูจะเริ่มต้นด้วยสีน้ำเงินก่อนเนื่องจากเป็นสีสุดท้ายของขั้นที่ 1 และเด็กยังจำได้ ในขั้นที่ 3 เนื่องจากครูพูดชื่อสีแดงเป็นสีสุดท้ายในขั้นที่ 2 ครูจึงเริ่มต้นด้วยการถามที่สีแดงก่อน
การสอน 3 ขั้นตอนนี้ จะดำเนินการไปทีละขั้นหรือมากกว่า 1 ขั้นในการสอนแต่ละครั้ง ขึ้นอยู่กับความพร้อมของเด็ก
กิจกรรมการสอนคณิตศาสตร์แบบมอนเตสซอรี่ให้กับเด็กออทิสติก
ในการสอนคณิตศาสตร์เด็กออทิสติก ผู้เขียนได้มีโอกาสสอนนักเรียนออทิสติกเพศชายคนหนึ่ง อายุประมาณ 12 ปี และได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นออทิสติก มีการทำงานของคลื่นสมองผิดปกติ มีอาการค่อนข้างรุนแรงคือ ก้าวร้าว ทำร้ายผู้อื่นอย่างรุนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ หวาดกลัวสิ่งแวดล้อมที่แปลกใหม่ พูดคุยสื่อสารได้น้อย แสดงออกไม่เหมาะสม ขาดปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เหม่อลอย ระดับสติปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยมาก อ่านและเขียนหนังสือเองไม่ได้ ทำความเข้าใจและแปรผลความคิดรวบยอดทางคณิตศาสตร์ได้ไม่ดีนัก นักเรียนได้ผ่านการเตรียมความพร้อมมาแล้ว 2 ปี ซึ่งผู้เขียนมีโอกาสติดตามและให้ความช่วยเหลือในการเรียนทั้ง 2 ปี พบว่านักเรียนยังไม่สามารถนับเลขได้ ไม่เข้าใจค่าของตัวเลข และมักแสดงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ขณะเรียนเช่น หยิก ตี หรือดึงสมุดหนีครู ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงได้ทดลองนำการสอนแบบมอนเตสซอรี่ในกลุ่มวิชาการมาใช้สอนคณิตศาสตร์ โดยกิจกรรมที่ใช้มีระยะเวลาในการสอนวันละ1 คาบ คาบละ 50 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ เป็นระยะเวลา 1 ภาคการศึกษา ผู้เขียนขอนำเสนอกิจกรรมการสอนที่ได้ดำเนินการไปเป็นลำดับดังนี้
1. กิจกรรมแขนงไม้คณิตศาสตร์ กิจกรรมนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้จำนวน 1 10 ฝึกตา มือประสานสัมพันธ์ และฝึกสมาธิ แขนงไม้คณิตศาสตร์ประกอบด้วยแขนงไม้ 10 ท่อน ซึ่งมีความยาวตามลำดับ ท่อนแรกเป็นท่อนที่สั้นที่สุดมีความยาว 4 นิ้ว มีสีแดง ท่อนถัดไปมีความยาว 8 นิ้ว มีสีแดงและสีน้ำเงินอย่างละครึ่ง เป็นไปตามลำดับดังนี้ จนถึงท่อนสุดท้ายซึ่งเป็นท่อนที่ยาวที่สุดมีความยาว 40 นิ้ว มีสีแดงและสีน้ำเงินสลับกันไป
|
|
ขั้นตอนการดำเนินกิจกรรม
1.1 ครูนำอุปกรณ์ไปวางโดยเริ่มจากแขนงไม้ท่อนที่สั้นที่สุดด้วยมือทั้งสองจับที่ปลายทั้งสองข้างและยกไปทีละท่อน
1.2 ครูวางแขนงไม้ให้คละกัน
1.3 เริ่มจากท่อนที่สั้นที่สุดครูหยิบแขนงไม้ด้วยมือทั้งสองมาวางที่มุมล่างซ้ายมือ
1.4 ครูเลือกแขนงไม้ท่อนที่สั้นที่สุดในจำนวนที่เหลือ แล้วค่อยๆวางถัดขึ้นไปเหนือท่อนแรก วางเรียงจนเป็นรูปบันได
1.5 ครูแยกแขนงไม้ที่จัดเป็นรูปบันไดออก วางให้คละกัน แล้วให้เด็กลองทำเอง
1.6 ครูแนะนำให้เด็กรู้จักแขนงไม้ 1 และ 2 (ท่อนที่สั้นที่สุดคือ 1 และถัดไปคือ 2 เรียงตามลำดับต่อไปจนถึงแขนงไม้ 10) เมื่อเด็กรู้จักแล้วครูแนะนำแขนงไม้3และ4ต่อ ทำเช่นเดียวกับแขนงไม้ทั้งหมด จนเด็กรู้จักแขนงไม้ 1-10
2. กิจกรรมบัตรตัวเลขกระดาษทราย กิจกรรมนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้เด็กได้รู้จักนับเลข 1- 10 รู้จักสังเกตตัวเลข รู้จักความหมายและค่าของตัวเลข และสร้างสมาธิในการทำงาน ซึ่งบัตรตัวเลขจะทำมาจากบัตรที่ติดตัวเลขกระดาษทรายจาก 0 9 รวม 10 บัตร
|
|
ขั้นตอนการดำเนินกิจกรรม
2.1 ครูนำกล่องบัตรตัวเลขกระดาษทรายมาวาง
2.2 ครูนำเลขศูนย์ออกมาวางข้างๆ นำเลขหนึ่ง และเลขสองออกมา
2.3 ครูถือเลขหนึ่งไว้ในมือซ้าย ใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางของมือขวาลูบไปบนตัวเลขเบาๆพร้อมบอกเด็กว่า "เลขหนึ่ง" หลังจากนั้นให้เด็กลูบบ้าง
2.4 ทำเช่นเดียวกับเลขสอง
2.5 เมื่อเด็กสามารถลูบบัตรตัวเลขกระดาษทราย พร้อมทั้งบอกหมายเลขได้แล้วให้ครูถามเด็กว่า "อันไหนหนึ่ง" และ "อันไหนสอง"
2.6 เมื่อเด็กสามารถหยิบเลขหนึ่ง และเลขสองได้ถูกต้องแล้ว ให้ครูถามเด็กต่อไปว่า "นี่เลขอะไร" และเพื่อให้แน่ใจว่าเด็กจำได้ให้ครูจัดกิจกรรมขึ้น เช่น ให้เด็กเอาเลขหนึ่งไปไว้บนโต๊ะและเอาเลขสองไปไว้ใต้โต๊ะ
2.7 ให้ทำเช่นเดียวกันกับเลขอื่นๆ โดยไม่ลืมที่จะทวนตัวเลขเก่าด้วย
2.8 เมื่อเสร็จแล้วทุกครั้งให้เรียงตัวเลขตามลำดับจาก 0-9 แล้วใส่กล่องเพื่อนำไปเก็บไว้ที่ชั้นอุปกรณ์
3. กิจกรรมจับคู่ตัวเลข กิจกรรมนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้เด็กนับ 1 10 รู้จักสังเกตสัญลักษณ์ 1 10 และฝึกเด็กในการจับคู่สิ่งของ โดยใช้ตัวเลขกระดาษทราย และตัวเลขพลาสติก
|
|
ขั้นตอนการดำเนินกิจกรรม
3.1 ครูหยิบตัวเลขกระดาษทรายหมายเลข 1 มาวางแล้วถามเด็กว่า "นี่เลขอะไร"
3.2 ข้างใตัตัวเลขกระดาษทรายหมายเลข 1 ครูหยิบตัวเลขพลาสติกหมายเลข 1 มาวางแล้วถามเด็กว่า "นี่เลขอะไร"
3.3 ทำเช่นเดียวกันกับตัวเลขทั้งหมด
3.4 เมื่อถึงตัวเลขกระดาษทรายหมายเลขสิบ ให้ครูหยิบตัวเลขกระดาษทรายหมายเลขหนึ่งมาคู่กับเลขศูนย์
3.5 ครูเก็บอุปกรณ์ใส่กล่องตามเดิม โดยเริ่มเก็บจากตัวเลขที่มากที่สุด
3.6 ให้เด็กลองทำดูบ้าง
4. กิจกรรมสัมพันธ์ตัวเลขกับแขนงไม้คณิตศาสตร์ กิจกรรมนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้เด็กเรียนรู้เลขจำนวน1-10 สามารถสัมพันธ์ตัวเลขกับแขนงไม้คณิตศาสตร์ ฝึกประสานสัมพันธ์ ตา-มือ และฝึกสมาธิ โดยใช้อุปกรณ์ ตัวเลขพลาสติกและแขนงไม้คณิตศาสตร์
|
|
ขั้นตอนการดำเนินกิจกรรม
4.1 ครูให้เด็กจัดแขนงไม้คณิตศาสตร์เป็นรูปบันได ครูเรียงตัวเลขพลาสติก
4.2 ครูชี้ไปที่แขนงไม้สีแดงที่สั้นที่สุดแล้วถามเด็กว่า "นี่อะไร"
4.3 เมื่อเด็กบอกว่าหนึ่ง ครูวางตัวเลขพลาสติกลงบนแขนงไม้
4.4 ครูทำเช่นเดียวกันกับตัวเลขและแขนงไม้ทั้งสิบ เมื่อเสร็จแล้วครูให้เด็กลุกขึ้นเดินไปรอบๆ เพื่อให้เด็กเห็นแขนงไม้และตัวเลขชัดเจนขึ้น
4.5 ครูวางตัวเลขพลาสติกและแขนงไม้ให้คละกัน
4.6 ครูหยิบตัวเลขมาหนึ่งตัวแล้วให้เด็กหาแขนงไม้ที่คู่กัน
4.7 ครูวางแขนงไม้และตัวเลขที่หยิบแล้วไว้คู่กัน ทำเช่นเดียวกันนี้กับแขนงไม้และตัวเลขทั้งหมด
4.8 จากนั้นให้เด็กเลือกตัวเลขและแขนงไม้เองแล้วให้เด็กบอกหมายเลขด้วย
5. กิจกรรมนับตะเกียบ กิจกรรมนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้เด็กเข้าใจความหมายของจำนวนที่จะต้องคู่กับสัญลักษณ์ของตัวเลข เข้าใจการจัดกลุ่ม เข้าใจว่าศูนย์ หมายถึงไม่มีจำนวน เข้าใจค่าของตัวเลขที่จะเรียงตามลำดับจาก 0-9 เข้าใจจำนวนว่ามาจากหน่วยย่อยรวมกัน และฝึกให้เด็กมีความแม่นยำในการจำค่าของตัวเลข มีอุปกรณ์คือ กล่องแบ่งเป็นช่อง 5 ช่อง จำนวน 2 กล่อง มีหมายเลข 0 9 ติดอยู่บริเวณเหนือกล่อง กล่องสำหรับใส่ตะเกียบและตะเกียบ 45 อัน
|
|
ขั้นตอนการดำเนินกิจกรรม
5.1 ครูวางกล่องที่มีช่อง 5 ช่องทั้งสองกล่องบนเสื่อ และกล่องใส่ตะเกียบไว้ขวามือล่างของเสื่อ
5.2 ครูชี้ไปที่เลขเหนือกล่องที่มีช่อง 5 ช่องทีละหมายเลขแล้วอ่านหมายเลขนั้นให้เด็กฟัง ครูถามเด็กว่า "นับได้ไหม"
5.3 ครูชี้ไปที่เลข 1 แล้วพูดว่า "หนึ่ง" ครูหยิบตะเกียบจากกล่องมาหนึ่งอัน แล้วพูดว่า "หนึ่ง"
5.4 ครูใส่ตะเกียบที่หยิบขึ้นมาลงในช่องหมายเลข 1 แล้วพูดว่า "หนึ่ง"
5.5 ทำเช่นเดียวกันกับตัวเลขทั้งหมดโดยนับทุกครั้งที่หยิบตะเกียบ
5.6 เมื่อนับเลขจนหมดถึงเลข 9 แล้วให้นับตะเกียบคืนใส่กล่องตะเกียบตามเดิม โดยนับทีละช่องแล้วใส่คืนในกล่องตะเกียบ จากนั้นครูให้เด็กลองทำดูบ้าง
5.7 ต่อมาครูสุ่มเลือกหมายเลขให้คละกันแล้วให้เด็กหยิบตะเกียบตามจำนวนนั้น
5.8 ครูให้เด็กดูในช่อง 0 แล้วบอกเด็กว่าไม่มีตะเกียบเพราะศูนย์ไม่มีจำนวน
การจัดกิจกรรมการสอนนั้นไม่ได้ใช้กิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งเพียงครั้งเดียว แต่ครูผู้สอนต้องคอยย้ำ ซ้ำ ทวนให้กับเด็กในแต่ละกิจกรรมจนคล่อง ผู้สอนไม่ควรรีบร้อน หรือเร่งรัดในการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งอาจมีหลายครั้งที่เด็กจะรู้สึกสับสน และท้อถอย โดยเฉพาะในช่วงแรกของแต่ละกิจกรรม แต่เมื่อเด็กได้ลองทำบ่อยๆแล้วจะคล่องแคล่วและแม่นยำมากยิ่งขึ้น และเมื่อเด็กสามารถเรียนรู้ได้ดีแล้วครูควรเปิดโอกาสให้เด็กได้มีโอกาสเลือกกิจกรรมการเรียนรู้เองบ้าง
ผลของการใช้กิจกรรมการสอนแบบมอนเตสซอรี่
ผลการใช้กิจกรรมการสอนแบบมอนเตสซอรี่ในการสอนคณิตศาสตร์เรื่องจำนวนและตัวเลขหลังจากได้ดำเนินกิจกรรมมาแล้ว 1 ภาคการศึกษา ผู้เขียนขอสรุปผลการใช้กิจกรรมโดยจำแนกเป็นด้านต่างๆได้ดังนี้
1. ด้านร่างกาย มีพัฒนาการด้านทักษะกลไก ตา มือ ประสานสัมพันธ์มากขึ้น กล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็กมีการพัฒนา สามารถหยิบ และจับสิ่งของหรืออุปกรณ์ต่างๆดีขึ้น มีความคล่องแคล่วและระมัดระวังมากขึ้น เพราะในการดำเนินกิจกรรมเด็กจะได้รับการกระตุ้นให้ใช้ตาและมือในการทำกิจกรรมอย่างระมัดระวังด้วยตนเอง
2. ด้านสติปัญญา สามารถทำความเข้าใจความคิดรวบยอดทางคณิตศาสตร์ได้ดีขึ้น รู้จักตัวเลข 1-10 และเข้าใจค่าของตัวเลข สามารถคิดได้อย่างเป็นระบบ และเป็นขั้นตอน สามารถตอบคำถามได้อย่างมั่นใจ เพราะกิจกรรมได้เปิดโอกาสให้นักเรียนหยิบ จับ ลูบ คลำสิ่งต่างๆแล้วเชื่อมโยงออกเป็นการเรียนรู้ของตนเอง แม้ว่าจะสามารถเรียนรู้ได้อย่างช้าๆ แต่ก็มีความคงทนในการเรียนรู้ และผู้เรียนสนุกสนานไปกับกิจกรรม ไม่เบื่อหน่าย และแสดงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ลดน้อยลง
3. ด้านอารมณ์ และจิตใจ มีพัฒนาการด้านอารมณ์ดีขึ้น สดชื่น ร่าเริง แจ่มใส เรียนรู้อย่างมีความสุข ความเครียดในการเรียนลดลง มีสมาธิมากขึ้น รู้จักการรอคอยและให้ความร่วมมือในการเรียนมากขึ้น พฤติกรรมไม่พึงประสงค์ เช่น วิ่งหนี เหม่อลอย หรือทำร้ายผู้สอนลดลง เพราะการจัดการเรียนรู้เป็นลักษณะให้ผู้เรียนปฏิบัติกิจกรรมจากอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ใช่เป็นการเขียนลงในกระดาษ และการท่องจำ ผู้เรียนจึงมีความรู้สึกว่าเป็นการเล่นมากกว่าเรียน ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย
4. ด้านสังคม แม้ว่าจะไม่มีเพื่อนเรียนร่วมในวิชานี้ด้วย แต่ผู้เรียนก็มี ปฎิสัมพันธ์กับผู้สอนมากขึ้น สามารถสื่อสารบอกความต้องการได้ ผู้เรียนรู้สึกไว้วางใจผู้สอนและตอบสนองทางการเรียนมากขึ้น มีระเบียบวินัย รู้หน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ เช่นเมื่อเสร็จกิจกรรมแล้วครูจะให้ผู้เรียนช่วยเก็บอุปกรณ์ และช่วยครูถือของ ซึ่งผู้เรียนก็จะเต็มใจและให้ความร่วมมือในการปฏิบัติเป็นอย่างดี
จากผลของการใช้กิจกรรมการสอนแบบมอนเตสซอรี่จะเห็นได้ว่าการสอนแบบมอนเตสซอรี่เป็นทางเลือกหนึ่งในการสอนนักเรียนออทิสติกที่เน้นการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียน สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 6 ที่ว่าการจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
|
|
การจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนออทิสติกให้ประสบผลสำเร็จนั้น นอกจากการใช้กิจกรรมการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความแตกต่างระหว่างบุคคลเพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาเต็มตามความสามารถทั้งด้านความรู้ จิตใจ อารมณ์ และทักษะต่างๆแล้ว ความรัก ความอดทน และการเอาใจใส่ต่อผู้เรียนก็เป็นสิ่งสำคัญ อันจะทำให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาการเรียนรู้ได้เต็มตามศักยภาพ สามารถเติบโต และใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข
|
บรรณานุกรม |
คำแก้ว ไกรสรพงษ์. 2545. การสอนแบบมอนเตสซอรี่สำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ.
กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัดพี.ที.ครีเอทีฟเฮาล์.
จีระพันธุ์ พูลพัฒน์. 2540. การสอนแบบมอนเตสซอรี่.
กรุงเทพฯ: เดอะมาสเตอร์กรุ๊ป แมเนจเม้นจำกัด.
จีระพันธุ์ พูลพัฒน์ และคำแก้ว ไกรสรพงษ์. 2543. การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยไทยตาม แนวคิดมอนเตสซอรี่.
กรุงเทพฯ:อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่งจำกัด.
จีระพันธุ์ พูลพัฒน์ และคำแก้ว ไกรสรพงษ์. 2544. คู่มือการสอนแบบมอนเตสซอรี่.
กรุงเทพฯ: เดอะมาสเตอร์กรุ๊ป แมเนจเม้นจำกัด.
ผดุง อารยะวิญญู. 2541. การศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ.
กรุงเทพฯ: P.A. ART & PRINTING CO, LTD.
เพ็ญแข ลิ่มศิลา. 2540. การวินิจฉัยโรคออทิสซึม.
สมุทรปราการ: แสงงามการพิมพ์.
|