มีคำกล่าวว่า ถ้าอยากเล่นกับเด็ก ก็ต้องทำตัวเหมือนเด็ก ถ้าเด็กคนนั้นเป็นออทิสติก ก็ยิ่งต้องทำตัวเป็นออทิสติกด้วย เมื่อมีการสร้างสัมพันธภาพที่ดีแล้ว เราก็จะ...เข้าถึงเด็กให้มากขึ้น สามารถพัฒนาเด็กไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้โดยง่าย
เมื่อถึงชั่วโมงพัก เด็กออทิสติกขึ้น ป.1 ทั้งห้อง จะนั่งเล่นของเล่นกันอย่างตั้งอกตั้งใจ ของใครก็ของคนนั้น ไม่มีการเล่นด้วยกัน ซึ่งเป็นเรื่องปกติตามธรรมชาติของออทิสติก ซึ่งจะขาดทักษะทางสังคม ไม่สนใจใคร อยู่ในโลกของตัวเอง ยกเว้นตั้นคนเดียวที่ง่วนอยู่กับหนังสือนิทานปกแข็งเล่มใหญ่
|
|
ตั้นมีระดับสติปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย อยู่ในโลกส่วนตัว ภาษาในการสื่อสารมีน้อย พูดเป็นคำสั้นๆ แต่มีอารมณ์ดีใช้ยิ้มแทนการพูด เขียนและอ่านได้บ้าง ขาดทักษะการจับใจความ ไม่ว่าจะเป็นการฟังหรือการอ่าน ต้องมีครูคอยนั่งประกบช่วยเหลือเวลาเรียน การที่มีลักษณะเฉพาะดังเช่นนี้ แต่ตั้นสนใจหนังสือมากกว่าของเล่น จะไม่มหัศจรรย์ล้ำหน้าเพื่อนในห้องไปหน่อยหรือ
ขอตอบว่า...ไม่ เพราะตั้นเล่นหนังสือ ไม่ใช่อ่านหนังสือ ตั้นเล่นโขกหนังสือกับพื้นอย่างตั้งอกตั้งใจ จะบอกให้ตั้นเปลี่ยนไปเล่นของเล่นอย่างอื่นก็ใช่ที่ เพราะตั้นได้เลือกของเล่นแล้ว และในการจัดการเรียนรู้แก่เด็กออทิสติก หลักสำคัญที่สุดคือ ต้องยึดเด็กเป็นสำคัญ ฉะนั้นควรเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสในการพัฒนาตั้น
|
|
อย่างที่เกริ่นไว้ตั้งแต่ต้น ถ้าอยากจะ...เข้าถึงเด็กออทิสติก ก็ต้องทำตัวให้เป็นเด็กออทิสติกด้วย ครูไม่รอช้าคว้าหนังสือเล่มขนาดเดียวกัน นั่งบนพื้นตรงหน้า โขกบนพื้นตามจังหวะของตั้น แรกๆ ตั้นก็ไม่สนใจ แต่ครูโขกไม่หยุด โขกไปมองหน้าตั้นไป ตั้นเลยหยุดหันหน้ายิ้มหวานให้ ครูได้โอกาสส่งหนังสือแลกกัน ตั้นก็ส่งให้ แลกกันไปแลกกันมา 2-3 ครั้ง ครูถามตั้นว่า อยากอ่านนิทานกับครูไหม ตั้นพยักหน้า แต่ครูสอนให้ตั้นพูดว่า อ่านครับ ครูให้ตั้นเลือกหยิบหนังสือ 1 เล่ม ซึ่งตั้นก็เลือกเล่มที่ตั้นเลือกไว้ตั้งแต่ต้น พอครูตบที่พื้นข้างตัว ตั้นก็เขยิบมานั่งเคียงข้าง
หนังสือเล่มนั้นเป็นเรื่องการผจญภัยของปลาน้อย ภาษาง่าย รูปสวย ครูอ่านให้ฟังช้าๆ ชี้รูปประกอบ อธิบายเสริม ตั้นมีสมาธิดีมาก นั่งฟังอย่างตั้งใจ พอดีหมดเวลาต้องเข้าเรียนตามปกติ
|
|
วันรุ่งขึ้น ตั้นก็ยังโขกหนังสือเล่มเดิมอีก ครูก็มีหนังสือของครูหนึ่งเล่มคราวนี้ครูไม่โขกตาม แต่กระดกหนังสือขึ้นลง ตั้นหยุดเงยหน้าขึ้นมามองครูคงสงสัยทำไมไม่ทำตาม ครูถาม อยากอ่านหนังสือใช่ไหม ตั้นพยักหน้า แต่ครูก็บอกให้ตั้นบอกความต้องการเป็นคำพูด โดยไม่ต้องตบพื้น ตั้นก็เขยิบมานั่งข้างครูอย่างเรียบร้อย
คราวนี้ครูอ่านนิทานไม่จบประโยค แต่กระตุ้นให้ตั้นพูดต่อให้จบ ฝึกให้สังเกตภาพประกอบ บอกให้รู้ว่าสิ่งนี้เรียกว่าอะไร ให้พูดตาม ตอบคำถามสั้นๆ ง่ายๆ ตั้นรู้สึกสนุกสนใจที่จะทำตาม
วันต่อมา พอตั้นหยิบหนังสือเล่มเดิมลงนั่ง ครูก็รีบลงนั่งทันที ไม่รอให้ตั้นโขกก่อน ถ้าตั้นชอบอ่านหนังสือ ตั้นต้องบอกเป็นคำพูดเลย จริงดังคาดตั้นหน้ายิ้มแป้นบอกครู อ่านหนังสือ ครูเลยชี้ชวนให้ตั้นลองเปลี่ยนหนังสือเล่มใหม่บ้าง ไม่ได้บังคับ แต่ใช้วิธีหลอกล่อจนตั้นพยักหน้าคล้อยตาม ลุกขึ้นไปหยิบหนังสือเล่มใหม่มาให้ แต่ก็หนีไม่พ้นหนังสือที่มีรูปร่างและขนาดเดียวกัน ไม่เป็นไร...ถือว่าเปลี่ยนเล่มได้ ก็มีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว
|
|
อาทิตย์หนึ่งผ่านไป แล้วก็ถึงวันจันทร์ ครูมัวแต่วุ่นวายกับการหาเอกสารราชการ จนลืมตั้นไปเลย พอเงยหน้าขึ้นมาอีกที ตั้นก็ยิ้มยิ้มอยู่ข้างตัว พร้อมหนังสือ 1 เล่ม อ่านหนังสือ ครูอึ้งไปชั่วครู่ตั้งหลักแทบไม่ถูก แต่แล้วครูกับลูกศิษย์ก็ไปหามุมเหมาะๆ นั่งกัน คราวนี้ตั้นคุ้นกับครูมากแล้ว ถ้าจะให้ตั้นคุ้นกับเพื่อนคนอื่นๆ ด้วยก็น่าจะดี ครูสอนคำพูดให้ตั้นไปชวนเพื่อนมาอ่านหนังสือด้วยกัน ตั้นไปพูดตามที่ครูสอนได้เพื่อนมา 1 คน แต่ที่มาคงเพราะแรงฉุดต่างหาก ไม่เป็นไร ได้แค่ไหนก็แค่นั้น
ตั้นรู้แล้วว่า หนังสือมีไว้อ่าน ไม่ใช่มีไว้โขก แล้วตั้นรู้อีกว่า ถ้าตั้นอยากจะอ่านหนังสือ นอกจากจะอ่านกับครูแล้ว ตั้นยังอ่านกับเพื่อนๆ ได้อีก ตั้นรู้วิธีการใช้คำพูดที่จะบอกความต้องการของตัวเอง ชักชวนเพื่อนได้ แม้จะยังไม่มากนัก แต่ทุกอย่างก็ค่อยเป็นค่อยไป เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ดีขึ้น
|
|
การที่ครูสามารถ...เข้าถึงตั้นได้นั้น เพราะครูใช้เทคนิคฟลอร์ไทม์ (Floor Time) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ช่วยให้เด็กออทิสติกมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นได้มากขึ้น
ดร.แสตนลีย์ กรีนแสปน ศาสตราจารย์ทางจิตวิทยาคลินิกพฤติกรรมศาสตร์และกุมารแพทย์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน เป็นผู้คิดค้นเทคนิคฟลอร์ไทม์ขึ้น โดยนำหลัก DIR Model มาใช้ ซึ่งประกอบไปด้วย
- Developmental คือ การพัฒนาการในเรื่องของการมีปฏิสัมพันธ์ การสื่อสารและการคิด โดยมีความต้องการและอารมณ์เป็นแรงจูงใจ
|
- Individual คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลของระบบการรับรู้ การประมวลข้อมูล และการทำงานประสานสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อมัดต่างๆ
|
- Relationship Based ใช้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ดูแลเด็กเป็นสำคัญ
|
การที่ ดร.แสตนลีย์ ได้เลือกเอาการเล่นมาเป็นหัวใจในการใช้ฟลอร์ไทม์นี้ ก็เพราะ การเล่นเป็นยุทธวิธีที่ทำให้มีการโต้ตอบกันอย่างมีแบบแผน สามารถนำมาใช้กับเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการอย่างรุนแรง เทคนิคนี้ตั้งอยู่บนฐานความเชื่อว่า การที่เด็กทำอะไรนั้น เด็กต้องมีเจตนาหรือวัตถุประสงค์อยู่แล้ว เพียงแต่ไม่สามารถสื่อสารความต้องการได้ ผู้ที่ใกล้ชิดหรือเกี่ยวข้องทั้งหลาย ต้องทำตามที่เด็กทำ เพื่อนำไปสู่การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน จากนั้นก็จะช่วยประคับประคองนำเด็กไปสู่การสื่อสาร การพัฒนาทักษะสังคม ทักษะชีวิต ฯลฯ
วัตถุประสงค์ของฟลอร์ไทม์
1.เพื่อให้มีความตื่นตัว
|
2.เพื่อให้รู้จักตัดสินใจด้วยตนเอง
|
3.มีความยืดหยุ่น
|
4.อดทนต่อความคับข้องใจ
|
5.มีการกระทำที่เป็นลำดับขั้นตอนได้นานขึ้น
|
6.รู้จักการประนีประนอมเพื่อหาข้อสรุป
|
7.รู้จักการสื่อสารทั้งท่าทางและคำพูด
|
8.มีความสุขในการเรียน
|
|
|
ครูหรือผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายที่จะใช้เทคนิคฟลอร์ไทม์นี้ ควรจะต้องมีคุณลักษณะดังนี้
- น้ำเสียงที่ใช้ต้องนุ่มนวล พูดช้า และชัดเจน
|
- ต้องไม่ใช้วิธีการก้าวร้าวหรือผลักดัน
|
- ต้องช่วยเรื่องการฟัง
|
- ไม่เจาะจงวิธีการสอน
|
- รวมกิจกรรมที่ใช้ในชีวิตประจำวันเข้าด้วยกัน
|
- ต้องยึดเด็กเป็นสำคัญ
|
- ต้องเป็นผู้ตามในขณะที่เด็กเป็นผู้นำในการเล่น และการมีปฏิสัมพันธ์
|
- สามารถใช้ของเล่นและวัสดุอื่นๆ ที่หลากหลายในการทำกิจกรรม เพื่อช่วยในการมีปฏิสัมพันธ์
|
- สามารถใช้สัญลักษณ์ท่าทาง และอุปกรณ์ในการเล่นได้
|
เทคนิคฟลอร์ไทม์นี้ ไม่จำเป็นจะต้องใช้กับออทิสติกเท่านั้น แต่สามารถใช้ได้กับเด็กโดยทั่วไป นับเป็นช่วงเวลาพิเศษ ที่พ่อแม่และสมาชิกในครอบครัวจะได้ใช้เวลาร่วมกัน ในบรรยากาศที่อบอุ่น เป็นสุข สนุกและปลอดภัย โดยอาจจะใช้ช่วงเวลารถติด ก่อนนอน หาโอกาสปิดทีวีบ้าง หรือการไปพักผ่อนร่วมกัน เพียงแต่อย่าลืมว่า เด็กเป็นผู้เลือกกิจกรรมตามความสนใจและพัฒนาการ เด็กเป็นผู้นำและคิดกิจกรรม ส่วนพ่อแม่เป็นผู้เสริมหรือสร้างสถานการณ์ ให้เด็กคิดแก้ปัญหา โต้ตอบสื่อสาร ต่อเติมความคิดและอารมณ์
|
|
เมื่อเด็กเกิดความรู้สึกสนุก สนใจ มีแรงบันดาลใจในการทำกิจกรรมต่างๆ เชื่อแน่ว่าเด็กจะต้องมีพัฒนาการในทางที่พึงประสงค์อย่างแน่นอน
|