หลักการเรียนการสอนในปัจจุบัน ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพุทธศักราช 2542 จะยึดผู้เรียนเป็นหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด ดังนั้นกระบวนการจัดการศึกษา ต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพโดยให้ผู้เรียนเกิดความสนใจต่อเนื้อหาวิชาและกิจกรรมการเรียนรู้ ในส่วนของผู้สอนนั้น ผู้สอนควรเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นนำเสนอสิ่งที่ผู้เรียนสนใจ เนื่องจากผู้เรียนจะไม่สามารถรู้ได้ว่าในแต่ละเนื้อหาวิชามีอะไรแตกแขนงออกไปมากกว่าที่เรียนอยู่ ดังนั้นผู้สอนจะรู้ว่าเด็กควรถูกกระตุ้นในสิ่งใด เพื่อให้เกิดการต่อยอดในการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด
|
|
ในหัวใจของผู้สอนที่ดีมีประสิทธิภาพ ต่างคนต่างก็คงมีคุณธรรม หลักธรรมประจำใจ มีความเอื้ออาทรต่อลูกศิษย์ที่ดีที่ถ่ายทอดออกมาให้ด้วยใจ และไม่ว่าลูกศิษย์จะเรียนดี เรียนเก่ง พฤติกรรมเยี่ยมยอด ไม่สร้างปัญหาให้เวียนศีรษะเลย หรือในทางตรงข้ามกับลูกศิษย์กลุ่มน้อย ๆ อีกกลุ่มที่ทำไมหนอ ครูสอนอะไรก็ลืม มีสื่อให้ดู ให้สัมผัสอยู่ตรงหน้าก็ไม่สนใจ ถามอะไรก็ไม่ตอบโต้ จะพูดแต่ในสิ่งที่ตนให้ความสนใจเท่านั้น และยังมีพฤติกรรมที่ผิดแปลกแหวกแนวจากเด็กทั่วไปอีก เช่น อยู่ในโลกส่วนตัวของตนเอง นั่งเล่นนิ้วมือตลอดเวลา หมุนตัว เอามือทุบโต๊ะ กระทืบเท้าแรง ๆ หากไม่พอใจต่อสิ่งใด หัวเราะและร้องไห้อย่างไร้สาเหตุ เล่นรวมกลุ่มและทำงานกลุ่มไม่ได้ ต้องมีปัญหาร้องโวยวายทุกครั้งที่เพื่อนไม่ฟังคำสั่งตนเอง และยังมองสีหน้าผู้อื่นไม่ออกอีกว่ารู้สึก ยินดีด้วย หรือโกรธ ไม่พอใจ ฯลฯ แต่เมื่อลูกศิษย์เป็นแบบนี้จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ผู้สอนต้องตระหนักและยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น ซึ่งคณะแพทย์และนักวิชาการได้ให้คำจำกัดความลักษณะของเด็กที่มีอาการดังกล่าวว่า ออทิซึม
|
|
นอกจากเด็กอทิสติกจะมีลักษณะอาการดังกล่าวมาแล้วยังอาจมีความบกพร่องทางการเรียนรู้ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการเรียนวิชาภาษาไทยและวิชาอื่น ๆ ตามมา นั่นคือเด็กมีความบกพร่องในการสะกดคำทำให้มีความสามารถในการเขียนและอ่านคำได้น้อย สิ่งเหล่านี้มีสาเหตุจากสิ่งใด มีวิธีการช่วยเหลือได้อย่างไร ประสบความสำเร็จหรือไม่ ผู้เขียนจึงขอยกกรณีตัวอย่างที่ได้พบเห็นมาจากชั่วโมงเรียนภาษาไทยระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เด็กชายเป๊ปและเพื่อน ๆ อีก 4 คน กำลังให้ความสนใจครูที่กำลังสอนนักเรียนสะกดคำ สระ า จากบัตรคำ เช่น กา ขา งา ชา ตา โดยฝึกสะกดตามครูในรอบแรก และในรอบ 2 ครูแจกบัตรคำให้นักเรียนคนละใบ ให้สะกดคำให้ถูกต้อง
ซึ่งเริ่มจาก คนที่ 1 กอ อา = กา
|
คนที่ 2 ขอ อา = ขา
|
คนที่ 3 งอ อา = งา
|
คนที่ 4 ชา อา = ชา
|
และคนสุดท้าย คนที่ 5 (นั่งเอามือเกาหัว
.. ก็เป๊ปไม่รู้ฮะ)
|
ไม่เป็นไรค่ะ เดี๋ยวลองคำใหม่
|
ครูแจกบัตรคำใบใหม่ให้เป๊ป และก็เหมือนเดิมคือเป๊ปนั่งเกาหัวแล้วก็บอกว่า เป๊ปก็ไม่รู้ฮะ นี่คือปัญหาในการสะกดคำไม่ได้ของเป๊ป และครูก็ให้โอกาสเป๊ปแบบนี้เรื่อยมาตั้งแต่เปิดภาคเรียนที่เริ่มเรียนจาก สระ -า สระ - ? สระ -ู สระ เ - แล้วจนเกือบจะครบเทอม เป๊ปก็ไม่สามารถอ่านสะกดคำและเขียนคำได้เลย การที่เป๊ปสะกดคำไม่ได้ อาจมีสาเหตุมาจาก
|
1. ความจำจากสายตา (มองเห็นตัวอักษรหรือคำแล้วแต่จำคำหรืออักษรไม่ได้)
|
2. ความจำจากการฟัง (ได้ยินแล้วแต่จำคำสั่งที่ได้ยินไม่ได้)
|
3. การจำแนกโดยใช้สายตา (เห็นคำแล้วแต่บอกไม่ได้ว่าเหมือนหรือแตกต่าง อย่างไร)
|
4. การจำแนกเสียง (ได้ยินแล้วแต่บอกไม่ได้ว่าครูพูดคำใดโดยเฉพาะคำที่มีเสียงสระใกล้เคียงกัน)
|
จากสาเหตุในปัญหาการสะกดคำนั้นสามารถทดสอบการรับรู้ของเป๊ป ทั้งการใช้สายตา การฟัง และการพูด ได้โดยวิธีดังต่อไปนี้
1. ทดสอบสายตาและการพูด เช่น ครูยกบัตรคำ อา ให้นักเรียนดู ครูเก็บบัตรคำแล้วให้นักเรียนสะกดด้วยปากเปล่า
|
2. ทดสอบการฟังและกล้ามเนื้อมัดเล็กเช่น ครูสะกดคำ หวี ให้นักเรียนฟัง แล้วให้นักเรียนเขียนคำ หวี ลงในสมุด
|
3. ทดสอบการฟังและการพูดเช่น ครูสะกดคำ ปู ให้นักเรียนฟัง แล้วให้นักเรียนพูดตามครู หลังจากครูพูดจบคำแล้ว
|
4. การใช้ประสาทการรับรู้หลายด้านเช่น ครูยกบัตรคำ เก่ง ให้นักเรียนดู ครูสะกดคำดังกล่าวให้นักเรียนฟัง แล้วให้นักเรียนสะกดตามครูและเขียนคำดังกล่าวลงในสมุด
|
|
|
เมื่อครูได้ทำการทดสอบการรับรู้ตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น พบว่าเป๊ปมีความบกพร่องในการสะกดคำ ซึ่งมีสาเหตุมาจากความจำจากสายตา ความจำจากการฟัง การจำแนกโดยใช้สายตา และการจำแนกเสียง เมื่อทราบเช่นนี้แล้วครูก็ได้เริ่มทำความคุ้นเคยกับเป๊ปมากขึ้น เพื่อที่เป๊ปจะได้เกิดแรงจูงใจและมีความพยายามในการเรียนวิชาภาษาไทยกับครูเพียงลำพังในห้องเรียนเล็ก ๆ ซึ่งเป๊ปจะต้องเรียนวิชาภาษาไทย 8 คาบเรียนใน 1 สัปดาห์ เพราะเป็นวิชาพื้นฐานสำคัญที่มีชั่วโมงเรียนมากว่าวิชาอื่น ๆ ครูไม่อยากให้เป๊ปหมดกำลังใจและเบื่อหน้าครูเสียก่อน ดังนั้นครูจึงได้เริ่มดำเนินการสอนแบบเริ่มต้นใหม่โดยเน้นการสะกดคำเป็นสิ่งแรก เพื่อเป็นการแก้ปัญหาความบกพร่องในการสะกดคำ
การสอนสะกดคำที่ครูใช้สอนเป๊ปมีวิธีต่าง ๆ ดังนี้
1. การเลือกคำที่ใช้ในชีวิตประจำวันหรือสิ่งรอบตัว
|
ขั้นแรกของการเริ่มต้นสอนสะกดคำตามบทเรียนจริง ควรเลือกคำที่ใช้ในชีวิตประจำวันหรือสิ่งรอบตัวเด็ก ที่คุ้นเคยอยู่ก่อนแล้ว และเด็กจะเข้าใจได้ง่ายขึ้นก็อาจใช้บัตรภาพมาช่วยในการสอน ซึ่งวิธีการสอนจริงที่ได้ใช้กับเป๊ป จะเป็นการสอนอย่างมีระบบ ดังขั้นตอนต่อไปนี้
|
1.1 ให้ดูภาพ จากบัตรภาพ
|
|
1.2 ดูคำที่จะใช้เขียน จากบัตรคำ
|
|
1.3 ฟังครูออกเสียงคำ
|
กอ แอ วอ แกว ไม้โท = แก้ว
|
1.4 ให้เป๊ปออกเสียงตามครู
|
กอ แอ วอ แกว ไม้โท = แก้ว
|
1.5 สอนให้สังเกตส่วนประกอบของคำ "แก้ว" เช่น
|
- พยัญชนะต้นของคำว่า "แก้ว" คือ ก
|
- สระของคำว่า "แก้ว" คือ แ
|
- ตัวสะกดของคำว่า "แก้ว" คือ ว
|
- รูปวรรณยุกต์ของคำว่า "แก้ว" คือ -้
|
1.6 ฝึกซ้ำใหม่ เพื่อเป็นการทบทวนให้เข้าใจมากขึ้น
|
|
ขณะที่ทำการฝึกครูควรมีความยืดหยุ่นบ้าง เพื่อที่เด็กจะได้ไม่เครียดจนเกินไปและควรฝึกให้นักเรียนออกเสียงพยัญชนะ สระ ตัวสะกด รูปวรรณยุกต์ อย่างถูกต้องให้ได้ก่อนสะกดคำ โดยครูจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด หากเด็กสะกดผิดพลาดต้องแก้ไขทันที
|
2. ใช้ประสาทสัมผัสหลายด้าน (Multi SensoryApproach)
วิธีนี้ เฟอร์นาล ได้แนะนำให้ใช้ประสาทสัมผัสรับรู้หลายด้านในการสอนเขียนแก่เด็กที่มีปัญหาในการเรียนรู้ คือใช้ทั้งการฟัง การใช้สายตา และการเขียนพร้อม ๆ กัน โดยปฏิบัติเป็นขั้นตอนดังนี้
2.1 ครูเขียนคำลงบนกระดาน แล้วครูอ่านออกเสียงคำนั้นให้ฟังอย่างถูกต้องชัดเจนในระหว่างที่เป๊ปดูครู
2.2 ให้เป๊ปใช้นิ้วชี้ลากไปตามตัวอักษรทีละตัวที่ประกอบขึ้นเป็นคำนั้น เอ่ยชื่อตัวพยัญชนะและสระ แล้วจึงให้เป๊ปอ่านออกเสียงคำนั้น เมื่อลากนิ้วครบทุกตัว
2.3 ครูเขียนคำนั้นลงบนสมุด และอ่านคำนั้น
2.4 ครูลบคำนั้นและให้เป๊ปเขียนคำนั้นอีกครั้ง หากเป๊ปเขียนผิดก็กลับไปเริ่มขั้นที่ 2 ใหม่ หากเป๊ปเขียนถูกครูจะรวบรวมคำนั้นไว้เพื่อใช้ทดสอบในครั้งต่อไป
2.5 ในการสอนคำใหม่ คำต่อไปครูอาจไม่ให้เป๊ปใช้นิ้วลากตามตัวอักษรแล้วแต่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่ 1 4 หากเป๊ปมีปัญหาในการสะกดคำใหม่จึงให้เป๊ปใช้การสัมผัส
|
3. การสะกดคำตามครู ( Imitation Method )
การสะกดคำตามครู เป็นวิธีที่มีขั้นตอนง่าย ๆ คือครูสะกดคำจากบัตรคำหรือบนกระดาน แล้วอธิบายด้วยว่าคำนั้นประกอบด้วยคำหรือพยัญชนะ สระ ตัวสะกด หรือ วรรณยุกต์ใดบ้างแล้วให้เป๊ปสะกดตามแต่พูดให้เสียงดังกว่าครูฝึกซ้ำ ๆ อย่างนี้หลาย ๆ ครั้ง จนกระทั้งเป๊ปสะกดคำได้เอง เมื่อสะกดเป็นคำได้แล้วก็เพิ่มคำเป็นประโยคที่ยาวขึ้นตามลำดับ และควบคุมให้ออกเสียงสะกดเบาลง ก่อนจะเปล่งเสียงของคำให้ดังตามปกติ ซึ่งเป๊ปก็ให้ความร่วมมือกับครูเป็นอย่างดี
|
4. การกำหนดคำ ( Word Lists )
เวลาสอนครูเขียนคำยากบนกระดานให้เป๊ปลอกคำเหล่านั้นลงในสมุดวันละ 3 คำและครูให้เป๊ปสะกดคำเหล่านั้นปากเปล่า และเขียนสะกดคำเหล่านั้นด้วยตนเองครูจะทดสอบเป๊ปแบบนี้ทุกวัน เมื่อเป๊ปสะกดคำใดได้ถูกต้องครูให้รางวัลเป๊ปคือ สติ๊กเกอร์ไดโนเสาร์ (เป๊ปชอบมาก) 1 ดวงและลบคำนั้นออก และให้เป๊ปฝึกสะกดคำที่เหลือต่อไปหากสะกดถูกก็จะได้รับสติ๊กเกอร์ไดโนเสาร์เพิ่มเมื่อติดสติ๊กเกอร์ไดโนเสาร์ลงบนสมุดสะสมสติ๊กเกอร์ครบจำนวนตามที่ครูกำหนด คือ 10 ดวง เป๊ปจะได้ของรางวัลเพิ่ม โดยครูมีดินสอและยางลบให้เป๊ปเลือกได้ครั้งละ 1 ชิ้น เป๊ปมีความพยายามและให้ความร่วมมือ ดีมากในข้อตกลงนี้ และเป๊ปรู้สึกภาคภูมิใจมากทุกครั้งที่ได้รับของรางวัล
|
|
จากวิธีการสอนสะกดคำที่ได้ใช้จริงกับเป๊ปทั้งหมดแล้วนั้นคงจะไม่สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี หากทางบ้านคือผู้ปกครองไม่ได้ทบทวนและสอนในวิธีเดียวกันกับครูที่โรงเรียน แต่โชคดีที่ครูได้พบปะและสนทนาถึงวิธีดำเนินการสอนสะกดคำให้ผู้ปกครองทราบ แนะนำให้ไปฝึกซ้ำที่บ้าน นำตัวอย่างบัตรคำ บัตรภาพ ที่ครูมีให้ดูเป็นตัวอย่าง และให้กลับไปทำเพื่อเป็นอุปกรณ์ในการช่วยสอน ให้เป๊ปมีพัฒนาการในการสะกดคำที่ดีขึ้น ซึ่งผู้ปกครองก็ได้ให้ความร่วมมือกับครูเป็นอย่างดี เมื่อทำไปแล้วนั้นผู้ปกครองก็จะนำมาถ่ายทอดบอกเล่าที่ได้สอนเป๊ปที่บ้านตามที่ครูแนะนำ ซึ่งผลปรากฎออกมาเป็นไปในทางที่ดีเหมือนกับครูสอนที่โรงเรียน ทำให้ตั้งแต่นั้นมาเป๊ปสะกดคำได้คล่องขึ้น สามารถอ่านและเขียนคำได้ถูกต้องมากขึ้น จากที่อ่านและเขียนคำไม่ได้เลยและปัจจุบันเป๊ปสามารถนั่งเรียนวิชาภาษาไทยกับเพื่อน ๆ ในกลุ่มได้ด้วยความภาคภูมิใจและมีความสุข
|
บรรณานุกรม
่โกวิท ประวาลพฤกษ์. เรียนรู้
เป็นครูแท้. กรุงเทพมหานคร : บริษัทพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) จำกัด
่ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์. 2544. ศิลป์ : ยิน ยล สัมผัส. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ฟอร์แมท แอสโซซิเอทส์ จำกัด
่ผดุง อารยะวิญญู. 2544. เด็กที่มีปัญหาในการเรียนรู้. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ P.A.Art & Printing Co.,LTD.
่______________. 2544. เด็กที่มีปัญหาในการเรียนรู้. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์แว่นแก้ว
หรินทร์ สูตะบุตร. อัศจรรย์ภาษาของเด็ก ๆ เล่ม 2 . กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติ.
|