“ตุล” เป็นเด็กผู้ชายหน้าตาดี อายุประมาณ 8 ปี เมื่อแรกพบในวันมอบตัวเพื่อเป็นนักเรียนในชั้น ป. 1 จะมีพี่เลี้ยงจูงมือตลอดเวลา ครูเข้าไปทักทาย ตุลยกมือขึ้นไหว้ พร้อมพูดว่า “สวัสดีครับ” สำเนียงแรกที่ได้ยินจึงรู้ว่า ตุลพูดไม่ชัด
วันแรกของการมาเรียนคุณแม่พามาส่งที่ห้อง ตุลดูเงียบสงบและว่าง่ายสักพักก็เริ่มเดินสำรวจห้อง เดินวนรอบโต๊ะ กรีดร้อง หัวเราะและร้องไห้สลับกันไปเป็นช่วงๆ นอกจากนี้ยังกระโดดตัวลอยลงพื้นอย่างแรงเหมือนไม่รู้จักเจ็บ ครูคอยสังเกตและซักถามโดยจับ หน้าให้มองครู ตุลมองแบบผ่านทะลุตัวไป เหมือนครูไม่ตัวตน สักพักตุลดึงเสื้อออกจากกางเกง ครูพยายามซักถามอีก เพื่อหาเหตุผล ของการดึงเสื้อแต่ไม่ได้รับคำตอบที่น่าพอใจ ตุลพูดแต่ครูไม่สามารถเข้าใจได้ จึงเดากันว่าน่าจะเป็นเพราะอากาศร้อน จึงเริ่มเปิด เครื่องปรับอากาศเพื่อปรับอุณหภูมิภายในห้อง ตุลร้องอีกสักครู่แล้วก็หยุด ครูเริ่มพบทางออกที่ดีโดยเปิดเครื่องปรับอากาศ ให้ทุกวัน เพื่อป้องกันไม่ให้หงุดหงิด แต่คาดผิดวันต่อๆ มาใช้ไม่ได้ผล อากาศในห้องเรียนเย็นฉ่ำแต่ช่วยให้ตุลหยุดร้องไม่ได้
สิ่งที่น่าแปลกอีกอย่างหนึ่งของตุลคือ ขณะร้องไห้หรือหงุดหงิด ตุลจะใช้ศีรษะโขกตาม ลำตัวของครูไม่ว่าครูคนใดหากอยู่ใกล้ ตุลโขกหมด จนทุกคนต้องหาวิธีป้องกันตัวเอง บางครั้งใช้วิธียืนอยู่ห่างๆ ตุลจะใช้ความสามารถพิเศษ พุ่งเข้ามาโดยใช้ศีรษะนำมาก่อน บางครั้งก็ใช้วิธีตีบ้าง ซึ่งเหตุการณ์จะเป็นเช่นนี้ทุกวัน วันละ 6 – 7 ครั้ง
ภายในห้องเรียนมีนักเรียนคนอื่นๆ อีก 5 คน บางช่วงหากตุลอารมณ์ดี ก็จะนั่งรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ได้ ไม่ว่าเพื่อนจะขยับโต๊ะ ย้ายเก้าอี้ หรือหยิบหนังสือแบบฝึกหัด ตุลจะทำตามทุกอย่าง และหากมีการทำงานหรือลอกงานบนกระดาน ตุลจะเขียนและลอกงาน ตามได้ ทั้งที่อ่านไม่ออกและสะกดคำไม่ได้ ไม่รู้ความหมายของคำ และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพยัญชนะที่กำลังเขียนคือตัวอะไร ตุลลอกงาน คล้ายการวาดภาพ แต่เมื่อไหร่ที่เป็นการฟังคำอธิบาย ตุลมักจะเดินและกระโดดส่งเสียงรบกวนห้องมาก สิ่งที่ตุลชอบมากที่สุดคือการ ขอกระดาษไปวาดภาพ เมื่อต้องการกระดาษ ตุลจะพูดขอได้ค่อนข้างชัดเจน ส่วนภาพที่วาดหรือเขียนจะเป็นเครื่องหมายการค้า ของร้านต่างๆ ชื่อภาพยนต์เป็นภาษาอังกฤษซึ่งสะกดได้ถูกต้องแม่นยำ และยังมีรูปแผ่นซีดีต่างๆ ด้วย ขณะวาดภาพจะพูดและหัวเราะ เสียงดังอย่างมีความสุข แต่จะเป็นสิ่งที่ทำให้หมกมุ่นมาก จนไม่ยอมเบนความสนใจไปทำกิจกรรมอื่นๆ
ช่วงแรกครูพยายามตั้งเป้าหมายสั้นๆ เพียงต้องการให้ตุลอยู่ร่วมกับเพื่อนๆ ภายในห้องให้ได้โดยไม่ร้องไห้ ไม่วิ่ง ไม่กระโดดไปมา และไม่ส่งเสียงรบกวนห้องเรียน เมื่อมีการอธิบายงาน ก็จะให้ตุลลงนอนเล่นที่เสื่อข้างห้อง แต่เมื่อมีการทำงานก็จะให้กลับมานั่งที่เก้าอี้ ของตนเอง แล้วลอกงานให้เหมือนเพื่อน โดยมีครูคอยช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดอีก 1 คน
เป้าหมายที่ตั้งไว้ดูเหมือนจะเป็นไปด้วยดีใน 2 สัปดาห์แรกตุลเริ่มรู้หน้าที่ และสงบลงได้มาก แต่ต่อจากนั้นกลับร้องไห้โดยไม่ทราบ สาเหตุ รบกวนห้องเรียนด้วยการกระโดดไปมาจนเพื่อนๆ ไม่สามารถเรียนได้ เมื่อครูจะพาออกนอกห้องตุลก็ขัดขืนใช้ศีรษะโขก จะอยู่กับ เพื่อนๆ จนต้องใช้ครูอีก 2-3 คน พาออกไปนอกห้อง หากิจกรรมให้ทำ แต่ตุลก็ยังคงร้องไห้คร่ำครวญอยู่นอกห้อง พฤติกรรมเช่นนี้ เริ่มรุนแรงขึ้นทุกวัน
ครูเริ่มมองเห็นว่า ตุลจะยังคงไม่พร้อมที่จะอยู่ร่วมกับเพื่อนๆ การเรียนจะต้องเรียนแบบตัวต่อตัว
และสิ่งที่จำเป็นที่สุดสำหรับตุล คือการสื่อสาร ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาด้านอื่นๆ ต่อไป
โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านอารมณ์ จึงต้องใช้แผนการสอนเฉพาะบุคคล (IEP)
แผนการสอนเฉพาะบุคคล (Individualized Education Program : IEP) เป็นแผนการสอนซึ่งกำหนดแนวทางการจัดการ ศึกษา ที่สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นพิเศษของบุคคลพิการแต่ละบุคคล ตลอดจนกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษาให้เป็นเฉพาะคน
ก่อนจะจัดแผนการสอนให้ตุล ครูตรวจสอบทักษะพื้นฐาน และรูปแบบของการเรียนรู้ พบว่า มีจุดเด่นด้านความจำ โดยมีรูปแบบ การเรียนรู้ด้วยการมอง การสังเกต และการลอกแบบ เพราะการสอนที่จะประสบความสำเร็จนั้น จะต้องเริ่มจากการเลือกสิ่งที่จะสอน ได้อย่างเหมาะสมที่อยู่ในระดับที่ทำได้ ไม่ยากเกินไป และไม่ง่ายเกินไป โดยจัดขอบข่ายและขั้นตอนทักษะที่สอนในแต่ละวิชา ให้เหมาะสมกับ ความต้องการเฉพาะของนักเรียน
จุดเด่นที่น่าสนใจของตุล คือมีความสามารถดีในด้านคณิตศาสตร์ โดยเฉพาะที่เป็นตัวเลข ไม่ว่าบวกหรือลบ จะสามารถคิดในใจ ได้ถูกต้อง แต่จะมีปัญหาหากมีการบวกและลบคละกัน ก็จะบวกทั้งหมด หรือลบทั้งหมด โดยไม่ดูเครื่องหมายว่าจะเป็นบวกหรือลบ ไม่ฟังคำอธิบาย ทำงานด้วยความรวดเร็ว หากถูกขัดจังหวะจะหงุดหงิด และร้องทันที
แผนการสอนคณิตศาสตร์จึงมีจุดประสงค์ให้ตุลสามารถปฏิบัติตามคำสั่งคำนวณได้แม่นยำทั้งการบวกและการลบ สามารถ หยิบสิ่งของมาเพิ่มขึ้นหรือนำออกไปตามเครื่องหมายบวกหรือลบได้ และสามารถอ่านโจทย์ที่เป็นตัวเลขได้ เพื่อให้ทำงานช้าลง และใช้ ความคิดมากขึ้น
วิชาภาษาไทย มีจุดประสงค์ให้รู้จักและเขียน ก-ฮ ให้แม่นยำ อ่านและผสมคำที่มีพยัญชนะต้น สระง่ายๆ ได้ รู้จักความหมายของ คำ ส่วนทักษะการสื่อสาร ตุลยังมีปัญหาอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรู้จักใช้คำพูดที่จะสามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้ แผนการสอนจึง ใช้การถ่ายภาพกิจวัตรประจำวัน แล้วใช้ภาพนั้นๆ เป็นสื่อการสอน เช่น เมื่อให้ดูภาพแล้วถามว่า "ตุลกำลังทำอะไร" หากตอบไม่ได้ครู จะช่วย "ตุลกำลังดื่มน้ำ" ฝึกจนสามารถพูดได้ด้วยตนเอง เหมือนเป็นการบรรยายภาพ และเป็นการพูดบอกความต้องการของตนเอง
ทักษะการฟัง จะได้รับการฝึกให้ฟังแล้วปฏิบัติให้ถูกต้อง การแยกแยะเสียงต่างๆ ที่ได้ยิน มีสมาธิในการฟังได้จนจบ และสามารถ ตอบคำถามง่ายๆ จากเรื่อง หรือภาพที่ฟังหรือเห็น
ทักษะการทำงานศิลปะ ตุลชอบวาดภาพหรือเขียนสิ่งที่ซ้ำซาก ครูจูงใจอย่างไรก็ไม่เคยวาดภาพอื่นเลย เป้าหมายระยะแรกคือ ต้องการให้รู้จักและวาดรูปทรงเรขาคณิต ลากเส้นต่อจุดตามแบบ วาดรูปตามแบบ ตัดกระดาษ ตามรอยที่กำหนดให้ และสามารถ วาดภาพง่ายๆ ได้
ทักษะชีวิต เป็นวิชาที่ตุลจะสามารถนำไปใช้ได้ เช่น การล้างหน้า ทาแป้ง ล้างมือ มารยาทการรับประทานอาหาร การใช้ช้อน-ส้อม การแปรงฟัน การทำความสะอาดของใช้ส่วนตัว การเปลี่ยนเสื้อผ้า การพับผ้า ผูกเชือกรองเท้า เป็นต้น เพื่อช่วยให้สามารถช่วย เหลือตนเองและใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ตุลยังขาดทักษะการเลียนแบบกริยาท่าทาง การมอง หรือสนใจครู จึงจัดให้ฝึกด้วยกิจกรรมทางพละศึกษา โดยเริ่มจาก การเลียนแบบท่าทางพละศึกษา เช่น เดิน วิ่ง กระโดด สไลด์ กระโดดตบ การโยนรับลูกบอลในลักษณะต่าง ๆ เป็นต้น และใน 1 วัน ตุลจะได้พัก 1 คาบ ซึ่งเป็นการนอนพักในห้องที่มีบรรยากาศสงบเงียบ ฟังเพลงเพื่อเป็นการผ่อนคลาย ทำให้รู้สึกสบายและสงบ
เมื่อหลักสูตรต่างๆ ถูกจัดขึ้นอย่างเรียบร้อย ลงตัวทั้งเนื้อหาและครูผู้สอน การวางแผนที่จะให้ตุลยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิด ขึ้นก็เป็นเรื่องยากอีกเช่นกัน สิ่งแรกที่เป็นปัญหา คือหากตุลอยู่กับเพื่อนๆ หรือเมื่อเห็นเพื่อนๆ นั่งอยู่ที่โต๊ะตุลจะไม่ยอมออกไปนอกห้อง ความคิดแรกที่เกิดขึ้น จะต้องทำให้ตุลรู้ว่าเป็นหน้าที่ หรือเป็นตารางที่จะต้องออกไปพบครูคนใดบ้าง และยังต้องให้สามารถคาดหมาย ได้ว่าเมื่อเรียนแล้วต่อไปจะพบกับครูคนใด หรือทำอะไร
วิธีสอนแบบ PECS (Picture Exchange Communication System) จึงเป็นวิธีแรกที่นึกถึง ซึ่งเป็นวิธีที่จะช่วยเรื่องการสื่อสารได้มาก PECS เป็นการแลกเปลี่ยนรูปภาพซึ่งกันและกันระหว่างครูและนักเรียน แต่ได้ปรับใช้โดยจัดตารางประจำวัน เรียงภาพของครูแต่ละคนที่จะต้องสอนเรียงตามลำดับแต่จะถูกคั่นด้วยภาพ ตุลดื่มน้ำ ดื่มนม รับประทานอาหาร และจะสิ้นสุดด้วยภาพของบุคคลที่จะมารับตุลกลับบ้านตามกิจกรรมในแต่ละวัน ทุกภาพจะถ่ายจากสภาพการณ์ จริง และคนจริง
ตารางถูกจัดเตรียมไว้ทุกเช้า ครูผู้สอนคนที่ 1 จะอธิบายให้ฟังว่าใน 1 วัน ตุลจะได้ทำ กิจกรรมอะไรกับใครบ้างโดยเฉพาะ เมื่อจะพาตุลแยกออกจากกลุ่ม ครูจะหยิบตารางและชี้ไปที่ภาพตัวครู ซึ่งหมายความว่าให้ออกมาเรียนกับครูด้านนอก ระยะแรกตุล ขัดขืนบ้าง แต่ระยะหลังได้ผลดีมาก นอกจากยินยอมออกมาเรียนโดยดีแล้ว ยังได้รู้จักและเรียกชื่อครูได้ถูกต้องด้วย (ตั้งแต่แรกเริ่ม แม้จะเรียนมาหลายเดือนตุลยังเรียกชื่ออาจารย์และเพื่อนๆ ไม่ได้เลย) และเมื่อเรียนกับครูคนที่ 1 เสร็จ ตุลจะหยิบบัตร เครื่องหมาย ü ใส่ไว้ข้างๆ ภาพ ซึ่งหมายความว่าตุลเรียนกับครูคนที่ 1 เสร็จแล้ว และจะได้เรียนกับครูคนที่ 2 ต่อไป ทำเช่นนี้ จนหมดวัน
นอกจากนี้ยังมีตารางทางเลือกให้ เมื่อตุลหงุดหงิดหรือไม่สามารถบอกได้ว่าต้องการจะทำอะไร ซึ่งครูได้เรียนรู้และคอยสังเกตแล้ว ว่าสิ่งใดที่ตุลต้องการทำ และชอบทำบ้าง โดยครูจะมีภาพ ดื่มน้ำ เข้าห้องน้ำ นั่งวาดภาพ นอน ลงบ่อบอลซึ่งทุกภาพตุลจะแสดง กริยาเองทั้งสิ้น เมื่อหงุดหงิด ครูก็จะถามว่า "ตุลจะทำอะไร" ชี้ไปที่ภาพที่ต้องการ ทุกครั้งที่ใช้ภาพ ครูจะกระตุ้นให้พูด และยังเป็นการ ให้รางวัลเมื่อทำงานเสร็จแล้วอีกด้วย
ผลของการจัดหลักสูตรรวมทั้งจัดตารางการเรียนให้กับตุล เป็นที่น่าพอใจมาก จากที่ตุลเคยร้องไห้เกือบทั้งวัน ก็ลดลงตามลำดับ หลักสูตรตาม IEP ที่จัดให้ ก็ดำเนินไปได้โดยสามารถเห็นพัฒนาการในทุกๆ ด้าน เช่น ภาษาไทย เริ่มจะสะกดคำง่ายๆ ได้บ้าง รู้จัก พยัญชนะมากขึ้น การสื่อสารต่างๆ ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สำเนียงที่เปล่งออกมาแม้จะไม่ชัดเจน แต่ก็พยายามพูด รู้จักการรอคอย รู้จัก ที่จะฟัง หรือหยุดฟังเมื่อครูพูด คณิตศาสตร์ก็สามารถทำงานได้ช้าลง รู้จักอ่านโจทย์ที่เป็นตัวเลข และเข้าใจเครื่องหมายบวก และลบ คิดคำนวณได้ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น ช่วยเหลือตนเองเกี่ยวกับกิจวัตรประจำวัน สามารถตัดกระดาษ และวาดภาพตามแบบ ได้ ระยะ หลังจึงเริ่มกำหนดให้ เช่น วาดภาพบ้าน 2 หลัง ต้นไม้ 3 ต้น หมู 4 ตัว เป็นต้น ตุลจะวาดได้ค่อนข้างดี แต่ยังขาดทักษะการวาง ตำแหน่ง และจินตนาการ
จะเห็นได้ว่าการบูรณาการของหลักสูตรต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่มีความต้องการความช่วยเหลือพิเศษ เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะนักเรียนแต่ละคน มีความสามารถหรือความต้องการที่แตกต่างกัน คงไม่มีหลักสูตรสำเร็จสำหรับนักเรียนคนหนึ่งคนใด แต่ควร คำนึงถึงความสามารถเด่น และสิ่งที่ควรได้รับการฝึกเป็นที่ตั้ง ซึ่งจะต้องคงจุดเด่นไว้ พร้อมทั้งสนับสนุนให้พัฒนาเพิ่มขึ้นไปอีก และฝึก ในสิ่งที่จำเป็นหรือยังขาดทักษะในการใช้ชีวิตประจำวัน
เมื่อนักเรียนได้รับความช่วยเหลืออย่างถูกวิธี และได้รับการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพ นักเรียนจะลดการแสดงพฤติกรรมที่ไม่พึง ประสงค์ ครูเครียดน้อยลง เพราะรู้เป้าหมายของตนเองชัดเจนขึ้น เมื่อได้เห็นพัฒนาการของนักเรียนก็ยิ่งทำให้มีกำลังใจ ในการสอน แต่ครูคนเดียวไม่สามารถทำให้ประสบความสำเร็จได้ต้องใช้ครูเป็นทีม สิ่งสำคัญยิ่งในการทำงานเป็นทีม คือทุกคนต้องมีหรือต้องใช้ กฎกติกาเดียวกัน รับรู้ และรับฟังข้อตกลงเหมือนกัน หากครูคนที่ 1 ทำอย่าง ครูคนที่ 2 ทำอีกอย่าง ครูคนที่ 3 ก็ทำ อีกอย่าง นักเรียนคงจะงง และไม่เรียนรู้ว่าจะปฏิบัติตนอย่างไร ทำให้การช่วยเหลืออาจจะล้มเหลวได้เช่นกัน
ถึงแม้ว่าการสอนจะดูเหมือนประสบผลสำเร็จ แต่ก็ยังมีอีกหลายอย่างที่จะต้องได้รับการปรับปรุง หรือฝึกเพิ่มเติม แม้การเรียนเริ่ม ดีขึ้นก็จะต้องหาวิธีพัฒนาต่อไป หากเรียนไม่สำเร็จก็กลับมานั่งคิดกันใหม่ว่าจะช่วยเหลือด้วยวิธีใด หรือปรับเนื้อหาอย่างไรดี เพื่อจัด ทำแบบแผนการสอนเฉพาะบุคคล (IEP) ต่อไป
|