bg
bg
bg
bg
bg
bg
bg
bg
bg
bg
bg
bg
 

 

หลวมนักก็ขัน...แน่นนักก็คลาย

  

ผศ. จิตติรัตน์  ทัดเทียมรมย์

          

         ท่านเชื่อไหมว่า มีเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้น...

 

         นักเรียนขว้างหนังสือใส่ครู เพราะโกรธที่ครูพูดผิดหู

 

         นักเรียนที่ตั้งหน้าตั้งตากินข้าว กับไข่ต้มเหยาะซอสอย่างเดียว ทุกมื้อ ตั้งแต่ประถมจนมัธยม

 

         นักเรียนที่ร้องไห้ ตั้งแต่โรงเรียนเข้า จนโรงเรียนเลิก ปลอบเท่าไหร่ ก็ไม่หยุด  จะหยุดพักก็เฉพาะช่วง เวลาดื่มนม และกินข้าว


         นักเรียนที่พิมพ์จดหมายตราครุฑ ฟ้องอาจารย์ใหญ่ว่า ถูกอาจารย์พละกลั่นแกล้ง  สมควรที่จะลงโทษอาจารย์พละผู้นั้น เพื่อมิให้ประพฤติตนเยี่ยงนี้ต่อไป มีรายการบทลงโทษมาให้เสร็จ  เพื่ออาจารย์ใหญ่ จะได้ไม่ต้องมาคิดเอง ให้เสียเวลา

 

         นักเรียนที่ขู่ฟ่อว่า จะเขียนจดหมายกราบทูล ฟ้องสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา  กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ องค์อุปถัมภ์ฯ โรงพยาบาลยุวประสาทฯ โทษฐานที่โรงเรียน ไม่เอาใจใส่ ดูแลนักเรียนให้ดี ให้สมกับที่ พวกเขานำชื่อเสียงมาสู่โรงเรียน

 

         เชื่อเถอะ...เรื่องเหล่านี้ หรืออีกหลายเรื่อง ที่ไม่น่าเชื่อ ก็เกิดขึ้นได้ ถ้านักเรียนเหล่านั้นเป็น...ออทิสติก

 

         นอตหนึ่งตัวถ้าขันจนแน่นขึง เมื่อถึงเวลาต้องซ่อม การคลายเกลียวค่อนข้างยาก นานไปเกลียวหวาน  ใช้ไม่ได้ต้องโยนทิ้ง นอตบางตัวหลวม เพราะขันไม่แน่น ฟันเฟืองที่เกี่ยวข้อง ไม่ทำงาน  ไม่ว่าหลวม หรือแน่น ก็มีผลกระทบ ต่อระบบการทำงานทั้งสิ้น

         ถ้านอตตัวนั้น เปรียบได้กับเด็กออทิสติก ก็คงเป็นนอตที่ทั้งแน่นและหลวม เพราะเด็กออทิสติก มีพฤติกรรมที่ท้าทาย ในรูปแบบแปลกๆ ที่ทำให้ครูแทบไม่ได้อยู่นิ่ง วิธีการธรรมดาๆ ที่ใช้ได้ผล ในการจัดการพฤติกรรม และวินัย ของเด็กปกติ  อาจใช้ไม่ได้ผล กับเด็กออทิสติก ขณะเดียวกัน การบำบัดหรือการช่วยเหลือ ที่ได้ผลดี กับเด็กออทิสติกคนหนึ่ง  แต่อาจจะใช้ไม่ได้ผล กับเด็กออทิสติกคนอื่นๆ ทั้งนี้เพราะ ความผิดปกติที่ซับซ้อน ของโรคออทิซึมนั่นเอง

 

         การขันนอต หรือคลายนอตเด็กออทิสติก คงจะไม่มีวิธีไหนที่ดีเท่ากับ การปรับพฤติกรรม ที่แสดงออก อย่างไม่เหมาะสม  ทำให้คนรอบข้าง ได้รับความเดือดร้อน และไม่เป็นที่ยอมรับ ของสังคม ทำให้พฤติกรรมนั้นเหมาะสม และเป็นที่ยอมรับของสังคม หรือบุคคลทั่วไป

 

เทคนิคการปรับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ 7 ประการ คือ
    1. Planned Ignoring
          คือการวางเฉย ไม่แสดงอาการตื่นตระหนก หรือสนใจพฤติกรรม ที่ไม่พึงประสงค์นั้นๆ ใช้ได้ดี กับเด็กที่เรียกร้องความสนใจ

          เหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นในวันเสาร์ เมื่อนักเรียนออทิสติก ชั้น ป.3 ต้องมาเรียนเสริม ทางวิชาการ  เพื่อให้ติดตามบทเรียน ในห้องเรียนรวมได้ทัน

          สาคู หยิบยางลบของข้าวโพดมาดู ยางลบที่บรรจุ อยู่ในกล่องพลาสติก คล้ายด้ามจับ มีรูปร่างหน้าตาน่าใช้  ดูไปดูมา กรอบตกยางลบกระเด็น สาคูลนลาน หยิบมาประกอบใหม่ ไม่มีอะไรเสียหาย แต่ที่หายไป คือ สติของข้าวโพด  เสียงกรีดร้องดังลั่นห้อง ร้องไม่ยอมหยุด

          “ทำไมสาคู ต้องมาทำร้ายข้าวโพดอย่างนี้ ทำไมมีข้าวโพด แล้วต้องมีสาคูด้วยในโลกนี้” ที่บ้านข้าวโพด อาจจะไม่ชอบกินขนมไทย  เลยไม่รู้ว่า สาคูเปียกใส่ข้าวโพด ราดหน้ากะทินั้นอร่อยจริงๆ

          ไม่ว่าครูจะปลอบโยน ชี้แจงอย่างไรข้าวโพดไม่ฟัง ข้าวโพดกระแทกตัวลงพื้น ถีบเก้าอี้กระเด็น  ขณะที่สาคู นิ่งตัวลีบติดฝาหน้าซีด “ก็ผมขอโทษแล้ว ผมทำให้ใหม่แล้ว ไม่ได้แกล้ง”

          เสียงร้องของข้าวโพด เชิญชวนให้อาจารย์จิตติรัตน์ ต้องโผล่หน้า เข้ามาดู ถ้าเป็นอย่างนี้ คงสอนกันไม่ได้แน่  เลยให้ครูผู้สอน พานักเรียนอีก 4 คนย้ายห้อง ส่วนอาจารย์จิตติรัตน์ลากเก้าอี้ มานั่งพิงประตูกั้นไว ้ คำนวณกำลังแล้ว ห้องเล็กขนาดเดิน 5 ก้าว ชนฝานี่  พอสู้กันไหว เพราะห้องแคบ เด็กมีพื้นที่ อาละวาดน้อย จะทำให้ทุกอย่าง จบเร็วขึ้น

          อาจารย์เป็นฝ่าย นั่งดูข้าวโพดตีอกชกหัว ถีบโต๊ะ ทุ่มเก้าอี้ ดูเฉยๆ ไม่พูดอะไรสักคำ อยากทำอะไรทำไป  เสียดายกลัวเก้าอี้พัง ใจจะขาด เพราะเพิ่งสั่งมาใหม่ๆ แต่ถ้าลุกขึ้นไปห้าม เด็กฉลาดอย่างข้าวโพด ต้องใช้เป็น จุดโจมตีอาจารย์ไม่รู้จบ  ผู้ชมและ ผู้แสดงต่างก็ทำหน้าท ี่ของตัวเอง จนเวลาผ่านไป 10 นาที ผู้แสดงกลับลำ วิ่งเข้ามาหาผู้ชม กระชากเก้าอี้ ให้ออกจากประตู  น้ำเสียงเกรี้ยวกราด
          “อาจารย์จิตติรัตน์ใจร้าย เปิดประตูให้ข้าวโพด ออกไปเดี๋ยวนี้นะ”

          คนใจร้าย ก็กอดอกไม่ขยับ ขายันพื้นแน่น เพื่อไม่ให้เก้าอี้เขยื้อน ปากปิดสนิท ไม่พูดอะไรสักคำ เมื่อเห็นว่า กระชากไม่ออกแน่ นักแสดงเปลี่ยนบทใหม่ ดึงผมตัวเองจนหลุดลุ่ย  กลิ้งเกลือกน่าเวทนา  เกือบจะใจอ่อน ตั้งหลายครั้ง แต่ถ้าแพ้หนนี้ เชื่อว่าต้องแพ ้กันตลอดไป

          อีก 15 นาทีต่อมา ข้าวโพดเขียนบท ให้ตัวเองใหม่ คลานเข้ามาเกาะขาอาจารย์ กราบที่ตัก “อาจารย์ขาได้โปรดปลดปล่อยข้าวโพด ไปเถอะค่ะ ข้าวโพดสำนึกผิดแล้ว  ข้าวโพดจะไม่ทำอย่างนี้อีก ได้โปรดสงสารข้าวโพด เถอะนะคะ เมตตาข้าวโพด ปล่อยข้าวโพดเถอะค่ะ” ข้าวโพดจะรู้ไหมว่า ครูกลั้นหัวเราะ จนปวดท้อง  เก๊กจนเมื่อยหน้าไปหมด
          ดูทีท่าแล้ว ข้าวโพดคงหมดพิษสงจริง เลยอบรมสั่งสอนพอประมาณ หวีผมถักเปียใหม่ ล้างหน้าให้สดชื่น แล้วส่งเข้าห้องเรียนไป ข้าวโพดทำตัวประหนึ่งไม่มีอะไรเกิดขึ้น สามารถเรียนได้จนเลิก

 

    2. Signal Interference
          คือ การวางข้อตกลง กับนักเรียน โดยการใช้สัญญาณ หรือสัญลักษณ์

         ใครจะเชื่อบ้างว่า นาฬิกาปลุกเพื่อตั้งเวลา ในการทำขนม เรือนเล็กๆ เพียงเรือนเดียว สามารถสยบเด็กออทิสติก ให้หยุดพฤติกรรม ที่ไม่พึงประสงค์ได้ นาฬิกาที่ว่านี้ ใช้ง่าย  สามารถตั้งเวลา ตามนาทีที่ต้องการได้ ส่งเสียงดังลั่น

          นพ ชอบนอนเล่นในบ่อบอล จนได้เวลาเรียนแล้ว ครูเรียกให้ขึ้น แต่นพไม่ฟังเสียง แถมยังโกยบอล ขึ้นมาถมตัวให้มิดอีก เสียงเรียกของครู ที่บอกว่า “หมดเวลาเล่นแล้ว มาเรียนได้” อาจจะเป็นนามธรรม สำหรับนพ เวลาคืออะไร แล้วทำไมถึงต้องหมดเวลา ฟังแล้วไม่เข้าหู สู้นอนกลิ้งเกลือก ทับลูกบอลนวดตัวเล่น ให้สบายกายไม่ดีกว่าหรือ

          ครูชูนาฬิกาให้ดู พร้อมทั้งบอก “ครูให้ 3 นาที นาฬิกาดังไปเรียน” พูดสั้นๆ ไม่เยิ่นเย้อ ตั้งนาฬิกาแล้ว วางไว้ขอบบ่อบอล ครูไปนั่งรอในห้อง พอสิ้นเสียงนาฬิกา  นพถือนาฬิกา เดินเข้ามาส่งให้ แล้วไปนั่งที่โต๊ะตัวเอง อย่างสงบ เข็มนาฬิกา ที่ขยับเดินทีละนิด และเสียงดังกริ๊งนั้น ดูจะเป็นรูปธรรม ที่ทำให้นพเข้าใจข้อตกลง มากกว่าคำพูดลอยๆ

          มีน มีพฤติกรรมออทิสติก ค่อนข้างรุนแรง ภาษามีน้อยฟัง พอรู้เรื่องบ้าง วิ่งวนรอบห้อง ไม่นั่งที่ ไล่ตามจับกันไม่ไหว จะทำอย่างไรกันดี  ควรจะต้องใช้สัญลักษณ์ เป็นข้อตกลงกันดีกว่า

          ครู นำบัตรสีต่างๆ มาให้มีนเลือก “ชอบสีอะไร หยิบ” มีนหยิบบัตรสีส้ม ส่งให้ ครูบอกทันที ”สีส้ม คือมีน” แล้วเอาบัตรสีส้มวางแปะที่โต๊ะ จับตัวนั่ง “ต้องนั่งที่นี่”  มีนไม่ฟัง วิ่งออกจากที่ ครูจับมานั่งอีกพูดซ้ำ “สีส้มอยู่ที่นี่ นั่งที่นี่”

 

          แล้วบัตรสีส้มนั้น ก็ตามมีนไปทุกแห่ง บัตรอยู่ไหน มีนอยู่นั่น อยู่ที่พื้น เมื่อยืนเข้าแถว หยิบเองเอามาวาง ที่โต๊ะเรียน มุมอ่านหนังสือ โต๊ะดื่มนม มีนเชื่อฟังบัตร มากกว่าเชื่อคำพูดครู แต่พอทุกอย่างเข้าที่ ครูค่อยๆ ถอนบัตรออก เดี๋ยวนี้มีนไม่ต้องใช้บัตรสีส้ม เป็นไกด์ประจำตัวอีกแล้ว รู้ว่าตัวเอง ควรจะต้องปฏิบัติตนอย่างไร ในสถานการณ์นั้นๆ
    3. Proximity Control

          คือ การควบคุมสถานการณ์ด้วยระยะทาง

          โดยปกติแล้ว คนเรามักจะกลัว ในสิ่งที่ คนทั่วไป มักจะเห็นพ้องต้องกัน ว่าสมควรกลัวได้  เช่น งู ผึ้ง ตะขาบ หนอน ฯลฯ   แต่ไม่เคยมีใคร  กลัวผลไม้ เหมือนอย่างที่ แว่นกลัวส้ม   ส้มซึ่งได้รับแจกมา ในถาดอาหารกลางวัน  ส้มสีเหลืองอร่าม ดูน่ากิน   แต่แว่นร้องกรี๊ด ตัวโก่ง ไม่ยอมรับถาด ไม่ยอมกินอาหาร   ตราบใดที่ส้มเสนอตัว อยู่ในถาด   แม้แต่กลิ่น แว่นก็จะทนไม่ได้  ปิดปากปิดจมูก วุ่นวายไปหมด

          เด็กออทิสติกจะมีความกลัวแปลกๆ ซึ่งคาดไม่ถึง เหมือนอย่างกรณีแว่น เมื่อครูแน่ใจว่าสิ่งที่แว่นกลัวคือส้มจริง ครูก็ไม่ดึงดันขัดขืนกับความไม่มีเหตุมีผลนี้ ครูหยิบส้มออกทันที  แว่นกินอาหารไปผะอืดผะอมไปกับกลิ่นส้มของเพื่อน

          อีก 2-3 อาทิตย์ต่อมา ถึงรอบที่ส้มจะมาปรากฏตัวอีกครั้ง ครูรู้ใจรีบหยิบส้มออกก่อน เพื่อไม่ให้ห้องปั่นป่วน แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นอย่างนั้น ในถาดของแว่นไม่มีส้มก็จริง  แต่ในถาดของเพื่อน ที่นั่งร่วมโต๊ะยังมีส้มอยู่ แว่นระเบิดอารมณ์อีก ครูต้องหยิบส้ม ออกจากถาดของเพื่อนอีกเช่นกัน เพื่อนจะกินส้มได้ ก็ต่อเมื่อแว่นเอาถาดไปเก็บ มิฉะนั้น กลิ่นส้ม จะรบกวนแว่นอีก

          ครูจะปล่อยให้เหตุการณ์เป็นอย่างนี้ ต่อไปไม่ได้ แต่จะไม่รีบหักหาญในทันทีต้องใช้เวลา คราวนี้ถึงแม้ส้มจะยังไม่มาตามเมนู แต่ที่โต๊ะครูจะมีจานส้มวางไว้ แว่นจะต้องมองเห็นส้มตลอดเวลา  ไม่ว่าจะนั่งที่โต๊ะตัวเอง หรือมาหาครู แล้วครู จะไม่ท้าวความเรื่องส้มอีก แต่ครูจะนั่งกินส้ม อย่างสบายอารมณ์ ไม่สนใจด้วยว่า แว่นจะพูดหรือมีปฏิกิริยาอย่างไร


          เมื่อถึงรอบ ที่ส้มมาปรากฏตัวใหม่ ครูเอาส้มของแว่น ออกจากถาดก็จริง แต่วางไว้ บนโต๊ะนั่นแหละ ส่วนของเพื่อน อยู่ในถาดตามเดิม กลิ่นส้มฟุ้งเต็มห้อง คราวนี้ แว่นทนนั่งได้ อุดปากอุดจมูกบ้าง เป็นครั้งคราว ไม่แสดงอารมณ์ก้าวร้าว เหมือนครั้งแรกๆ
          ต่อมา ครูเรียกแว่น มานั่งบนตัก จับส้มไปพร้อมกับมือครู แว่นคงเกิดความมั่นใจ แล้วกระมังว่า ถ้าจะมีอันตรายจากส้มครูต้องช่วยได้ จากมือที่ค่อยเริ่มแตะๆ จนแว่นสามารถจับได้ทั้งลูก

          เมื่อถึง วิชาการงานพื้นฐานอาชีพชั่วโมงหนึ่ง นักเรียนจะต้องหัดปอกส้ม แกะส้มเป็นกลีบ จัดวางเรียง ในจานให้สวยงาม ครูจะไม่ปล่อยให้แว่นผจญภัย อยู่แต่เพียงคนเดียวแน่ ครูนั่งกับแว่น โอบแว่นไว้กับตัว  มือจับมือ ค่อยๆ ปอกเปลือก ลอกเส้นใย แกะเป็นกลีบ วางเรียงในจาน วันนั้นทั้งครูและแว่น สอบผ่านด้วยกันทั้งคู่

          แว่นเริ่มกินส้มได้ ราวๆ กลางภาคปลาย ป.1 แม้จะใช้เวลา ค่อนข้างนาน ในการปรับพฤติกรรม แต่ก็คุ้มค่าเหลือเกิน ที่จะทำให้นักเรียนออทิสติกคนหนึ่ง ขจัดความกลัวได้ โดยวิถีทางแห่งสันติ

 

    4. Removing Seductive Objects
          คือ การเคลื่อนย้าย หลบหลีก วัตถุหรือสิ่งของ ที่เป็นตัวกระตุ้น ให้นักเรียนแสดงพฤติกรรม ที่ไม่พึงประสงค์

          นักเรียนชอบกินกระดาษ เจอกระดาษตรงไหน เป็นต้องคว้าเข้ามาใส่ปาก ครูต้องระมัดระวัง ไม่ให้มีกระดาษอยู่ในโต๊ะ ใต้โต๊ะ หรือวางล่อตา ให้นักเรียนมาหยิบได้ง่าย

          เส้นทางที่นพจะต้องเดิน ไปเรียนลูกเสือ จะต้องผ่านโต๊ะตัวหนึ่ง ที่วางไว้มุมอาคาร ไม่รู้ว่านพชอบใจอะไร ในโต๊ะตัวนี้นักหนา นพจะต้องนอนพังพาบ ถูไถที่โต๊ะตัวนี้เป็นประจำ ถ้าครูมาดึงตัวออก นพจะต้องร้องกรี๊ด ทุบตีครูเป็นประจำ ในเมื่อโต๊ะตัวนี้มีปัญหา นพก็ต้องไม่เจอโต๊ะตัวนี้อีก ครูเปลี่ยนเส้นทางเดินใหม่ แม้จะเดินอ้อมหน่อย ก็ไม่เป็นไร เมื่อไม่พบโต๊ะตัวนี้ นพก็ไม่แสดงพฤติกรรมดังกล่าว อีกต่อไป
    5. Interest Boosting
          คือ การส่งเสริมหรือสนับสนุน สิ่งที่นักเรียนสนใจเป็นพิเศษ เพื่อนำมาทดแทน การแสดงออก ซึ่งพฤติกรรม ที่ไม่พึงประสงค์

          ครูจะต้องทำความรู้จัก หรือสังเกตนักเรียน ที่อยู่ในความดูแลของตนให้ดี ว่านักเรียนชอบทำอะไร สนใจอะไร  เพื่อจะได้นำสิ่งเหล่านั้น มากระตุ้น หรือเป็นข้อต่อรอง ให้นักเรียนได้แสดงออก ซึ่งพฤติกรรมพึงประสงค์  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักเรียนที่มีพฤติกรรมออทิสติกระดับรุนแรง

          ถ้านักเรียนทำงานเสร็จ ตามที่ครูกำหนด มีนจะได้กระดาษวาดรูป นพได้ฟังเพลง กั้งและปั้น ได้เล่นของเล่น ป้องได้นอน และสินได้ขนม 1 ชิ้น แต่ถ้าใครก็ตาม ไม่สามารถปฏิบัติ ตามคำสั่งได้ สิ่งที่สนใจ ต้องการ อยากได้  ก็ไม่มีให้เช่นกัน

          ฉะนั้น ถ้านักเรียน อยากได้สิ่งที่ตนต้องการ ก็ต้องปฏิบัติตนตามคำสั่ง อยู่ในกรอบวินัยที่ดี
    6. Support  from Routine
          คือ การช่วยเหลือสนับสนุน ในด้านกิจวัตรประจำวัน เพื่อให้นักเรียน ได้รับรู้ การเปลี่ยนแปลง แต่ละช่วง ของเรียนแต่ละคาบ และเข้าใจ ถึงหน้าท ี่ที่นักเรียนควรปฏิบัติ

          คุณเคยสังเกตตัวเอง หรือไม่ว่า...ทำไมต้องจอดรถ ที่เดิม นั่งกินอาหาร ต้องมุมนี้ เมื่อเข้าประชุม ต้องเป็นที่นั่งแถวนี้ เก้าอี้ตัวนี้ เป็นประจำซ้ำๆ ไม่เปลี่ยน โดยไม่จำเป็น  ทั้งนี้เพราะ คุณได้พิจารณา ตั้งแต่แรกแล้วว่า จุดนี้มุมนี้ เป็นที่ที่เหมาะสม เมื่อคุณอยู่ ณ ที่นั้นแล้ว คุณมีความสุข ปลอดภัย และอบอุ่นใจ

          แล้วเด็กออทิสติก ซึ่งเป็นเด็กที่มีความอ่อนไหว มีการระแวงภัย มากกว่าปกติ จะไม่ต้องการความรู้สึก เช่นนั้นบ้างหรือ ด้วยเหตุนี้กระมัง เด็กออทิสติก จึงต้องทำอะไรซ้ำๆ ซากๆ ไม่ยืดหยุ่น ขาดความมั่นใจ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ต่อต้าน  จนกว่าจะแน่ใจว่า  สิ่งที่ตน จะต้องปฏิบัตินั้น มองเห็นเป็นรูปธรรม อย่างชัดเจน
          นพ มีอาการออทิซึมระดับรุนแรง (severe) มีอาการเหม่อลอย อยู่ในโลกของตัว ไม่ยืดหยุ่น ส่งเสียงร้องกรี๊ด ทำร้ายตัวเอง ด้วยการทุบหัว โขกหัว หยิก ตี ครูโดยไม่มีสาเหตุ บางครั้ง วิ่งเตลิดออกนอกห้องเรียน

          เมื่ออยู่ในห้องเรียน นพไม่สามารถ ทำตามกฎระเบียบได้ นพเดินผ่านหน้าครู ที่กำลังสอน อย่างสบายอารมณ์ เข้าห้องโน้น ออกห้องนี้ นั่งโต๊ะครูรื้อของ เดินผ่านวงเพื่อน ที่กำลังนั่งเล่น อยากไปเข้าห้องน้ำหรือดื่มน้ำ ก็ทำตามใจตัวเอง  บางครั้ง นอนขวางห้อง ใครเรียกก็ไม่ลุก

          นพ มีภาษาน้อยมาก จึงทำให้ มีปัญหาในการสื่อสาร ทั้งรับและส่ง แม้ขณะนี้นพอายุ 18 ปีแล้ว ยังจูงมือคร ูให้ไปทำ ในสิ่งที่ตนต้องการ นพจะพูด ต่อเมื่อถูกกระตุ้น หรือให้พูดเลียนแบบ แม้กระนั้น นพก็ยังไม่ค่อยอยากพูด  การที่นพ ไม่สามารถสื่อสาร  บอกความต้องการตนเองได้ นับเป็น ความคับข้องใจอย่างที่สุด นพจึง ระบายความคับข้องใจออกมา ในลักษณะพฤติกรรมก้าวร้าว ไม่พึงประสงค์

          นพมีปัญหามาก ตอนเปลี่ยนชั่วโมง อิดออด ไม่ยอมเรียน หนีลงไปนอนกบดาน ในบ่อบอล ใช้เสียงกรี๊ด เข้าต่อต้าน ปฏิเสธการเรียน หรือทำกิจกรรม ทุกรูปแบบ บางครั้ง กว่าจะยื้อยุดไปเรียนกันได้ หมดทั้งเวลา และแรง

          ฉะนั้น การจัดตารางเรียน จึงเป็นการช่วยเหลือ เด็กออทิสติกให้รู้จุดมุ่งหมาย และสิ่งที่ตนต้องปฏิบัติ ถ้ามีกรอบ หรือตารางอย่างแน่ชัด เด็กจะลดความกังวล ไม่รู้สึกสับสน ในการเปลี่ยนช่วง จากกิจกรรมหนึ่ง ไปสู่อีกกิจกรรมหนึ่ง

          ตารางเวลาเรียน คือ กรอบเวลา ที่เด็กต้องรู้ว่า จะต้องทำอะไรบ้างใน 1 วัน ตั้งแต่โรงเรียนเข้า จนโรงเรียนเลิก หรือใน 1คาบ เด็กจะทำอะไรบ้าง ตารางที่ใช้สื่อสารนี้ อาจเป็นข้อความ (ถ้าเด็กอ่านได้ และเข้าใจความหมาย) ภาพ  สัญลักษณ์ หรือวัตถุ ที่เป็นของจริง ตารางนี้ อาจจะติดไว้หน้าห้อง ให้เห็นชัดเจน หรือจะทำเป็นเล่มเฉพาะตัว เพราะเด็กบางคน อาจจะมีแผนการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP) ที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งที่เหมือนกัน คือ เมื่อสิ้นสุดกิจกรรมใด  เด็กจะต้องดึงตารางแผ่นนั้นออก เพื่อเด็กจะได้รู้ เป้าหมายที่แน่ชัด ลดพฤติกรรมการปฏิเสธ หรือต่อต้านการทำกิจกรรมต่อไป

ตัวอย่างตารางเรียน

 


            เวลา

กิจกรรม

8.00

ร้องเพลงชาติ   และสวดมนต์            

8.10-8.30

สนทนายามเช้า                         

8.30-9.30

ภาษาไทย                                      

9.30-10.30
10.30-11.30

พลศึกษา

11.30-13.00

รับประทานอาหารกลางวัน

13.00-14.00

คอมพิวเตอร์                                                         

14.00-15.00

ศิลปะบำบัด                    

 

15.00-15.30

ทำเวร                                                                       

        

 

กลับบ้าน                                                             

          เมื่อนำตารางเรียนเช่นนี้ มาใช้กับนพ ต้องใช้เวลาสักระยะ ในการทำซ้ำๆ และคุ้นเคยกับระบบ จนสามารถปฏิบัติได้ ด้วยตนเอง นพลดอาการก้าวร้าวลง เพราะนพรู้ว่า ขณะนี้ ตัวเองกำลังทำอะไร ควรอยู่ที่ไหน  กระตือรือร้น ที่จะเตรียมตัวเรียน ในชั่วโมงต่อไป เมื่อทำงานเสร็จส่งงานแล้ว นพจะไปนอนฟังเพลง ที่มุมห้อง ตามที่ตกลงกันไว้
    7. Restructuring Classroom Program
          คือ การจัดวางแผน การเรียน การสอนใหม่ เพื่อให้เกิดความเหมาะสม และเอื้อต่อการ แสดงพฤติกรรม ที่พึงประสงค์ของนักเรียน

          เมื่อปรับพฤติกรรม ตามเทคนิคต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้น ไม่ประสบผลสำเร็จ นักเรียนยังมีพฤติกรรม ที่ไม่พึงประสงค์เหมือนเดิม ครูคงต้องหันมาดูรูปแบบการเรียนรู้ ของนักเรียนแต่ละคน  เพราะแต่ละคน จะมีความถนัด ที่แตกต่างกันไป
          รูปแบบการเรียนรู้ คือ
                    1.Visual learner  การเรียนรู้ด้วยการมอง
                    2.Auditory learner  การเรียนรู้ด้วยการฟัง
                    3.Tactile / Kinesthetic learner  การเรียนรู้ ด้วยการเคลื่อนไหว การปฏิบัติ ตลอดจนการสัมผัส
          แล้วครูมีนอต ที่ต้องขัน หรือต้องคลาย เหมือนลูกศิษย์หรือไม่... ยืนยันตรงนี้เลยว่า ครูก็มีนอต ที่ไม่ปกติได้เช่นกัน ซึ่งเป็นอาการของปุถุชน โดยทั่วไป แต่การปรับนอตของครู คงจะทำแบบผู้เจริญแล้ว ซึ่งวัยวุฒิ และคุณวุฒิ  ด้วยการใช้ ไขควงที่เรียกว่า “อิทธิบาท 4” เข้ามาช่วย
          อิทธิบาท แปลว่า บาทฐาน แห่งความสำเร็จ หมายถึง สิ่งซึ่งมีคุณธรรม เพื่อให้บรรลุถึงความสำเร็จ ตามที่ตนประสงค์ ผู้หวังความสำเร็จ ในสิ่งใด ต้องทำตนให้สมบูรณ์ ด้วยสิ่งที่เรียกว่า อิทธิบาท ซึ่งจำแนกไว้เป็น 4  คือ
                        1. ฉันทะ            ความพอใจรักใคร ในสิ่งนั้น
                        2. วิริยะ              ความพากเพียร ในสิ่งนั้น
                        3. จิตตะ             ความเอาใจใส่ฝักใฝ่ ในสิ่งนั้น
                        4. วิมังสา            ความหมั่นสอดส่อง ในเหตุผลของสิ่งนั้น
          ครู... ต่อให้มีวิธีการสอน ที่ดีเลิศเพียงใด แต่ถ้าครู ขาดซึ่งอิทธิบาท 4 แล้ว ผลิตผลที่ได้ออกมา ย่อมไม่เต็ม ตามวัตถุประสงค์ ที่วางไว้ ธรรมะทั้ง 4 อย่างนี้ย่อมเนื่องกัน แต่ละอย่าง ก็มีหน้าที่เฉพาะของตน ขาดข้อใดข้อหนึ่ง ไปไม่ได้
          อิทธิบาท 4  เป็นหลักธรรม ที่เป็นพลังขับ ของการกระทำต่างๆ ที่ทำให้ชีวิตบางชีวิตอย่างเช่น ออทิสติก ได้รับการปฏิบัติ ด้วยความยุติธรรม ด้วยความเห็นอก เห็นใจ และเมตตา มากยิ่งขึ้น
 

 

 

 

 

ศูนย์วิจัยการศึกษาเพื่อเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ
โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา
ตู้ ปณ.1050 ปณฝ.เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10900
โทรศัพท์ 02-9428800-9 ต่อ 701

 

 

จำนวนผู้เข้าชมตั้งแต่ 01/01/2552:

web statistics