bg
bg
bg
bg
bg
bg
bg
bg
bg
bg
bg
bg
 

 

TEACCH...กับออทิสติก

ผศ.จิตติรัตน์ ทัดเทียมรมย์

   

 

นพ เป็นเด็กออทิสติกที่มีอาการอยู่ในระดับรุนแรง (severe)   ถึงแม้ว่านพจะอายุ  15 ปีแล้ว   แต่นพยังมีอาการเหม่อลอย อยู่ในโลกของตัวเอง ไม่ยืดหยุ่น ส่งเสียงร้องกรี๊ด   ทำร้ายตนเองด้วยการทุบหัวหรือโขกหัวกับโต๊ะ  หยิก  ตี  ทุบอาจารย์โดยไม่มีสาเหตุ   บางครั้งวิ่งเตลิดออกนอกห้องเรียน
           เมื่ออยู่ในห้องเรียน   นพไม่สามารถทำตามกฎระเบียบได้   นพเดินผ่านหน้าอาจารย์ที่กำลังสอน   เข้าห้องโน้นออกห้องนี้   นั่งโต๊ะอาจารย์รื้อของ   เดินผ่านวงเพื่อนที่กำลังนั่งเล่น   อยากจะไปดื่มน้ำหรือเข้าห้องน้ำ   ก็ทำตามใจตัวเอง   บางครั้งนอนขวางห้อง   ใครเรียกก็ไม่ยอมลุก
          นพมีภาษาน้อยมาก   จึงทำให้มีปัญหาในการสื่อสารทั้งรับและส่ง   แม้ขณะนี้นพยังจูงมืออาจารย์ให้ไปทำในสิ่งที่ตนต้องการ   นพจะพูดต่อเมื่อถูกกระตุ้นหรือให้พูดเลียนแบบ   แต่ถึงกระนั้นนพก็ยังไม่ค่อยอยากพูด   แต่นานๆ ครั้ง นพจะหลุดคำพูดที่อาจารย์คาดไม่ถึงออกมา   เช่น ครั้งหนึ่ง   นพอาละวาดส่งเสียงกรี๊ดลั่นในโรงอาหาร   หยิกอาจารย์   และคว่ำถาดจนพอใจแล้ว   อาจารย์ที่ดูแลเมินเฉย   ไม่มีใครพูดด้วย   นพคงจะสำนึกได้   ยกมือไหว้บอกอาจารย์  “เด็กไม่ดี...ขอโทษ” 
            การที่นพมีปัญหาพฤติกรรมที่รุนแรงเช่นนี้   ก็คงเป็นเพราะนพไม่สามารถสื่อสารบอกความต้องการของตนเองได้   นับเป็นความคับข้องใจอย่างที่สุด   คงเหมือนกับเด็กทารกที่หิวก็ร้อง   ปวดท้องก็ร้อง   เพราะฉะนั้นนพจึงระบายความคับข้องใจออกมา   ในลักษณะพฤติกรรมก้าวร้าวที่ไม่พึงประสงค์
         นพอ่านออกเขียนได้   แต่ไม่เข้าใจความหมาย   คิดเลขที่ไม่มีโจทย์ปัญหาได้แม่นยำ   มีความสามารถพิเศษเด่นในเรื่องศิลปะ   โดยเฉพาะการปั้นตามแบบ   นพไม่สามารถเรียนรวมในห้องเรียนปกติได้เต็มเวลา   แต่จะเข้าเรียนรวมในบางวิชา  คือ  ดนตรี   พลศึกษา   คอมพิวเตอร์   งานบ้านงานเกษตร   ลูกเสือ   ส่วนวิชาอื่นๆ ที่นอกเหนือจากนั้น   ต้องแยกนพออกมาเรียนเป็นกลุ่มพิเศษ   จัดหลักสูตรใหม่   มีแผนการศึกษาเฉพาะบุคคล
          นพจะมีปัญหามากตอนเปลี่ยนชั่วโมง   อิดออดไม่ยอมเรียน   อาจจะหนีลงไปนอนกบดานในบ่อบอล  
หรือใช้เสียงกรี๊ดเข้าต่อต้าน   ปฏิเสธการเรียนหรือทำกิจกรรมทุกรูปแบบ   รู้จักแต่ตามใจตนเอง   บางครั้งกว่าจะยื้อยุดกันไปเรียนได้ก็หมดเวลา
        ผลจากการทดสอบทางสติปัญญาของนพ   เมื่อแรกเข้าเรียนโดย ผศ.ดร.ดารณี   อุทัยรัตนกิจ นักจิตวิทยา
โรงเรียน   หัวหน้าศูนย์วิจัยการศึกษาเพื่อเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ   พบว่า   นพมีความสามารถทางสติปัญญาที่ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษา   อยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย   แต่มีความสามารถโดดเด่นในการสื่อสาร   โดยช่องทางที่ใช้กลไกการเคลื่อนไหวและการมองเห็นควบคู่กันไป   นอกจากนั้น  ยังมีความสามารถในการสร้างมโนทัศน์โดยไม่ใช้ภาษา   และสามารถรับรู้ด้วยการมองเห็นได้อย่างดีเยี่ยม   รับรู้ในสิ่งที่เป็นรูปธรรมมากกว่านามธรรม   แต่มีปัญหาทางด้านการสื่อสารด้วยภาษาพูด
         การจะให้นพปฏิบัติตนเป็นนักเรียน   ทำตามกฎ   และเรียนตามแผนที่กำหนดไว้   ก็มีวีธีการสอนหรือวิธีช่วยเหลือที่หลากหลาย   แต่ในที่นี้จะขอกล่าวถึง โปรแกรมทีช (TEACCH) ซึ่งเป็นโปรแกรมหนึ่งที่ช่วยเหลือเด็กออทิสติกอย่างนพ
         Treatment   and   Education   of  Autistic   and   Related Communication  Handicapped  Children  หรือ  TEACCH   ผู้คิดโปรแกรมนี้คือ
 Dr.Erick  Schopler  ภาควิชาจิตเวชศาสตร์   มหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลนา   ประเทศสหรัฐอเมริกา
           จุดมุ่งหมายหลักของโปรแกรมทีช   คือ   มุ่งเน้นช่วยเหลือ   และสนับสนุนพัฒนาการของเด็กออทิสติกให้ประสบความสำเร็จเต็มตามศักยภาพสูงสุด
          ส่วนประกอบหลักสำคัญของโปรแกรมทีช   คือ   การสอนที่มีโครงสร้างชัดเจน (Structured   Teaching)  โดยใช้จุดเด่นหรือโครงสร้างลักษณะพื้นฐานของออทิซึม   มาส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้  ดังนี้
          • โครงสร้างทางกายภาพ (Physical  Structure) คือ  การจัดสภาพแวดล้อมของห้องเรียน  หรือห้องฝึกปฏิบัติอื่นๆ ให้เหมาะสม   เพราะห้องเรียนมีพื้นที่กว้าง   ทำให้เด็กออทิสติกรู้สึกสับสน   เพราะไม่ทราบว่าจะประกอบกิจกรรมใดในห้องเรียนบ้าง   แต่ถ้าครูกำหนดพื้นที่ให้ชัดเจนโดยใช้สัญลักษณ์   รูปภาพ  หรือเส้นแบ่งเขตแสดงให้เห็นว่า   พื้นที่ใดเป็นส่วนของครู   พื้นที่ใดใช้เรียน   เล่น   อ่านหนังสือ   ทำกิจกรรมหรือถูกทำโทษ   วีธีการนี้จะทำให้เด็กไม่ออกนอกห้อง   เพราะรู้ว่าห้องเรียนมีไว้ทำไม   เมื่อเข้ามาในห้องแล้ว   จะจัดตนเองให้อยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งได้ด้วยความมั่นใจ

 

 

 • การจัดตารางเวลาเรียน  (Providing  Schedule) เป็น  การช่วยเหลือเด็กออทิสติกให้รู้จุดมุ่งหมาย   และสิ่งที่ตนต้องปฏิบัติ   ถ้ามีกรอบหรือตารางอย่างแน่ชัด   เด็กจะลดความกังวล   และไม่รู้สึกสับสน   ในการเปลี่ยนช่วงจากกิจกรรมหนึ่งไปสู่อีกกิจกรรมหนึ่ง ตารางเวลาเรียน คือ กรอบเวลา   ที่เด็กต้องรู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้างใน  1 วัน   ตั้งแต่โรงเรียนเข้าจนโรงเรียนเลิก   หรือ  ใน  1 คาบ  เด็กจะทำอะไรบ้าง  ตารางที่ใช้สื่อสารนี้   อาจเป็นข้อความ  (ถ้าเด็กอ่านได้และเข้าใจความหมาย) ภาพ   สัญลักษณ์  หรือวัตถุที่เป็นของจริง  
                ตารางนี้อาจจะติดไว้หน้าห้องให้เห็นชัดเจน   หรือจะทำเป็นเล่มเฉพาะตัว   เพราะเด็กบางคนอาจจะมีแผนการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP) ที่แตกต่างกันไป  แต่สิ่งที่เหมือนกัน  คือ เมื่อสิ้นสุดกิจกรรมใด   เด็กจะต้องดึงตารางแผ่นนั้นออก   เพื่อเด็กจะได้รู้เป้าหมายที่แน่ชัด   ลดพฤติกรรมการปฏิเสธ   หรือต่อต้านการทำกิจกรรมต่อไป
ตัวอย่างตารางเรียน

 

 

เวลา

กิจกรรม

8.00

ร้องเพลงชาติ   และสวดมนต์         

8.10-8.30

สนทนายามเช้า       

8.30-9.30

ภาษาไทย          

9.30-10.30
10.30-11.30

พลศึกษา           

11.30-13.00

รับประทานอาหารกลางวัน                 

13.00-14.00

คอมพิวเตอร์             

14.00-15.00

ศิลปะบำบัด  

15.00-15.30

ทำเวร               

 

กลับบ้าน        

• การทำงานอย่างเป็นระบบ  (Work  System) เด็กออทิสติกต้องการการรับรู้อย่างเป็นระบบ   เมื่อสั่งให้เด็กทำงานอะไร   ครูต้องบอกอย่างมีจุดมุ่งหมายเป็นขั้นตอน   เป็นการช่วยให้เด็กเข้าใจข้อตกลง   และรู้ว่าจะต้องทำอะไรอย่างชัดเจน  คือ
         - รู้ว่างานที่จะต้องทำมีอะไรบ้าง
         - รู้ว่างานนั้นมีขั้นตอนในการปฏิบัติอย่างไร   เรียงลำดับจากง่ายไปยาก
         - รู้การจัดการเมื่อทำงานเสร็จแล้ว   เช่น  การส่งงาน   การเก็บหรือการทำความสะอาดอุปกรณ์การเรียน  ฯลฯ
         - รู้ว่าเมื่อทำงานเสร็จแล้วจะได้ทำในสิ่งที่ตนเองชอบ  เช่น  เล่นของเล่น   วาดรูป   หรือนอนเล่น
         - รู้ว่าชั่วโมงต่อไปจะต้องเรียนอะไร
        • การสอนด้วยการมองเห็น  (Visual   Instruction) เด็กออทิสติกจะเรียนรู้ได้ดีด้วยการใช้สายตา (Visual  Learner)  นอกจากของจริงแล้ว   ภาพจึงเป็นสื่อการสอนที่เหมาะที่สุด   การใช้ภาพประกอบขั้นตอนในการเรียนการสอน   จะทำให้เด็กออทิสติกเข้าถึงบทเรียนได้ง่าย   เรียนรู้ได้เร็วขึ้น   ครูลดการพูดซ้ำๆ  เช่น  การสอนซักผ้าเช็ดมือ   ขณะที่ครูอธิบายขั้นตอนในการซักผ้า ครูควรจะมีภาพประกอบแต่ละขั้นตอน   ซึ่งจะช่วยให้เด็กออทิสติกเข้าใจและเห็นภาพชัดเจน   เมื่อเด็กจะข้ามขั้นตอน   ครูเพียงทบทวนด้วยภาพ   ไม่ต้องพูดซ้ำ   เด็กสามารถปฏิบัติได้ทันที

 

 

            เมื่อนำโปรแกรมทีชมาใช้กับเด็กที่มีอาการรุนแรงอย่างนพ   คงต้องใช้เวลาสักระยะ   เมื่ออาจารย์ใช้ปฏิบัติเป็นกิจวัตร   เด็กได้ทำซ้ำๆ ก็จะเกิดความคุ้นเคยกับระบบ   ปฏิบัติได้ด้วยตนเอง   นพลดอาการก้าวร้าว   นพรู้ว่าตนเองควรจะอยู่ในที่ใดเวลาใด   กระตือรือร้นที่จะเตรียมตัวเรียนในชั่วโมงต่อไป   โดยที่อาจารย์ไม่ต้องมาบอกหรือดึงให้เข้าเรียน   เมื่อต้องการจะแลกชั่วโมง   เพียงบอกให้นพทราบ   แล้วสับเปลี่ยนตารางเวลา    นพก็ไม่โวยวายเหมือนแต่ก่อน   เมื่อนพทำงานเสร็จ   ส่งงานแล้ว   นพจะไปนอนฟังเพลงที่มุมห้องตามที่กำหนด

 

 

          มีเรื่องขำๆ  ที่อาจารย์ผู้สอนเล่าให้ฟังว่า   นพจะต้องลงไปฉีดวัคซีนร่วมกับเพื่อนๆ   ถ้าบอกด้วยวาจานพคงต่อต้าน   เพราะนพกลัวเข็มฉีดยา   อาจารย์จึงเตรียมตัวนพก่อนล่วงหน้าเป็นอาทิตย์   ให้รู้จักเข็มฉีดยา   วีธีการฉีดยาของหมอ   และที่ไม่ลืมคือภาพการฉีดยาที่ต้องเตรียมไว้เสียบแทนที่กิจกรรมเดิมของคาบนั้น 
         ตารางเรียนของนพทำเป็นเล่ม   ที่บรรจุกิจกรรมใน 1 วัน   อาจารย์นำติดมือไปห้องพยาบาลด้วย    เพื่อย้ำว่านพจะต้องทำอะไร   ขณะเข้าแถวรอฉีดยา   นพมีอาการกระสับกระส่าย   แต่ไม่ยอมออกจากแถว   เพราะอาจารย์กางคัมภีร์เพื่อชีวิตให้ดูเป็นระยะ   จนกระทั่งอาจารย์ใจอ่อน   เพราะนพหน้าซีดขาวตัวงอ   เมื่อเห็นเพื่อนบางคนร้องไห้หรือทำหน้าเหยเกออกมา    อาจารย์เลยเปลี่ยนใจจะพานพกลับ   แต่นพไม่ยอม   ยื้อยุดกันอยู่พักหนึ่ง   อาจารย์นึกขึ้นมาได้   เลยดึงแผ่นฉีดยาออก   เสียบรูปเดินกลับห้องเข้าแทนที่   นพกระโดดตบมือ   ร้องกรี๊ดด้วยความดีใจ   วิ่งสุดกำลังกลับขึ้นห้องทันที

 

โปรแกรมทีช  สามารถนำมาใช้ได้หลากหลาย   ในเรื่องของการสื่อสาร   การปรับพฤติกรรม   การทำงาน   การสร้างความสัมพันธ์กับบุคคล   การปฏิบัติตนในบ้าน   การเรียนรู้อย่างเป็นระบบตามโปรแกรมนี้   จะนำไปสู่การพัฒนาเด็กได้เต็มตามศักยภาพ

 

 

 

 

 

 

 

 

ศูนย์วิจัยการศึกษาเพื่อเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ
โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา
ตู้ ปณ.1050 ปณฝ.เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10900
โทรศัพท์ 02-9428800-9 ต่อ 701

 

 

จำนวนผู้เข้าชมตั้งแต่ 01/01/2552:

web statistics