bg
bg
bg
bg
bg
bg
bg
bg
bg
bg
bg
bg
 

 

ศิลปะบำบัด

จุมพล  ชินะประพัฒน์
อาจารย์พิเศษโครงการการศึกษาพิเศษ 2

     การนำศิลปะแขนงต่างๆ หลายๆด้าน โดยไม่ เน้นด้านใดด้านหนึ่ง รวมทั้งความคิดสร้างสรรค์ในเชิงศิลปะ เป็นสื่อนำไปพัฒนาเด็ก ให้มีความสามารถ เพื่อสร้างเสริม ความคิดสร้างสรรค์นั้นๆ นำไปใช้ประกอบกับ การเรียนในด้านต่างๆ อีกทั้งครอบครัว และ ชีวิตประจำวัน เพื่อพัฒนาการที่สมบูรณ์ในการดำรงชีวิต
     ศิลปะกับมนุษย์เป็นของคู่กัน และเติบโตไปพร้อมๆกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็ก เมื่อธรรมชาติของเด็กกับศิลปะหล่อหลอมเข้าด้วยกันแล้ว การเจริญเติบโต ทางแนวคิด สมาธิ สติปัญญา ความกล้า แสดงออกอย่างมีเหตุผล และ พัฒนาการด้านอื่นๆ ก็น่าจะเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน เบื้องต้นที่กล่าวมานี้ เราเรียกว่า “พัฒนาเด็กผ่านศิลปะ” ภายหลังหลายคนบอกว่านี่คือ “ศิลปบำบัด”
     ศิลปบำบัด คือ การใช้กิจกรรมการเรียนรู้ในทางศิลปะวินิจฉัย และ ช่วยเหลือ ปรับปรุงส่วนที่ บกพร่องในด้านต่างๆ ให้ดีขึ้น เช่น
  • อารมณ์
  • สติปัญญา
  • สมาธิ
  • จินตนาการความคิดสร้างสรรค์
  • การสื่อสาร
  • การรับรู้, เรียนรู้
  • พฤติกรรม

ในขณะเดียวกันยังช่วยค้นหาศักยภาพที่แท้จริงของผู้ที่บกพร่องอีกด้วย

  • “อาจารย์ช่วยหน่อย” เด็กชายนันพูดระหว่างทำงานศิลปะอยู่ด้วยกัน ครูใช้แค่มือแตะ มือเด็กเบาๆ เพื่อสร้างความมั่นใจ แทนการทำให้หรือช่วยทำ เพื่อให้เด็กสามารถปฏิบัติงานต่อไปได้
  • ศิลปะช่วยให้เด็กหยุด การทำอะไรซ้ำๆ แบบเดิมๆ หรือทำน้อยลง เช่น การเข้าห้องน้ำบ่อยๆ ของพัศศน
  • ศิลปะทำให้ได้งานปั้นสวยๆ ของกมล
  • ศิลปะสร้างความมั่นใจให้เด็กออทิสติกบางคน เพราะได้รับรางวัลจากการประกวด
  • ศิลปะช่วยในเรื่องการฝึกพูดของเด็กบางคน

     ทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นตัวอย่างเพียงคร่าวๆ สำหรับเด็กบางคน ยังมีรายละเอียดบางอย่าง หรือบางเรื่องที่ยังไม่ได้พูดถึง คงได้เล่าในโอกาสต่อไป

     ย้อนหลังไปเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว เราทำโครงการพัฒนาเด็กผ่านศิลปะให้กับ เด็กหลายคน หลายวัย เริ่มต้น จากลูกของเราเอง ลูกของเพื่อนๆที่เรารู้จัก ต่อมาก็เริ่มมีคนรู้จักเรา จากสิ่งที่เราทำเพิ่มขึ้น
     ประมาณ 3 ปีที่แล้ว มีเด็กอายุประมาณ 9 ปี ชื่อน้องแวน มาเรียนศิลปะ ข้อมูลที่ได้คือ เด็กชอบวาดรูป ขีดเขียน เราตกลงกันว่าใน 1 สัปดาห์ดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนใน 1 วัน วันละ 2 ชั่วโมง เริ่มต้นแวนใช้สีขีดเส้น 1 เส้น ลงบนกระดาษขนาด 15x22 นิ้ว หลังจากนั้นแวนก็เริ่มเดินไปรอบๆ แล้วก็หยิบชามพลาสติกในครัวบ้านเราออกมาประมาณ 15-20 ใบ นำไปวางไว้หน้าบ้าน (ลืมบอกไปว่ากิจกรรมการเรียนการสอน เราใช้ที่บ้านเป็นสถานที่) จากนั้นก็เริ่มเรียงชามให้เป็นระเบียบ ใส่น้ำ เด็ดใบไม้มาใส่จนครบทุกใบ แล้วมาบอกเราว่า ลุง (เด็กเรียกเราว่าลุง) แวนทำงานศิลปะเสร็จแล้วไปเล่นขายของกัน งานศิลปะของแวน คือ การขีดเส้น เส้นเดียวใช้เวลาไปไม่ถึง 5 นาที แปลกมากเด็กที่เรารู้จักมาทั้งหมด ไม่เคยมีใครเลยที่จะทำงานได้แบบนี้ บรรยากาศของการเล่นขายของสนุกมาก และ เป็นแบบนี้อีกหลายครั้ง จนในที่สุดเราคงต้องหาสาเหตุ และ ข้อมูล เพิ่มเติมจากผู้ปกครอง (ในที่นี้ก็คือคุณแม่ของเด็ก)

     จากการพูดคุยสอบถาม เราก็ได้คำตอบส่วนหนึ่งว่าเด็กมีความบกพร่อง เรื่องการเรียนรู้ และ ความเข้าใจซึ่งถูกระบุทางการแพทย์ว่าเป็นโรค ชนิดหนึ่งเรียกว่า “LD.” เด็กเรียนหนังสือชั้นละ 2 ปี หมายถึง ตั้งแต่อนุบาล 1-3 เรียนทั้งหมด 6 ปี ตอนที่รู้จักเราในเวลานั้นเรียนระดับอนุบาล 3 แวนขาดสมาธิในการทำงาน ทำได้ประเดี๋ยวประด๋าว เข้าใจอะไรยาก หรือไม่เข้าใจเลย มีพัฒนาการทาง ร่างกายเหมือน เด็กวัยเดียวกัน พัฒนาการทางด้านการเรียนรู้ การเขียน การอ่าน และ ความเข้าใจ ไม่เท่าเทียมเด็กในวัยเดียวกัน
     สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เรารู้สึกว่าน่าสนใจที่จะเก็บเกี่ยวเป็นข้อมูลของการเรียนรู้ และ หาทางที่จะนำศิลปะเข้าไปสร้างกระบวนการเรียนแต่เราจะทำอย่างไร ที่จะทำให้กระบวน การแบบนั้นเกิดขึ้น
     เราเริ่มเรียนรู้จาก สิ่งที่เด็กทำและ พูด และ ปรับให้เกิดกระบวน การทำงานทาง ศิลปะไม่ว่าจะเป็น งานวาด งานปั้น งานประดิษฐ์ เพื่อสร้างเสริมความเชื่อมั่น มั่นใจ และทำให้เกิดสมาธิ จนเราเริ่มเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้น ในการทำกิจกรรมครั้งละ 2 ชั่วโมง เริ่มต้นจากการที่เด็กอยู่กับที่และ ทำงานได้ประมาณ 5-10 นาที จนในที่สุดเด็กอยู่กับที่ และทำงานได้ 2 ชั่วโมงเต็ม บางครั้งก็มากกว่านั้น

     เราปรับการเล่นขายของของแวนเป็นกระบวนการเรียนรู้ผ่านงานศิลปะ โดยตัดกระดาษออกเป็นวงกลมสองวง บอกแวนว่าวันนี้เราจะหุ้นกันเปิดร้านอาหาร เนื้อหามีอยู่ว่า
ลุง:“แวนเราหุ้นกันเปิดร้านอาหารดีกว่า เราออกเงินกันคนละครึ่ง (จากกระดาษวงกลม) เราหุ้นกันคนละเท่าไหร่ดีล่ะ”
แวน:“5 บาทก็ละกันลุง”
ลุง:“ตกลงเราลงทุนกันคนละ 5 บาท งั้นแวนเขียนตัวเลขให้ลุงหน่อย”
แวน:“ลุงนี่ของลุง และ นี่ของแวน”
ลุง:“แล้วร้านอาหารของเราชื่ออะไรดีล่ะ”
แวน:“แล้วแต่ลุงก็แล้วกัน”
ลุง:“ลุงไม่ค่อยได้ไปร้านอาหาร แวนคิดก็แล้วกัน ลุงไม่รู้หรอก”
แวน:“งั้นเอาร้าน ครัวเจ๊ง้อ ก็แล้วกัน”
ลุง:“เออ ! แล้วมันเขียนยังไงล่ะ (เริ่มวิธีการเขียนหรือสะกดคำ) ค เขียนยังไงล่ะ เขียนให้ดูหน่อยสิ”
แวนเขียนกลับหัวเป็นตัว ด เราก็ช่วยแนะนำให้
ลุง:“แล้ว ร เรือล่ะ พูดแบบกระดกลิ้น แวนก็เขียนตาม (ใช้วิธีนี้จน ครบคำว่าครัวเจ๊ง้อ) แวน เวลาคนไปกินอาหาร มันจะมีบางร้าน ที่เป็นกระดาษ บางร้านก็เป็นเล่มๆ ที่บอกชื่ออาหารน่ะ เค้าเรียกอะไร”
แวน:“เค้าเรียก เมนูไงลุง ทำไมซื่อบื้อจัง” (ถูกใจมากครับ)
ลุง:“เออ ! ถ้าลุงซื่อบื้อ แล้วลูกศิษย์ลุงล่ะ”
แวน:“ลูกศิษย์ลุงก็ต้องซื่อบื้อมากกว่าลุงน่ะสิถามได้”
ลุง:“แล้วใครล่ะ”
แวน:“ก็หนูไง”
ลุง:“ถ้างั้นเมนูเรามีอาหารกี่อย่าง อะไรบ้าง”
แวน:“5 อย่างก็พอลุง มากกว่านี้ทำตายเลย”

     ต่อจากนั้นก็ใช้วิธีเดียวกัน กับการตั้งชื่อร้าน เราก็ได้งานศิลปะ เป็นเมนูที่มีภาพ ประกอบสวยๆ มีชื่ออาหาร 5 อย่าง บวกราคา ส่วนแวนก็จะได้พัฒนา การเรียนรู้ในด้านต่างๆ ผ่านกระบวน การทางศิลปะ
     สัปดาห์ต่อมา แวนก็จะจำเรื่องร้านอาหารได้ พัฒนาการก็เริ่มต้น ต่อไปเป็นการทำโต๊ะ เก้าอี้ ผ้าปูโต๊ะ เตา กระทะ จนเราเห็นความ พิเศษจาก หม้อก๋วยเตี๋ยว แวนบอกลุงว่า ลุงวันนี้เราทำหม้อก๋วยเตี๋ยวกัน ร้านอาหารของ เรายังไม่มีเลย ลุงให้แวนทำหม้อก๋วยเตี๋ยว โดยมีลุงเป็นผู้ช่วย ลักษณะเป็นทรงกระบอก ปิดด้านล่างไม่ให้ทะลุ แบ่งช่องเรียบร้อย เหมือนหม้อ ก๋วยเตี๋ยวทุกอย่าง แต่แวนบอกว่านี่ไม่ใช่ ลุงบอกว่า ทำไมไม่ใช่ นี่ไงหม้อก๋วยเตี๋ยว ก็เป็นแบบนี้ แวนบอกว่า ใช่ที่ไหนกันล่ะ มันต้องมีขอบด้าน บนด้วยไม่งั้น มันจะตั้งได้ยังไง (ลักษณะที่ถูกต้อง ก็คือรูปทรงเป็นทรงกระบอก ด้านบนมีขอบเวลาตั้งกับรถ เข็นขอบของหม้ออันนี้จะยึดให้เสมอกับพื้นรถเข็น) แวนทำกิจกรรม ศิลปะกับเราได้ประมาณ 2 ปี แวนก็มีพัฒนาการ ดีขึ้นในทุกๆ ด้านไม่ว่าจะเป็น

- อารมณ์- การแก้ปัญหา- การเรียนรู้- ความคิดสร้างสรรค์
- สมาธิ- ช่างสังเกต- การรอคอย- ความมั่นใจและเชื่อมั่น

     ที่สำคัญ ก็คือ “เล่ห์เหลี่ยม” ข้อมูลทั้งหมดมาจากคุณแม่ของแวนเอง
     ปัจจุบันแวนไม่ได้มาทำกิจกรรมกับลุงแล้ว เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการเดินทาง แต่มีโอกาสได้คุยกันบ้างทางโทรศัพท์

     อีกรายคือ ลูกหนู เป็นหลานเพื่อน วันหนึ่งเพื่อนพาลูกหนูมาหา แล้วบอกว่าฝากให้ช่วยพัฒนาการ เรียนรู้จากวิธีแบบนี้ให้ด้วย เวลานั้นลูกหนู เรียนหนังสือจบชั้นประถม 6 ไปเรียนต่อที่ไหน ก็ไม่มีโรงเรียนที่ไหนรับ
     เนื่องจากมีปัญหา เรื่องการเรียนรู้ เคยลองเช็คระดับ การเรียนรู้อยู่ระดับประถม 2-3 (จบชั้นประถม 6 ได้เนื่องจากย้ายโรงเรียนทุกปีและ เป็นโรงเรียนเอกชน) ลูกหนูเชื่อคนง่าย กลัวว่าจะถูกคนไม่ดีใช้เป็นเครื่องมือในการหาประโยชน์

ลักษณะของลูกหนู

1. มีความบกพร่องเรื่องการเรียนรู้ (โดยเฉพาะเรื่องที่ซับซ้อน)
2. บางครั้งเข้าใจเรื่องบางเรื่องยาก
3. ชอบเล่นกับเด็กวัยเล็กกว่า
4. ขาดความมั่นใจ
5. ไม่ค่อยพูด และ ตอบคำถาม
6. บิดา มารดา แยกกันอยู่
7. ไม่ชอบแก้ปัญหา
8. เดินเขย่งเท้า
9. นั่งยองๆไม่ได้
10. เหม่อลอยบางครั้ง

     เราตกลงให้ลูกหนู มาเช้ากลับเย็น แรกเริ่มสับสนเหมือนกัน ว่าเราจะทำอย่างไร กับปัญหาในตัวเด็ก ซึ่งเยอะมาก

 
     เริ่มต้นเราทำความรู้จักด้วยศิลปะ เพื่อให้เกิดความไว้วางใจ เชื่อมั่น เพื่อสร้างกระบวน การเรียนรู้ พร้อมกับ เรียนรู้ ลูกหนูให้มากขึ้น
 
     จากระยะเวลาการเรียนรู้ร่วมกัน ทำให้เราเข้าใจปัญหา เกี่ยวกับลูกหนูเยอะมาก เริ่มตั้งแต่ ข้อมูลเด็กก่อนเกิด การเลี้ยงดู ปัญหาเรื่องการเรียนระดับอนุบาล ที่น่าสนใจก็คือ พฤติกรรมบางอย่าง เด็กทำได้เหมือนป้าที่เป็นปัญญาอ่อน ที่อยู่บ้านเดียวกัน ตั้งแต่เด็ก ลูกหนูเหมือนไม้หนึ่งต้น ที่มีปมเล็กปมน้อยเยอะมาก การปรับการเรียนรู้ก่อนเข้าระบบการเรียน เราคงไม่มองในเชิงวิชาการมากนัก แต่เน้นเรื่องเป้าหมายในอนาคต
 
     การแก้ปัญหา เรื่องพฤติกรรมโดย การพาไปเรียนดำน้ำ ศิลปะการดำน้ำ ช่วยแก้ปัญหาเรื่องความมั่นใจ การแก้ปัญหาสร้างความเรียนรู้ การพูด การตอบคำถาม
 
     ในเรื่องของวิชาการ เราได้นำเด็กไปเรียนที่สถานบันพัฒนาศักยภาพทางสมอง ที่โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ ระหว่างนั้นมีโอกาสได้รู้จักแลกเปลี่ยนความคิดกับครูผู้สอน ครูบอกว่า ถ้าคุณอาทำแบบนี้ และวิธีนี้ไม่ต้องมาเรียนก็ได้ คุณอาน่าจะทำได้ดีกว่า (คุณครูเรียกเราว่า คุณอา เพราะเราบอกว่าลูกหนูเป็นหลานของเราเอง) แต่คุณอาน่าจะไปเรียนครูการศึกษาพิเศษ ซึ่งคุณครูมีการอธิบายให้เราฟังอย่างคร่าวๆ เราถามคุณครูว่าแล้วคุณครูจบมาจากไหน คุณครูบอกว่าจบมาจาก ม.ศ.ว.ประสานมิตร เราฝากคุณครูหาข้อมูลในการเปิดรับสมัคร แล้วทุกอย่างก็สิ้นสุดลงเมื่อ เรารู้ว่าต้องจบปริญญาตรีมาก่อน (เราไม่จบปริญญาตรีจึงหมดโอกาสเรียน)

 
     ช่วงระหว่างที่พาลูกหนูไปเรียน เรามีโอกาสได้เห็นเด็กผิดปกติ หรือบกพร่องหลายประเภท บางคนมากับพ่อแม่ บางคนพ่อพามา บางคนแม่พามา บางคนมาทั้งพ่อ และ แม่ ปู่ยา ตาหรือยาย พร้อมพี่เลี้ยงอีก 1 หรือ 2 คน

 
     จากการพูดคุยสอบถาม ทุกคนครอบครัว พูดตรงกันว่าเป็นห่วง เมื่อเวลาเด็กโตขึ้น และ ความเป็นอยู่ในอนาคต หลายครอบครัวถูกปฏิเสธจากหลายโรงเรียน หลายครอบครัวรอเรียกตัวจากโรงเรียน ที่สอนเฉพาะเด็กผิดปกติ หลายคนบอกว่าเส้นสายไม่มี ต้องเอาชื่อเด็กไปเข้าคิวเพื่อรอเรียกตัว แต่เรากลับมองว่าเด็กๆเหล่านี้ ถ้าทำความเข้าใจ และ ค้นหาเราน่าจะเจอความพิเศษ ซึ่งความพิเศษอันนี้เป็นเสมือนพร หรือพรสวรรค์ที่เด็กปกติส่วนใหญ่ไม่มี บางคนอาจทำไม่ได้ด้วยซ้ำ เรามีความคิดว่าเราคงต้องทำอะไรบางอย่าง ในการที่จะช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ถ้าเรามีโอกาส

 
     เราเชื่อว่าในความบกพร่องจะเกิดการเรียนรู้แบบใหม่ เพราะศิลปะเป็นเรื่องธรรมชาติ และ อยู่ติดกับมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะแบบไหน ประเภทไหนก็ตาม ตามคำแนะนำของคุณครู เราก็ไม่ได้พาลูกหนูไปเรียนอีก

 
     ลูกหนูเรียนดำน้ำจนจบคอร์ส ได้ดำน้ำทะเลจริงๆ กับคุณครูและกลุ่มนักเรียนในคอร์สเดียวกัน แต่คอร์สที่สองน่าจะมีปัญหาเนื่องจากว่าต้องมีการคำนวณเรื่องระยะทาง ไมล์ทะเล เข็มทิศ การวางแผน และทักษะที่ยากขึ้น จึงเรียนได้แค่คอร์สเดียว
 

     การสอนให้ใช้ เครื่องคิดเลข ตลับเมตร กล้อง เพื่อช่วยในหลักของคณิตศาสตร์

     เวลานั่งรถเดินทางไปไหนด้วยกันลูกหนูชอบหลับ เราจึงสร้างกระบวนการเรียนรู้ เพื่อฝึกให้บันทึก และจดจำแทนการนอนหลับ โดยการเตรียมแบบทดสอบให้เขียน เช่น เริ่มออกจากบ้านเวลาอะไร ขับรถไปตามถนนอะไร ผ่านสถานที่สำคัญอะไรบ้าง ผ่านร้านเซเว่นอิเลฟเว่นกี่ร้าน รถติดไฟแดงที่สี่แยกหรือสามแยก และสี่แยกและสามแยกนั้นเรียกชื่อว่าอะไร ประทับใจอะไรบ้างระหว่างเดินทาง ถึงที่หมายเวลาอะไร มีอะไรอยากเล่าให้ฟัง ชอบหรือไม่ชอบ บันทึกด้วยการวาดรูปบ้าง

 
 

     อาและหลานเคยถูกไล่ออกจากซุปเปอร์มาเก็ตแห่งหนึ่ง เนื่องจากโดนกล่าวหาว่ามาทำข้อมูลการขายสินค้า แท้ที่จริงแล้วสำหรับเราเป็นการ เรียนคณิตศาสตร์จากสถานการณ์จริง เช่น การสร้างโจทย์ โดยบอกชื่อสินค้า ขนาด สี รส ชนิด และ อื่นๆ (จาก 50 ข้อ ทำได้แค่ 2 ข้อ ก็โดนไล่แล้ว ตลกและ สนุกมาก)

     เราฝึกให้เด็กพิมพ์ดีด โดยการเรียนจาก CD ที่บ้าน เพราะเนื่องจากว่า

  • ปัจจุบันเด็กต้องเติบโตควบคู่ไปกับเทคโนโลยี
  • ฝึกเด็กแต่ประโยคยาวๆ เพื่อช่วยในการบันทึก
  • ช่วยสอนภาษาไทย ในเรื่องตัวสะกด และ การใช้คำ เนื่องจากโปรแกรมของการพิมพ์ดีด เวลาพิมพ์ผิด หรือใช้ตัวสะกดผิด ข้อความที่ผิดก็จะปรากฏเส้น หรือแถบสีแดงเป็นสัญญาณบ่งบอก เด็กก็จะเริ่มเรียนรู้คิดวิเคราะห์ และแก้ปัญหาได้
     แต่การเรียนไม่สำเร็จ เนื่องจากโปรแกรมพิมพ์ดีด เป็นการฝึกให้กดตามแป้นอักษร เด็กเบื่อเร็ว และมองว่าบรรยากาศไม่ใช่โรงเรียน (แต่เราจะทำอย่างไรดี คงต้องการทางใหม่)
 
     เราพาลูกหนูไปโรงเรียนสอนพิมพ์ดีด อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับตัวลูกหนูให้คุณครูพิมพ์ดีดฟัง คุณครูบอกว่าอาจจะไม่ได้ผล เพราะคนปกติบางคนยังเรียนไม่จบเลย เนื่องจากไม่สนุกและเบื่อก่อน แต่เราคงต้องลองดู 2-3 วันแรก ยังไม่มีปัญหา แต่หลังจากนั้นเด็กก็เริ่มเบื่อ และเริ่มไม่สนุก เราบอกครูว่าขอลองให้เปิดโปรแกรมที่สามารถใช้ลูกเล่นกับตัวอักษร เช่น เปลี่ยนแบบ ขนาดของตัวอักษร ทำให้หนาบาง ตัวเล็กใหญ่ เอียงบ้างตรงบ้าง ก็ได้แค่ไม่กี่วัน ก็เริ่มเหมือนเดิม แต่เราสังเกตุเห็นว่าในการวางนิ้วตามแป้น ฟ ห ก ด่ า ส ว เด็กทำได้คล่องและถนัด เราจึงสร้างข้อความขึ้น คล้ายกับการเล่าเรื่อง ข้อความว่า หากวาดฟากฟ้าเก่าเก่า ดาวดวงห่างห่าง สว่างสว่าง หกดวง วาดด้วงหดหัวห้าวง (ยังมีต่ออีกแต่จำไม่ได้แล้ว) ให้คุณครูบอกให้เด็กพิมพ์ตาม ลืมบอกว่าใน แถวแป้น พิมพ์นอกจาก ฟ ห ก ด่ า ส ว แล้วยังได้ตัวอักษรอื่น ที่อยู่ในแถวเดียวกัน อีกไม่กี่ตัวตามมาด้วย

 

     ลูกหนูสนุกและ พัฒนาขึ้นไป ยังอักษรในแป้นต่อไป ปัจจุบันลูกหนูใช้พิมพ์ดีดในการทำบันทึกเรื่องราวต่างๆ และใช้พิมพ์ดีดในคอมพิวเตอร์ได้

 

     การเล่นกีฬาประเภทต่างๆ ยังสามารถช่วยใน เรื่องปัญหาร่างกาย ของลูกหนูได้อีกเช่นกัน ทำอะไรได้คล่องแคล่วกว่าเดิม ลูกหนูทำกิจกรรม การเรียนรู้กับเราได้ประมาณ 6 เดือน ก็ขอไปโรงเรียน ปัจจุบันลูกหนูเรียนอยู่โรงเรียน แห่งหนึ่งแถวชานเมืองระดับมัธยม หลังจากลูกหนูไปโรงเรียนแล้ว เรากับลูกหนูก็แทบไม่ได้พบกันอีก (พบกันน้อยมากจนถึงปัจจุบัน)

     หลังจากรู้จัก แวน ลูกหนู และเด็กพิเศษอีกหลายๆคน เรามีโอกาสเข้ารับการอบรม โครงการฝึกอบรมครูและบุคลากรทางการศึกษาพิเศษจาก โรงเรียนสาธิตแห่ง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา ได้รับความรู้จากหลายด้าน ทั้งครู หมอ พ่อแม่ และ บุคคลที่เกี่ยวข้อง จนกระทั่งเรากลายมาเป็นครูพิเศษที่นี่
 
     เราใช้ประโยชน์ของศิลปะในด้านต่างๆ ทั้งยากและ ง่ายมาใช้กับ เด็กพิเศษหลายๆคน และ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ศิลปะเป็นเครื่องมือสำหรับ การปรับค้นหา และพัฒนาส่วนที่บกพร่องให้ดีขึ้น ในขณะเดียวกัน เพื่อค้นหาศักยภาพที่แท้จริงในเด็กพิเศษแต่ละคน
 
     เด็กที่บกพร่องทางการเรียนรู้ หรือเด็กพิเศษสามารถเรียนรู้ และพัฒนาได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป ถ้าเราให้โอกาส สร้างกระบวนการ และ วิธีการเรียนรู้ เราก็จะค้นพบความพิเศษอย่างงดงาม

 

 

 

ศูนย์วิจัยการศึกษาเพื่อเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ
โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา
ตู้ ปณ.1050 ปณฝ.เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10900
โทรศัพท์ 02-9428800-9 ต่อ 701

 

 

จำนวนผู้เข้าชมตั้งแต่ 01/01/2552:

web statistics