bg
bg
bg
bg
bg
bg
bg
bg
bg
bg
bg
bg
 

 

ไปหน้า 1 2

การจัดการศึกษาสำหรับเด็กออทิสติก

  

รศ. ดร. ดารณี อุทัยรัตนกิจ

 

          ถึงแม้ว่าเรารู้จักโรคออทิซึมมามากกว่า 50 ปีแล้ว และ ได้มีผู้เสนอรูปแบบการบำบัดรักษ าและ จัดการศึกษาให้กับ เด็กออทิสติกมากมาย และมีรูปแบบที่แปลกๆ ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ผลการวิจัย ก็ยังไม่ยืนยันว่า รูปแบบใดเป็นรูปแบบที่ดีที่สุด สำหรับเด็กออทิสติกส่วนใหญ่ เด็กออทิสติกแต่ละคน อาจต้องการ โปรแกรมการศึกษาที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นสิ่งสำคัญใน การจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพให้กับ เด็กออทิสติก คือ ต้องรู้จักเด็กออทิสติก เป็นอย่างดี มีความเชื่อว่าเด็กทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ และ รู้ปัจจัยสำคัญของการจัดกิจกรรม การเรียนรู้ให้กับเด็กออทิสติก

 

ความหมายของออทิซึม

 

          ออทิซึม หมายถึง พัฒนาการที่ผิดปกติซึ่งมีจุดกำเนิดจากประสาทชีววิทยา และส่งผลกระทบต่อ ความสามารถของบุคคล ในการสื่อสารความคิด และความรู้สึก การใช้จินตนาการ การสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น การเปลี่ยนแปลง การรับสัมผัส และการรับรู้ความเป็นไปรอบตัว ไม่มีพฤติกรรมใด เพียงพฤติกรรมเดียว ที่บ่งบอกลักษณะของออทิซึม ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด และยังไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้

นักวิชาชีพที่มีประสบการณ์ ในการประเมินและวินิจฉัยเด็กเล็กที่เป็นออทิสติก สามารถวินิจฉัย ออทิซึมได้อย่างน่าเชื่อถือ เมื่อเด็กอายุได้ 2 ขวบ

 

          ถ้าเด็กได้รับการวินิจฉัย และเริ่มการบำบัดรักษาตั้งแต่ยังเล็ก จะยิ่งเป็นผลดีต่อเด็ก การให้การศึกษาเป็นรูปแบบ ของการบำบัดหลักที่สำคัญมาก และ ยิ่งให้การศึกษาได้เร็วเท่าไร ก็จะยิ่งได้ผลดีเร็วเท่านั้น

 

6

 

การให้ความช่วยเหลือแบบเข้มในระยะแรกเริ่ม

 

          ผลการวิจัยในปัจจุบัน ยืนยันอย่างชัดเจนว่าการให้การศึกษา แบบเข้มกับเด็กออทิสติก ตั้งแต่วัยเล็ก ช่วยให้เด็กออทิสติก มีพัฒนาการอย่างเด่นชัด ถ้าเด็กไม่ได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ยังเล็ก เด็กจะขาดโอกาส ที่จะเรียนรู้ทักษะที่ จำเป็นต่อการศึกษาเมื่อเขาโตขึ้น ดังนั้นการให้ความช่วยเหลือตั้งแต่เด็กยังเล็ก จึงเป็นองค์ประกอบ สำคัญของการบำบัดที่มีประสิทธิภาพ (Rapin, 1997; Strain, Wolery & Izeman, 1998) การให้การศึกษา และ การบำบัดรักษาที่เหมาะสม ตั้งแต่เด็กยังเล็ก

 

          ทำให้เด็กจำนวนหนึ่งพัฒนาขึ้นมาสู่ระดับเกือบจะปกติหรือปกติในหลายๆ ด้าน องค์ประกอบสำคัญของโปรแกรมที่มีประสิทธิภาพ คือ ความเข้มของ จำนวนชั่วโมง สอนโดยบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรม พ่อแม่มีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน และเริ่มต้นการช่วยเหลือตั้งแต่ก่อนวัยเรียน (Dawson & Osterling 1997; Harris & Handleman, 1994)

 

          การให้ความช่วยเหลือตั้งแต่เด็กยังเล็ก ไม่เพียงแต่เป็นการขยายเวลาในการบำบัดรักษาให้ยาวขึ้น แต่เป็นการช่วยให้ เด็กออทิสติก พัฒนาขึ้นในเชิงคุณภาพที่ไม่อาจทำได้ในภายหลัง (McGee, 1988)

 

5

 

ลักษณะสำคัญของเด็กออทิสติก

 

          เป็นที่ทราบกันดีว่า เด็กออทิสติกมีปัญหาในการสื่อสาร การสร้างสัมพันธภาพกับบุคคลอื่น และ การตอบสนอง อย่างเหมาะสมต่อสภาพแวดล้อม เด็กออทิสติกบางคนมีความสามารถสูง มีสติปัญญาดี และสามารถพูดสื่อสารได้ดี เด็กออทิสติกบางคน มีภาวะปัญญาอ่อน พูดไม่ได้ และมีพัฒนาการทางภาษาที่ล่าช้าอย่างรุนแรง บางคนปิดกั้นตนเองจากโลกภายนอก หมกมุ่นอยู่กับพฤติกรรมซ้ำๆ และมีรูปแบบการคิดที่ตายตัว ถึงแม้ว่า เด็กออทิสติกทุกคนไม่ได้มีอาการ และ ความบกพร่องเหมือนกัน แต่เด็กออทิสติกก็มี แนวโน้มที่จะมีปัญหาทางสังคม การสื่อสาร กลไกการเคลื่อนไหว การรับสัมผัส ที่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมในลักษณะที่คาดเดาได้

 

4

 

อาการทางสังคม

 

          เด็กทารกส่วนใหญ่ตอบสนองต่อสังคม โดยธรรมชาติ เด็กจะมองคนตั้งแต่แรกเกิด หันไปหาเสียงต่างๆ จับนิ้วมือ หรือ ยิ้ม

 

          ในทางตรงกันข้าม เด็กออทิสติกส่วนใหญ่เรียนรู้การให้ และ รับระหว่าง บุคคลได้ยากลำบากแม้ว่า ในระยะแรกเกิด 2-3 เดือน เด็กก็ไม่มีปฏิสัมพันธ์ และไม่สบตา ดูเหมือนว่าเด็กชอบอยู่คนเดียว เด็กอาจจะขัดขืน หรือ เฉยเมยเมื่อถูกกอดรัด เมื่อโตขึ้นเด็กไม่แสวงหาการปลอบโยนหรือ ไม่ตอบสนองต่อความโกรธ หรือความพอใจ เด็กออทิสติกไม่ค่อยร้องไห้ หรือหงุดหงิดเมื่อพ่อแม่ออกนอกบ้าน หรือแสดงความดีใจเมื่อพ่อแม่กลับมาหา พ่อแม่ที่คาดหวังจะสนุกกับการกอดรัด การสอน และเล่นกับลูกจะคับข้องใจมาก เพราะลูกออทิสติก ไม่ตอบสนองต่อกิจกรรมดังกล่าว

 

          เด็กออทิสติกใช้เวลานานกว่าเด็กปกติในการเรียนรู้ที่จะ แปลความหมายที่คนอื่นคิด หรือรู้สึก เด็กยาก ที่จะเข้าใจความหมายของสิ่งต่างๆ ที่แตกต่างกันเพียงเล็กน้อย เด็กออทิสติก แปลความหมายของสิ่งต่างๆ บนพื้นฐานของความประทับใจ ที่เป็นรูปธรรม หรือข้อมูลที่เห็นจริง มากกว่า การวิเคราะห์ หรือการแปลความหมายพฤติกรรม หรือข้อมูลที่เป็นนามธรรม ดังนั้น เด็กออทิสติกจึงมีปัญหาในการให้เหตุผลอ้างอิง และ การแก้ปัญหาที่ไม่ใช้ภาษา รวมทั้งมีปัญหาการทำความเข้าใจและตอบสนองต่อสิ่งชี้แนะทางสังคมและอารมณ์ สิ่งชี้แนะทางสังคมที่ละเอียดอ่อน เช่น การยิ้ม การขยิบตา หรือหน้าบึ้ง อาจมีความหมายน้อยมาก เด็กออทิสติกที่ไม่รับรู้สิ่งชี้แนะเหล่านี้ จะแปลความหมายคำพูดของครู “ มานี่ซิคะ ” เหมือนกัน ไม่ว่าครูจะพูดด้วยรอยยิ้ม และยื่นแขนเพื่อโอบกอด หรือครูหน้าบึ้งและยื่นมือจะไปตี การไม่สามารถ แปลความหมายภาษาท่าทาง และการแสดงสีหน้าของคนอื่น ทำให้เด็กออทิสติกงุนงง สับสน ในการปฏิสัมพันธ์กับ บุคคลแวดล้อม

 

          เด็กออทิสติกไม่ตระหนักถึงความคิดของคนอื่น ไม่เข้าใจ ความตั้งใจ ความคิดเห็น และความรู้สึกของบุคคลอื่น เด็กออทิสติกจึงมีปัญหา ในการมองสิ่งต่างๆ จากมุมมองของคนอื่น เขาไม่สามารถนำมุมมองของคนอื่นมาพิจารณา ไม่สามารถจินตนาการได้ว่า ถ้าเขาเป็นอีกคนหนึ่งเขาจะคิดหรือรู้สึกอย่างไร เด็กออทิสติกอาจไม่รับรู้ความเศร้า ความวิตกกังวลของคนอื่น ไม่ตอบสนอง หรือไม่แสดงความ เห็นอกเห็นใจ นั้นคือลักษณะ “ จิตบอด ” ตัวอย่างของ “ จิตบอด ” คือ ครูพูดบางอย่างกับนักเรียนทั้งห้อง เด็กออทิสติกจะเชื่อว่าครูพูดกับเขาคนเดียวเท่านั้น

 

          เด็ก 5 ขวบ ส่วนใหญ่สามารถเข้าใจได้ว่าผู้อื่น มีข้อมูล มีความรู้สึก มีเป้าหมายอื่นๆ ที่ไม่เหมือนเขา แต่ เด็กออทิสติก ไม่เข้าใจเช่นนั้น การขาดความสามารถดังกล่าว ทำให้เด็กออทิสติกไม่อาจคาดเดา หรือไม่เข้าใจการกระทำของผู้อื่น

 

          เด็กออทิสติกบางคน แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวทางกาย ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ทางสังคมยากลำบากมากขึ้น บางคนควบคุมตนเองไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย และมีสิ่งกระตุ้นมากเกินไป หรือ เมื่อโกรธและ คับข้องใจ บางครั้งเด็กจะทำลายข้าวของ ทำร้ายคนอื่น หรือทำร้ายตนเอง

 

3

 

ปัญหาทางภาษา

 

          เมื่ออายุ 3 ขวบ เด็กส่วนใหญ่มีพัฒนาการการเรียนรู้ภาษาตามลำดับ เริ่มตั้งแต่การเปล่งเสียงอ้อแอ้ เมื่ออายุ 1 ขวบ เด็กพูดได้เป็นคำ หันไปหาเมื่อถูกเรียกชื่อ ชี้เมื่อต้องการของเล่น หรือ แสดงชัดเจนว่า ไม่เอาเมื่อให้ในสิ่งที่เขาไม่ต้องการ เมื่ออายุ 2 ขวบ เด็กส่วนใหญ่เริ่มพูดประโยคสั้นๆ เช่น “ เห็นแมว ” “ ขอนมอีก ” และ ปฏิบัติตามคำสั่งง่ายๆ ได้

 

          ผลการวิจัยบ่งชี้ว่า ครึ่งหนึ่งของเด็กออทิสติกไม่พูดตลอดชีวิตของเขา เด็กทารกที่เมื่อโตขึ้นมีอาการของออทิซึม เปล่งเสียงอ้อแอ้ ในระหว่าง 6 เดือนแรกของชีวิตแล้วหยุดไป เด็กอาจจะเรียนรู้ การสื่อสารด้วยภาษาท่าทาง หรือ เครื่องมือสื่อสารพิเศษ แต่เขาจะไม่พูด เด็กบางคนอาจจะมีพัฒนาการทางภาษาช้า อาจจะพูดเมื่ออายุระหว่าง 5 ถึง 8 ขวบ

 

          เด็กออทิสติกที่พูดได้มักจะใช้ภาษาในลักษณะที่ผิดปกติ บางคน ไม่สามารถรวมคำ เข้าเป็นประโยคที่มี ความหมายได้ บางคนพูดเป็นคำๆ บางคนพูดคำหรือวลีเหมือนกัน ไม่ว่าอยู่ในสถานการณ์ใด

 

          เด็กออทิสติกบางคนพูดตามที่ได้ฟังคนอื่นพูดเท่านั้น ถ้าไม่ได้รับการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง การพูดซ้ำตาม ที่ได้ยินคนอื่นพูดอาจเป็นพัฒนาการทางภาษา เพียงสิ่งเดียวที่เด็กทำได้ สิ่งที่เด็กพูดซ้ำๆ อาจจะเป็นคำถามที่เพิ่งถามจบ หรือ การโฆษณาทางโทรทัศน์ หรือเด็กอาจจะตะโกนว่า “ ยืนอยู่ริมถนน ” ตลอดทั้งวัน ซึ่งเป็นคำพูดที่เด็ก ได้ยินพ่อพูดเมื่อสัปดาห์ก่อน ถึงแม้เด็กปกติจะพูดซ้ำในสิ่งที่เขาได้ยิน แต่การพูดซ้ำจะหายไปเมื่อเด็กอายุ 3 ขวบ

เด็กออทิสติกมีแนวโน้ม ที่จะสับสนการใช้คำสรรพนาม เด็กไม่เข้าใจคำ “ ของผม ” “ ผม ” “ คุณ ” เด็กเปลี่ยนความหมาย ขึ้นอยู่กับว่าใครพูด เมื่อครูของป้อมถาม “ ผมชื่ออะไร ” เด็กตอบ “ ผมชื่อป้อม ”

เด็กบางคนพูดวลีเดียวกันในสถานการณ์ต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น เด็กคนหนึ่งพูด “ วิ่งชนหุ่นแตก ” เป็นระยะๆ ตลอดวัน สิ่งที่เด็กพูดจะแปลกๆ แต่อาจมีความหมายที่เขาต้องการสื่อให้ผู้อื่นรู้ เด็กอีกคนพูด “ นั่งรถ ” เมื่อเขาต้องการออกนอกบ้าน ในความคิดของเด็ก เด็กเชื่อมโยง “ นั่งรถ ” กับการออกจากบ้าน เด็กอีกคนพูด “ นมกับยูโร ” เมื่อเขามีความพอใจ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าเด็กกำลังเชื่อมโยงความรู้สึกที่ดีในการดื่มนมกับกินขนมกับสิ่งอื่นๆ ที่ทำให้เขาพอใจ

 

          ภาษาท่าทางของเด็กออทิสติกก็ยากที่คนอื่นจะเข้าใจ คนส่วนใหญ่ยิ้ม เมื่อเราพูดถึงสิ่งที่สนุกสนาน ยักไหล่ หรือ สั่นศีรษะเมื่อเราตอบคำถามไม่ได้ แต่สำหรับเด็กออทิสติก การแสดงสีหน้า การเคลื่อนไหว และท่าทาง ไม่ค่อยจะสอดคล้อง กับสิ่งที่เขากำลังพูด ระดับเสียงที่เด็กออทิสติกพูดก็ไม่สะท้อนความรู้สึก เด็กออทิสติก มักจะพูดเสียงสูง เรียบ และในระดับเดียวกัน

 

           การที่เด็กออทิสติกไม่สามารถแสดงท่าทางที่มีความหมาย หรือใช้ภาษาเพื่อบอกความต้องการ ทำให้เขาไม่สามารถ บอกให้คนอื่นรู้ในสิ่งที่เขาต้องการ ผลก็คือ เขาจะกรีดร้อง หรือคว้าจับสิ่งที่เขาต้องการ Dr. Temple Gradin บุคคลออทิซึมที่เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาขาสัตวศาสตร์ ซึ่งเขียนหนังสือเกี่ยวกับ ความผิดปกติของตนเอง 2 เล่ม กล่าวว่า “ การไม่สามารถพูดได้เป็นความคับข้องใจที่ขมขื่นมาก การกรีดร้อง เป็นวิธีการเดียวที่ฉันใช้สื่อสาร ” บ่อยครั้ง Temple Gradin คิดให้เหตุผลกับตนเองว่า “ ฉันกำลังจะกรีดร้องเดี๋ยวนี้ เพราะฉันต้องการบอกให้คนอื่นรู้ว่าฉันไม่อยากทำสิ่งนั้น ” เด็กออทิสติกจะทำทุกอย่างที่เขาสามารถทำได้ เพื่อติดต่อกับคนอื่น จนกว่าเขาจะได้รับการสอน และฝึกให้ใช้วิธีการที่ดีกว่า และ เหมาะสมกว่า

 

2

 

พฤติกรรมซ้ำๆ

 

           แม้ว่าเด็กออทิสติกมีร่างกายที่แข็งแรงเหมือนเด็กปกติ แต่การเคลื่อนไหวที่ซ้ำๆ แปลกๆ ทำให้เขาดู ต่างไปจากเพื่อนนักเรียนปกติ เด็กบางคนอาจจะนั่งหมุนนิ้ว สะบัดมือ หรือนั่งโยกตัวได้เป็นชั่วโมงๆ เด็กหลายคนเดินเขย่งบนปลายเท้า หรือเอามือตบขาขณะเดิน

เด็กบางคนยืนตัวแข็งทื่อทันทีทันใดที่พบเห็นคนแปลกหน้า

 

          เด็กออทิสติก บางคนมีแนวโน้มที่จะทำสิ่งเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก เด็กอาจใช้เวลาเป็นชั่วโมงในการเรียงรถของเล่น หรือดินสอสี หรือวิ่งไปเปิด ปิดไฟตามห้องต่างๆ หรือ เปิด ปิดกุญแจตู้

เด็กออทิสติกบางคนยึดติดกับสิ่งของบางอย่าง ซึ่งอาจทำให้เกิดพฤติกรรม ที่เป็นอันตรายหรือ ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพของเด็ก เช่น เด็กคนหนึ่งก้มดมเท้าครูตลอดทั้งวัน หรือ วิ่งไถลตัวลงกับ พื้นถนน เพื่อดมเท้าคนแปลกหน้า พฤติกรรมบางอย่างอาจจะทำให้คนอื่นตกใจ ขบขัน หรืออับอาย เด็กหญิงคนหนึ่งชอบดูนาฬิกาข้อมือ ก็จะวิ่งเข้าไปจับแขนคนแปลกหน้าเพื่อดูนาฬิกาข้อมือของเขา

เด็กออทิสติกต้องการความคงที่ของสภาพแวดล้อม ซึ่งไม่อาจอธิบายได้ว่า เป็นเพราะเหตุใด เด็กหลายคนจะต้องรับประทานอาหารชนิดเดียวกัน เวลาเดียวกัน นั่งที่เดิม และเก้าอี้ตัวเดิมทุกวัน เด็กออทิสติกอาจจะหงุดหงิด ถ้ารูปภาพที่ติดบนฝาผนังเอียง หรือย้ายที่ หรือ อาจจะอาละวาดถ้ายาสีฟันหายไปจากช่องของใช้ การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ในกิจวัตรประจำวัน เช่น การเปลี่ยนเส้นทางไปโรงเรียน การเปลี่ยนตารางกิจกรรม อาจจะทำให้เด็กอารมณ์เสียได้มาก

 

           นักวิทยาศาสตร์พยายามค้นหาคำอธิบายสำหรับพฤติกรรมซ้ำๆ ของเด็กออทิสติก อาจเป็นไปได้ว่า ความเป็นระเบียบ มีลำดับขั้นตอน และความเหมือนเดิม อาจทำให้ประสาทรับความรู้สึกที่สับสนวุ่นวาย เกิดความคงที่ หรืออาจเป็นไปได้ว่า การให้ความสนใจและกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งซ้ำๆ ช่วยกันเขา ออกจากสิ่งกระตุ้นรอบตัว ที่ทำให้เขาเจ็บปวดหรือไม่สบาย อีกทฤษฎีหนึ่งอธิบายว่า พฤติกรรมซ้ำๆ เหล่านี้เชื่อมโยงกับ ประสาทรับความรู้สึกที่ทำงานได้ดี และไม่ดี เด็กที่ดมทุกอย่างที่มองเห็น อาจจะกำลังใช้ประสาทการดมกลิ่น สำรวจสิ่งแวดล้อมรอบตัว หรือในทางตรงกันข้าม เขาอาจจะกำลังกระตุ้นระบบการดมกลิ่นที่ไม่ค่อยจะทำงานก็ได้ การที่เด็กออทิสติกมีพฤติกรรมซ้ำๆ และหมกมุ่นในกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง ทำให้เขาขาดจินตนาการในการเล่น เด็กส่วนใหญ่ใช้จินตนาการในการเล่นสมมติได้ตั้งแต่อายุ 2 ขวบ เด็กนำสิ่งของอย่างหนึ่งไปใช้ประโยชน์อีกอย่างได้ เช่น เอาชามไปใช้เป็นหมวกได้ หรือเล่นสมมติว่าเขาเป็นคนอื่น เช่น เป็นแม่กำลังทำอาหารให้ครอบครัวของตุ๊กตา เด็กออทิสติกเล่นสมมติไม่เป็น แทนที่จะหวีผม แต่งตัวให้ตุ๊กตา หรือผลักให้รถวิ่ง เด็กอาจจะถือของเล่นไว้เฉยๆ ดม หรือหมุนเป็นชั่วโมงๆ

 

1
ไปหน้า 1 2 กลับสู่ด้านบน

 

 

 

 

ศูนย์วิจัยการศึกษาเพื่อเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ
โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา
ตู้ ปณ.1050 ปณฝ.เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10900
โทรศัพท์ 02-9428800-9 ต่อ 701

 

 

จำนวนผู้เข้าชมตั้งแต่ 01/01/2552:

web statistics