bg
bg
bg
bg
bg
bg
bg
bg
bg
bg
bg
bg
 

 

ไปหน้า 1 2

การรับความรู้สึก

 

          ถ้าการเรียนรู้ของเด็กถูกต้อง เด็กสามารถเรียนรู้จากสิ่งที่เขาเห็น รู้สึก หรือได้ยิน แต่ถ้าข้อมูลการรับสัมผัส หรือความรู้สึกไม่ถูกต้อง หรือสิ่งที่เด็กรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสต่างๆ ไม่ประสานเป็นภาพรวมได้ ประสบการณ์ต่างๆ ที่เด็กได้รับก็จะทำให้เด็กสับสน เด็กออทิสติกอาจจะมีปัญหาที่สัญญาณการรับสัมผัสที่ส่งไปสมอง หรือ อาจจะเป็นปัญหา ที่การบูรณาการสัญญาณต่างๆ ที่รับเข้ามา หรือมีปัญหาทั้งสองอย่าง

 

          ผลจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง เด็กออทิสติกมีประสาทสัมผัสที่ไวมากต่อเสียง รส กลิ่น และเนื้อผ้า เด็กบางคนรู้สึกไม่สบายตัวเพราะเนื้อผ้าที่สวมใส่ จนไม่เป็นอันเรียน เด็กบางคนไม่ชอบแม้จะถูกกอดเบาๆ เด็กหลายคนเอามือปิดหู และ กรีดร้องเมื่อได้ยินเสียงเครื่องดูดฝุ่น เสียงเครื่องบิน เสียงโทรศัพท์ หรือแม้แต่เสียงพัดลม Dr. Temple Gradin กล่าวว่า “ มันเหมือนกับใส่เครื่องช่วยฟังที่ตั้งระดับเสียงให้ดังที่สุด ซึ่งทำให้ได้ยินเสียงทุกชนิด ” เสียงทุกเสียงที่ได้ยินทำให้รู้สึกเจ็บหู Dr. Temple Gradin มักเลือกที่จะถอยหนี ไม่สนใจฟังจนดูเหมือนคนหูหนวก

 

          ดูเหมือนว่าสมองของเด็กออทิสติก ไม่สามารถสร้างสมดุลของประสาทรับสัมผัสอย่างเหมาะสม เด็กบางคนไม่รับรู้ความเย็น หรือความเจ็บปวดที่รุนแรง แต่มีปฏิกริยามากมายต่อสิ่งต่างๆ ที่เด็กปกติไม่รู้สึก เด็กออทิสติกอาจจะหกล้มแขนหักแล้วไม่ร้องไห้เลย เด็กอีกคนอาจจะโขกศีรษะกับผนังห้องโดยไม่รู้สึกเจ็บ แต่การรับสัมผัสเบาๆ อาจจะทำให้เขากรีดร้องได้

 

13

 

ความสามารถที่ไม่ปกติ

 

          เด็กออทิสติกบางคนแสดงความสามารถด้านต่างๆ ได้อย่างน่าทึ่ง ในวัยเด็กเล็ก ขณะที่เด็กคนอื่นๆ ทำได้แค่ขีดเส้นไปมา ไม่เป็นรูปร่าง เด็กออทิสติกสามารถวาดรายละเอียดภาพสามมิติที่เหมือนจริงได้ เด็กออทิสติกวัย 2-3 ขวบ มีทักษะการมองเห็นที่ดีมาก สามารถต่อชิ้นส่วนภาพที่ซับซ้อนได้ เด็กหลายคนอาจจะเริ่มอ่านได้ก่อนเริ่มพูด เด็กออทิสติกบางคนมีพัฒนาการของระบบประสาทสัมผัสส่วนการได้ยินดีมาก ทำให้เขาสามารถเล่นเครื่องดนตรีที่ไม่เคยมีคนสอน เล่นเพลงได้ถูกต้องหลังจากที่ได้ยินเพียงครั้งเดียว เด็กบางคนสามารถจำการแสดงในโทรทัศน์ได้ทั้งรายการ จำหน้าต่างๆ ในสมุดโทรศัพท์ หรือจำชื่อของไดโนเสาร์พันธุ์ต่างๆ ได้ทั้งเล่ม

 

12

 

การจัดการศึกษาให้เด็กออทิสติก

 

           ผลการศึกษาในปัจจุบัน บ่งชี้ว่า การจัดโปรแกรมการศึกษาบนหลักการของพฤติกรรม (Behavioral Intervention) เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับเด็กออทิสติก ระยะเริ่มแรก นักวิชาชีพนำเทคนิคของการวางเงื่อนไขการการะทำ (Operant conditioning) มาใช้เป็นหลักในการบำบัด และพบว่าเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพมาก ปัจจุบัน วิธีการทางความคิด (Cognitive) ช่วยให้เด็กออทิสติกเรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆ อย่างมีความหมายมากขึ้น และ นำไปสู่การถ่ายโยงการเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งทำให้การพัฒนาทักษะต่างๆ ยืดหยุ่นมากขึ้นทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม เป็นกรอบแนวคิดในการพัฒนาทักษะทางสังคมให้กับเด็ก ออทิสติกได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการจัดกิจกรรมที่มีโครงสร้างชัดเจนให้เด็กออทิสติกมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนนักเรียนปกติ

การบำบัดรักษาด้วยยา มีประโยชน์ในการลดพฤติกรรมขาดการยั้งคิด การไม่อยู่นิ่ง สมาธิสั้น และการย้ำคิดย้ำทำ โดยปกติแล้วยาไม่ได้มีประสิทธิภาพในการบำบัดความบกพร่องของการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และการสื่อสาร

 

11

 

การจัดการเรียนการสอน


ในการจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กออทิสติกให้มีประสิทธิภาพต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้

     1. แน่ใจว่าเด็กมีสุขภาพที่ดี รู้สึกสบาย ไม่หงุดหงิด อยู่ในสถานที่ปลอดภัย และเด็กมีความพอใจ

     2. จัดสภาพแวดล้อมที่มีโครงสร้างชัดเจน บอกความคาดหวังของครูอย่างชัดเจนเกี่ยวกับพฤติกรรมที่เหมาะสม และไม่เหมาะสม

     3. มีตารางกิจกรรมที่เป็นรูปภาพ หรือตัวหนังสือ ของแต่ละช่วงเวลา เพื่อให้แน่ใจว่า เด็กออทิสติกเข้าใจและรู้กิจกรรมที่ต้องทำแต่ละช่วงเวลา

     4. จัดหลักสูตร หรือแผนการศึกษา ตามลักษณะของเด็กแต่ละคน ไม่ใช่สำหรับเด็ก ออทิสติกโดยทั่วไป การวินิจฉัยว่าเด็กเป็นออทิสติกไม่ได้บ่งชี้ว่าจะสอนอะไร และสอนอย่างไร

     5. เน้นการพัฒนาทักษะที่เด็กจะต้องใช้ในการเรียน ที่บ้านและชุมชน ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

     6. วางแผนการเปลี่ยนกิจกรรม สถานที่ หรือประสบการณ์ บอกเด็กล่วงหน้า และเตรียมเด็กให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง

     7. สนับสนุนให้พ่อแม่ และสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวมีส่วนร่วมในกระบวนการประเมิน การวางแผนการศึกษา กิจกรรมการเรียนการสอน และการกำกับความก้าวหน้า ทั้งพ่อแม่และสมาชิกในครอบครัว มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับประวัติและลักษณะการเรียนรู้ ซึ่งจะช่วยให้วางแผนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

    10

 

           นักเรียนออทิสติก ก็คือนักเรียนคนหนึ่งที่เหมือนกับเด็กคนอื่นๆ มากกว่าความแตกต่าง แม้ว่าเด็กออทิสติก บางคนมีปัญหาในการเรียนรู้มาก แต่เขาก็สามารถเรียนรู้ได้ดี ถ้าจัดการเรียนการสอนที่เหมาะกับ ความต้องการจำเป็นของแต่ละคน

 

          การจัดการศึกษาให้กับเด็กออทิสติกต้องบูรณาการความรู้และทักษะทางด้านวิชาการ การสื่อสารทั้งการรับรู้ และการแสดงออก ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม กลไกการเคลื่อนไหว การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก การช่วยเหลือตนเอง และพฤติกรรมที่เหมาะสม โดยจัดเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีโครงสร้างชัดเจน และเน้นการให้เด็กได้เรียนรู้ในสถานการณ์จริง ดังนั้น นอกจากกิจกรรมการเรียนรู้ ที่บูรณาการทักษะดังกล่าวแล้ว เด็กออทิสติกควรได้รับบริการฝึกพูด กิจกรรมบำบัด กิจกรรมพัฒนาทักษะกลไกการเคลื่อนไหว ดนตรีบำบัด กิจกรรมพัฒนาทักษะทางสังคมและ อารมณ์รวมทั้งมีแผนการปรับพฤติกรรม เพิ่มเติมความต้องการจำเป็นของเด็กแต่ละคน

 

          จุดเน้นของกิจกรรม การเรียนการสอนจะเปลี่ยนไปตามวัยของเด็กในช่วงต้นของชีวิต คือ ปฐมวัย การเรียนการสอนเน้นที่การพัฒนาการสื่อสาร การปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และพฤติกรรมการปรับตัว เมื่อเด็กเข้าสู่ระดับประถมศึกษา โปรแกรมการศึกษาเน้นการสอนวิชาการเพิ่มขึ้นจากการสอนภาษา การสื่อสาร และทักษะการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ในระดับมัธยมศึกษา กิจกรรมการเรียนการสอน จะเน้นทั้งด้านวิชาการและการเตรียมตัวเพื่อการศึกษาต่อ หรือการเตรียมตัวเพื่อการทำงานและการเข้าสู่ชีวิตการเป็นผู้ใหญ่

 

9

 

          โปรแกรมการศึกษาสำหรับเด็กออทิสติกในช่วงปฐมวัยที่มีประสิทธิภาพ คือ โปรแกรมที่มีโครงสร้างชัดเจน สอนตัวต่อตัว หรือเป็นกลุ่มเล็ก เน้นการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ใช้วิธีการค้นหาจุดมุ่งหมายของพฤติกรรมเพื่อบ่งชี้พฤติกรรมที่เป็นปัญหา ให้การสอนแบบเข้ม และเป็นระบบ สอนพ่อแม่ให้มีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน ให้ความช่วยเหลือครอบครัว และมีการวางแผนการเปลี่ยนการเรียนจากระดับอนุบาลสู่ระดับประถมศึกษา

ในระดับประถมศึกษา กิจกรรมเรียนการสอนควรเน้นที่การส่งเสริมความสามารถเด่นของเด็ก และสนับสนุนการพัฒนาทักษะที่ด้อย ครูต้องปรับหลักสูตร และกิจกรรมการเรียนการสอนให้เด็กได้เรียนรู้ไปตามความก้าวหน้าทางวิชาการของแต่ละคน และต้องจัดกิจกรรมที่จะช่วยให้เด็กเรียนรู้การปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมทางสังคม และการสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น มีการเตรียมตัวนักเรียนในการเปลี่ยนระดับชั้นเรียนจากประถมศึกษาไปสู่มัธยมศึกษา

ในระดับมัธยมศึกษา นอกจากกิจกรรมการเรียนการสอนต่อเนื่องจากระดับประถมศึกษาแล้ว จะต้องเพิ่มเติมกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่การทำงาน การดำรงชีวิตในชุมชน การมีส่วนร่วมในชุมชน และกิจกรรมนันทนาการ

 

8

การจัดสภาพแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้

 

โครงสร้างทางกายภาพ

 

          เด็กออทิสติกเรียนรู้ได้ดีในสภาพแวดล้อมที่มีโครงสร้างชัดเจน ดังนั้นควรจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพ เพื่อกำหนดบริเวณการเรียนการสอนที่ชัดเจน แยกพื้นที่ใช้ในการทำงาน และการเล่นออกจากกัน บริเวณที่เด็กต้องทำงานอย่างอิสระควรมีสิ่งรบกวนน้อยที่สุด การจัดศูนย์การเรียนรู้ต้องออกแบบเพื่อกิจกรรมเฉพาะอย่าง แทนที่จะใช้เพื่อการเรียนรู้หลายๆ อย่างในบริเวณเดียวกัน เด็กออทิสติกจะสับสนและหงุดหงิด ถ้าครูใช้โต๊ะตัวเดียวกันเพื่อทั้งการเรียน การรับประทานอาหาร และการทำงานศิลปะ การแบ่งบริเวณการเรียนที่ชัดเจนจะเอื้อให้เด็กเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ และเอื้อต่อการเปลี่ยนกิจกรรม และการช่วยเหลือเด็ก

7
6

การสื่อสาร

 

          เด็กออทิสติกมีปัญหามากในการทำความเข้าใจ และการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร ดังนั้นต้องจัดสภาพแวดล้อมในห้องเรียนให้เด็กออทิสติกได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ กิจกรรม และความคาดหวังในลักษณะที่เด็กเข้าใจได้ง่าย

ห้องเรียนของเด็กออทิสติก ต้องมีตารางกิจกรรมประจำวันที่เด็กมองเห็นได้ชัดเจน และมีความหมายที่เด็กเข้าใจได้ ซึ่งอาจจะนำเสนอด้วยของจริง รูปภาพ รูปวาดลายเส้น หรือตัวหนังสือ ตารางกิจกรรมประจำวันบอกให้นักเรียนทราบว่า วันนี้จะทำกิจกรรมอะไรบ้าง เรียงตามลำดับ ตั้งแต่เช้าจนถึงเลิกเรียน นักเรียนจะรู้การเริ่มต้นและเสร็จสิ้นของแต่ละ กิจกรรมอย่างชัดเจน ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนจัดระบบประจำวันของเขา ตารางกิจกรรม จะช่วยให้การเปลี่ยนกิจกรรมเป็นไปอย่างราบรื่น ลดความวิตกกังวลของเด็กเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงกิจกรรม และช่วยให้นักเรียนกำกับความก้าวหน้าของตนเองตลอดวัน นักเรียนรู้และคาดหวังได้ว่า เมื่อไรงานเสร็จ และเขามีทางเลือกอะไรบ้างเมื่อทำงานเสร็จ ในกรณีที่นักเรียนไม่สนใจ และไม่ร่วมมือ ครูจะบอกให้นักเรียนตรวจดูตารางกิจกรรมของเขา ซึ่งโดยปกติแล้วนักเรียนจะร่วมมือ และทำตามที่ได้ตกลงกันได้

 

           นอกจากการช่วยให้เด็กเข้าใจความคาดหวังของการเรียนรู้ เด็กออทิสติกจำนวนมาก ต้องการความช่วยเหลือในการสื่อสารกับผู้อื่น ในขณะที่เด็กออทิสติกส่วนใหญ่เรียนรู้การใช้ภาษาพูดเพื่อการสื่อสาร ยังมีเด็กจำนวนหนึ่งที่อาจต้องการระบบการสื่อสารด้วยรูปภาพ ภาษามือ หรือเครื่องมือสื่อสารเพิ่มเติม

 

          กิจกรรม และอุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนรู้ต้องน่าสนใจ และจูงใจในการเรียน เด็กออทิสติกเรียนรู้ได้ดีในสถานการณ์จริง ได้ลงมือกระทำ ครูต้องสังเกตเด็กในหลายๆ กิจกรรมและสัมภาษณ์สมาชิกในครอบครัว เพื่อค้นหากิจกรรมหรือสิ่งของที่จูงใจเด็ก ครูอาจนำกิจกรรมหรือสิ่งของเหล่านี้มาใช้ในการสอน หรือเป็นตัวเสริมแรง การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนต้องให้โอกาสเด็กเลือก ผลการวิจัยบ่งชี้ว่า ถ้าเด็กมีโอกาสเลือกกิจกรรม สถานที่ หรืออุปกรณ์ในการทำงาน เด็กมีแนวโน้มที่จะร่วมกิจกรรมมากขึ้น การให้แรงเสริมที่มีความหมายบ่อยๆ สม่ำเสมอ มีความสำคัญต่อการจูงใจให้เด็กร่วมกิจกรรมการเรียนการสอน

 

5

 

รูปแบบการสอน


  • การแบ่งงานออกเป็นงานย่อยอย่างชัดเจน (Discrete trial training)

              เป็นรูปแบบการสอนที่มีประสิทธิภาพในการสอนทักษะเฉพาะอย่างแบบเข้ม เป็นการสอนทักษะต่างๆ ในสถานการณ์ที่มีโครงสร้างชัดเจน หนึ่งต่อหนึ่ง ให้คำสอนชัดเจน สั้นและรัดกุม ให้ความช่วยเหลือ (ถ้าจำเป็น) และให้รางวัลทันทีเมื่อเด็กทำงานสำเร็จแต่ละงานย่อย การสอนแต่ละช่วงสอนทีละหนึ่งพฤติกรรมย่อยติดต่อกัน โดยหยุดพักเพียงระยะเวลาสั้นๆ ระหว่างพฤติกรรม จนสามารถพัฒนาเป็นองค์รวม

     

    4

     

  • การสอนโดยกิจกรรม (Activity-based instruction)

               การสอนโดยกิจกรรม เป็นการสอนทักษะเป้าหมายด้วยการทำกิจกรรม และ บูรณาการเข้ากับ กิจวัตรประจำวันอย่างสม่ำเสมอ ครูต้องวางแผนการดำเนินกิจกรรมอย่างเป็นระบบ มีขั้นตอนอย่างชัดเจน สอนทักษะต่างๆ ในกิจกรรมให้สอดคล้องกัน ในบริบททั้งหมดที่มีความหมายต่อเด็ก เช่น โอกาสที่เด็กจะนำทักษะไปใช้ในสถานการณ์อื่นๆ นอกห้องเรียน เมื่อเด็กมาโรงเรียน กิจวัตรประจำวันอาจจะประกอบด้วย เอากระเป๋าวาง เช็ดโต๊ะ ส่งการบ้าน เข้าแถวเคารพธงชาติ สวดมนต์ และเริ่มเรียน ถ้าครูกำลังสอนทักษะการทักทาย การขอความช่วยเหลือและการปฏิบัติตามตารางกิจกรรม ครูสามารถสอนทักษะดังกล่าวได้โดยการจัดทักษะเข้าไว้ในกิจกรรมการเรียนรู้ตลอดทั้งวัน และการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ซึ่งจะทำให้เด็กได้รับการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง และเพียงพอ

     

              เด็กออทิสติก อาจเรียนรู้ได้ดี และ มีประสิทธิภาพในห้องเรียนขนาดเล็ก และในห้องเรียนร่วม เด็กปกติช่วยสนับสนุนการเรียนการสอนได้มาก การเรียนรู้แบบร่วมมือเป็นรูปแบบของการให้เด็กปกติเรียนร่วมกับเด็กที่แตกต่างจากเขา ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กออทิสติก

     

    3

  • การสนับสนุนพฤติกรรมที่พึงประสงค์ (Positive Behavioral Support)

              การจัดทำแผนการศึกษารายบุคคลของเด็กออทิสติก จำเป็นต้องมี แผนการสนับสนุนพฤติกรรม ที่พึงประสงค์เป็นส่วนหนึ่งด้วย เด็กออทิสติกแสดงพฤติกรรมที่ท้าทายหลายรูปแบบ บางคนไม่สนใจใคร เงียบเฉย ไม่ตอบสนอง แต่บางคนก็แสดงพฤติกรรมรบกวน หรือทำลายได้ ในอดีตวิธีการที่ใช้ในการตอบสนองต่อพฤติกรรมดังกล่าว คือ การลงโทษ หรือการแยกเด็กออกจากห้องเรียน เพื่อหยุดพฤติกรรมที่เป็นปัญหา ปัจจุบันผลการวิจัยยืนยันว่า วิธีการทางบวกในการสนับสนุนพฤติกรรมเป็นวิธีการที่สร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาพฤติกรรม รวมทั้งเป็นวิธีการที่ตระหนักถึงสิทธิของเด็กทุกคนที่จะได้รับการปฏิบัติจากคนอื่นด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และสิทธิในโอกาสทางการศึกษา

     

              ในการจัดทำแผนการสนับสนุนพฤติกรรมทางบวก จะต้องมีการประเมินจุดมุ่งหมายของพฤติกรรม และเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเกิด หรือไม่เกิดพฤติกรรม ในแผนการสนับสนุนพฤติกรรมที่พึงประสงค์ จะรวมกระบวนการสอนพฤติกรรมที่พึงประสงค์ หรือสอนทางเลือกอื่นๆ แทนที่พฤติกรรมที่เป็นปัญหา รวมทั้งการปรับสภาพแวดล้อม และกิจกรรมการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาพฤติกรรม ครูอาจจะต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตร วิธีการสอน กิจกรรม สภาพแวดล้อมทางกายภาพ และสภาพแวดล้อมทางสังคม หรือสิ่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมที่เป็นปัญหา การสนับสนุนพฤติกรรมที่พึงประสงค์ ช่วยป้องกันการเกิดปัญหา และช่วยสอนให้เด็กได้เรียนรู้วิธีการที่มีประสิทธิภาพ และเป็นที่ยอมรับในการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลแวดล้อม

     

    2

     

    บทสรุป

              เด็กออทิสติกทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ ถ้าได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่วัยเด็กเล็ก ได้รับโอกาสทางการศึกษาด้วยโปรแกรมการศึกษาที่เหมาะสมกับลักษณะของออทิซึม ภายในสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้ที่มั่นคง ปลอดภัย ด้วยความร่วมมือร่วมใจอย่างมุ่งมั่นของบุคลากรทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยมีครู หมอ พ่อแม่ เป็นหลักสำคัญ

    1

  • ไปหน้า 1 2 กลับสู่ด้านบน

     

     

     

     

    ศูนย์วิจัยการศึกษาเพื่อเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ
    โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา
    ตู้ ปณ.1050 ปณฝ.เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10900
    โทรศัพท์ 02-9428800-9 ต่อ 701

     

     

    จำนวนผู้เข้าชมตั้งแต่ 01/01/2552:

    web statistics